แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ศึกษาจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตร การศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2530 เมื่อจบหลักสูตรแล้วจะมีศักดิ์และสิทธิเท่ากับผู้ที่จบจาก สถานศึกษาในระบบโรงเรียนทุกประการ ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้าน จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดยโสธร จึงถือได้ว่าผู้คัดค้านได้เข้าเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาอื่นในประเทศตามกำหนดเวลามาโดยตลอดจนมีความรู้ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่าหรือรับรองว่าเทียบได้ไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการจึงมีคุณสมบัติครบถ้วนเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522มาตรา 19(1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2535 มาตรา 12
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดยโสธรว่า จังหวัดยโสธรแบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 2 เขต มีจำนวนผู้แทนราษฎรได้ 4 คน ผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 ผู้คัดค้านได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร การเลือกตั้งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 19(1)(2) ที่แก้ไขแล้ว คือผู้คัดค้านมีบิดาเป็นคนต่างด้าวและผู้คัดค้านไม่ได้เข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาอื่นในประเทศตามกำหนดเวลามาโดยตลอด จึงถือว่าผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งว่านายประยุทธ นิจพานิชย์ ผู้คัดค้านได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 จังหวัดยโสธรโดยมิชอบ และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 1 จังหวัดยโสธร เฉพาะในส่วนของนายประยุทธ นิจพานิชย์ ผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2522 ที่แก้ไขแล้ว กล่าวคือ ผู้คัดค้านจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน หลังจากนั้นผู้คัดค้านได้ศึกษาต่อจนจบหลักสูตรอนุปริญญาจากวิทยาลัยครูสุรินทร์จึงไม่มีเหตุที่จะเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งของผู้คัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลจังหวัดยโสธรพิจารณาคำร้อง คำคัดค้านและคำแถลงรับของคู่ความซึ่งต่างไม่ติดใจสืบพยานแล้วทำความเห็นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาว่า ผู้คัดค้านมีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 19(1) ควรยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม ให้ผู้ร้องทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสามและผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 ผู้คัดค้านได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดยโสธร ผู้คัดค้านเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าวและจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดยโสธรเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2533 และจบการศึกษาตามหลักสูตรอนุปริญญาจากวิทยาลัยครูสุรินทร์ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2537 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้คัดค้านมีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 19(1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2534 มาตรา 12 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว มาตรา 19(1) กำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าวจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ ต้องเป็นผู้ได้เข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนตามกำหนดเวลาและสอบไล่ได้ไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือตามแผนการศึกษาของชาติ หรือได้เข้าเรียนอยู่ในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาอื่นในประเทศตามกำหนดเวลามาโดยตลอดไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกระบบโรงเรียนจนมีความรู้ที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่าหรือรับรองว่าเทียบเท่าได้ไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือตามแผนการศึกษาของชาติ ศาลฎีกาเห็นว่าผู้คัดค้านจบการศึกษาจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนซึ่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2530 ตามเอกสารท้ายคำคัดค้านหมายเลข 2 มีวิธีการเรียนคือเรียนแบบชั้นเรียนการเรียนทางไกล และการเรียนด้วยตนเอง ซึ่งการเรียนแบบชั้นเรียนนักศึกษาต้องเข้าเรียนเช่นเดียวกับนักเรียนภาคปกติหากกำหนดเวลาเรียนไม่ครบ นักศึกษาจะไม่มีสิทธิเข้าสอบ ส่วนการเรียนทางไกลและการเรียนด้วยตนเองนักศึกษาไม่ต้องเข้าไปเรียนในชั้นเรียนเพียงแต่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมพบกลุ่มตามกำหนดเวลาจึงมีสิทธิเข้าสอบนักศึกษาที่จบหลักสูตรได้ต้องสอบได้หมวดวิชาบังคับ 5 หมวดวิชาและวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 3 หมวดวิชา ต้องผ่านเกณฑ์การพบกลุ่มตามระเบียบ เมื่อจบหลักสูตรแล้วจะมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากับผู้ที่จบจากสถานศึกษาในระบบโรงเรียนทุกประการ ดังนั้นเมื่อผู้คัดค้านจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดยโสธร จึงถือได้ว่าผู้คัดค้านได้เข้าเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาอื่นในประเทศตามกำหนดเวลามาโดยตลอดจนมีความรู้ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่าหรือรับรองว่าเทียบได้ไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้คัดค้านจึงมีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 19(1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2535 มาตรา 12 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยถึงปัญหาที่ผู้คัดค้านจบการศึกษาตามหลักสูตรอนุปริญญาจากวิทยาลัยครูสุรินทร์จะถือว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามมาตรา 19(1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกหรือไม่”
มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม ให้ผู้ร้องทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านโดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท