แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาจ้างข้อ1ระบุว่าโจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยและบริษัทในเครือโดยจะทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติและข้อ2ระบุให้โจทก์รับค่าจ้างเดือนละ8,160บาทเป็นการเหมาจ่ายและเงินพิเศษอื่นๆ(ค่าครองชีพค่าพาหนะและค่าอาหาร)อีกเดือนละ440บาทครั้งสุดท้ายโจทก์ได้รับการปรับค่าจ้างเป็นเดือนละ9,350บาทแม้สัญญาจ้างดังกล่าวจะระบุว่าเป็นการเหมาจ่ายแต่ก็มิได้ระบุให้เหมาจ่ายรวมค่าล่วงเวลาเข้าด้วยกับค่าจ้างหากมีการรวมค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายเข้ากับค่าจ้างผลจะเป็นว่าไม่อาจทราบได้ว่าค่าจ้างปกติที่จะนำไปเป็นฐานคำนวณค่าล่วงเวลานั้นต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำหรือไม่และค่าล่วงเวลาที่ตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่เพราะการกำหนดค่าล่วงเวลาต้องคำนวณจากค่าจ้างในเวลาทำงานปกติตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ3,11,29,34และ42เมื่อสัญญาจ้างมิได้กำหนดอัตราค่าจ้างปกติไว้ย่อมทำให้ไม่อาจคำนวณค่าล่วงเวลาได้การรวมค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายไปกับค่าจ้างจึงเป็นการเอาเปรียบลูกจ้างสัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา150 นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาวันละ5ชั่วโมงนับแต่แรกเข้าทำงานจนถึงวันฟ้องและนายจ้างประกอบกิจการผลิตสายไฟฟ้าซึ่งเป็นงานอุตสาหกรรมตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ3วรรคสอง(1)(ข)ลูกจ้างย่อมมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากการทำงานล่วงเวลาดังกล่าวอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีตามข้อ31วรรคหนึ่งแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2535 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ9,350 บาท สัปดาห์หนึ่งทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงเสาร์ระหว่างเวลา6 นาฬิกา ถึง 19 นาฬิกา ตามลักษณะและประเภทงานของโจทก์เป็นงานขนส่ง ซึ่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานกำหนดเวลาทำงานปกติของลูกจ้างไว้ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง การที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ทำงานดังกล่าวจึงเกินกำหนดเวลาทำงานปกติไปวันละ 5 ชั่วโมง จำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์วันละ5 ชั่วโมงนับตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานถึงวันฟ้องเป็นเงิน235,626.82 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่จ่ายให้ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาจำนวน 235,626.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาวันละ 194.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถรับส่งพนักงาน ตอนเช้าเข้ารับพนักงานจากสำนักงานใหญ่ไปส่งที่โรงงานก่อนเวลา 8 นาฬิกา และตอนเย็นรับพนักงานจากโรงงานกลับไปส่งที่สำนักงานใหญ่ เวลา 17.05 นาฬิกาโดยตกลงเหมาจ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลารวมกันไปในตัวโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลาอีก และโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกร้องค่าล่วงเวลาตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานวันที่ 28 กันยายน 2535 จนถึงวันฟ้องวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 เกิน 2 ปี ฟ้องจึงขาดอายุความโจทก์คำนวณค่าล่วงเวลาไม่ถูกต้อง หากจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาก็ไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถ ได้รับค่าตอบแทนการทำงานครั้งสุดท้ายเดือนละ 9,350 บาท เอกสารหมาย ล.1ถึง ล.3 จ.1 และ จ.2 เป็นเอกสารถูกต้อง หากโจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้ว โจทก์ขอสละสิทธิค่าล่วงเวลาย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2537 ขึ้นไป การคำนวณค่าล่วงเวลาตามเอกสารหมาย ล.3 ถูกต้องและสำหรับค่าล่วงเวลาตั้งแต่วันที่31 มีนาคม 2537 ถึงวันฟ้อง (วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539) มีจำนวน113,517.75 บาท จำเลยขอสละข้อต่อสู้เรื่องอายุความคู่ความแถลงไม่สืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยประกอบกิจการผลิตสายไฟฟ้า โจทก์เข้าทำงานตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกาและเลิกงานเวลา 19 นาฬิกา สัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.1 ที่โจทก์ได้ทำไว้กับจำเลยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2537 กำหนดเงินเดือนของโจทก์สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากเงินค่าจ้างส่วนที่เกินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงเป็นการเพียงพอแก่การจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาวันละ 5 ชั่วโมง ถือได้ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงเหมาจ่ายค่าจ้างรวมกับค่าล่วงเวลาเข้าด้วยกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาจากจำเลยอีกพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงเหมาจ่ายค่าจ้างเข้ากับค่าล่วงเวลาหรือไม่สัญญาจ้างลงวันที่ 1 มิถุนายน 2537 เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 1 ระบุว่าโจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยและบริษัทในเครือ โดยจะทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติ และข้อ 2 ระบุให้โจทก์รับค่าจ้างเดือนละ8,160 บาท เป็นการเหมาจ่ายและเงินพิเศษอื่น ๆ (ค่าครองชีพค่าพาหนะ และค่าอาหาร) อีกเดือนละ 440 บาท ครั้งสุดท้ายโจทก์ได้รับการปรับค่าจ้างเป็นเดือนละ 9,350 บาท เห็นว่า ตามสัญญาจ้างดังกล่าวแม้จะระบุว่าเป็นการเหมาจ่าย แต่ก็มิได้ระบุให้เหมาจ่ายรวมค่าล่วงเวลาเข้าด้วยกับค่าจ้าง อย่างไรก็ดีหากมีการรวมค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายเข้ากับค่าจ้างดังข้อต่อสู้ของจำเลย ผลจะเป็นว่าไม่อาจทราบได้ว่าค่าจ้างปกติที่จะนำไปเป็นฐานคำนวณค่าล่วงเวลานั้นต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ และค่าล่วงเวลาที่ตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะการกำหนดค่าล่วงเวลาต้องคำนวณจากค่าจ้างในเวลาทำงานปกติตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 3, 11, 29, 34 และ 42 เมื่อสัญญาจ้างมิได้กำหนดอัตราค่าจ้างปกติไว้ย่อมทำให้ไม่อาจคำนวณค่าล่วงเวลาได้ การรวมค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายไปกับค่าจ้างจึงเป็นการเอาเปรียบลูกจ้างสัญญาจ้าง ตามเอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 5630/2538 ระหว่าง นายฉลวย เรืองวงษ์โจทก์ บริษัทบาบิช (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยดังนั้น เมื่อจำเลยให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาวันละ 5 ชั่วโมงนับแต่แรกเข้าทำงานจนถึงวันฟ้องและจำเลยประกอบกิจการผลิตสายไฟฟ้าซึ่งเป็นงานอุตสาหกรรม ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 3 วรรคสอง (1)(ข) โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากการทำงานล่วงเวลาดังกล่าว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์อีกส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าจ้างเป็นเงิน113,517.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตามข้อ 31 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์ 113,517.75 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ