แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้ประพันธ์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำนวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ได้ 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี ดังนี้ แม้จำเลยร่วมที่ 2 จะมีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ที่ได้ดัดแปลงขึ้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 9 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่ทำสัญญาก็ตาม แต่สิทธิในลิขสิทธิ์สำหรับงานภาพยนตร์ดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 มีจำกัดอยู่เพียงสิทธิในการโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยการฉายตามโรงภาพยนตร์ภายใน 7 ปีตามสัญญาเท่านั้น จำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลง นำออกโฆษณา หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีอื่น ดังนี้ การที่จำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ที่ตนสร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวีดีโอเทปในรูปของงานโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนตร์แล้วนำวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายและให้เช่า จึงเป็นการทำซ้ำงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งมีอยู่ในภาพยนตร์นั้นโดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตามสัญญา และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24 (1) หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) ส่วนวิดีโอเทปที่จำเลยร่วมที่ 2 ทำซ้ำขึ้นแล้วนำออกจำหน่ายและให้เช่านั้นเป็นสิ่งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าวิดีโอเทปนั้นตนได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ยังนำออกจำหน่ายให้เช่าเพื่อหากำไร การกระทำในส่วนนี้ของจำเลยร่วมที่ 2 ยังเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27 (1) หรือ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) อีกด้วย
จำเลยร่วมที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการซื้อขายลิขสิทธิ์ทั้งในรูปของภาพยนตร์หรือภาพยนตร์วิดีโอเทปเพื่อนำมาผลิตหรือบันทึกเป็นวิดีโอเทปและนำออกขาย ให้เช่า หรือให้ใช้สิทธิแก่บุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ การเข้าทำสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์นั้นจึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบถึงสิทธิของคู่สัญญาเสียก่อนว่ามีสิทธิอนุญาตหรือไม่เพียงใดเพื่อป้องกันปัญหาที่จำเลยร่วมที่ 1 อาจต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้นได้ การที่จำเลยร่วมที่ 1 เข้าทำสัญญากับจำเลยร่วมที่ 2 โดยมิได้ทำการตรวจสอบถึงสิทธิดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ก่อน เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิตามสัญญาที่จะอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งมีงานวรรณกรรม นวนิยายเรื่องดังกล่าวอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยไปทำซ้ำโดยบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่าย จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจอ้างว่าตนมีสิทธิตามสัญญาที่จะทำซ้ำงานภาพยนตร์นั้นเป็นวิดีโอเทปภาพยนตร์และนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายได้ เมื่อจำเลยร่วมที่ 1 ทำซ้ำงานภาพยนตร์นั้นซึ่งมีงานวรรณกรรมของโจทก์รวมอยู่ด้วยโดยทำเป็นวิดีโอเทปและนำม้วนวิดีโอเทปที่ทำขึ้นนั้นออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24 (1) และมาตรา 27 (1) หรือตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) และมาตรา 31 (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทเอส.ที. วีดีโอ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และจำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายสุรินทร์เข้ามาเป็นจำเลยร่วมที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้คนละ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 100,000 บาท จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ใช้เงินจำนวน 100,000 บาท จำเลยร่วมที่ 1 ใช้เงินจำนวน 200,000 บาท และจำเลยร่วมที่ 2 ใช้เงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนตามลำดับนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยร่วมที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ได้อนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำนวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ได้ 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี ตามหนังสือสัญญาอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 จำเลยร่วมที่ 2 ได้นำนวนิยายเรื่องดังกล่าวไปสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ จากนั้นจำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปบันทึกเป็นวิดีโอเทป แล้วนำวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายและให้เช่า นอกจากนี้จำเลยร่วมที่ 2 ได้ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายตามหนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทยเพื่อบันทึกเป็นเทปบันทึกภาพและเสียง (วิดีโอเทป) ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2537 (ที่ถูกเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ) ต่อมาจำเลยร่วมที่ 1 ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 นำม้วนมาสเตอร์เทปภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไปผลิตเป็นวิดีโอเทปออกจำหน่าย ตามหนังสือสัญญาการขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไทย ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2537 (ที่ถูกเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ) แล้วจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 กรรมการผู้จัดการได้ผลิตวิดีโอเทปภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวออกจำหน่าย ตามสัญญาอนุญาตให้สร้างภาพยนตร์ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 ซึ่งเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ว่า โจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 2 นำนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ได้ 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี นั้น แม้จำเลยร่วมที่ 2 จะสร้างภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดังกล่าว อันเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์มาดัดแปลงและจำเลยร่วมที่ 2 มีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ที่ได้ดัดแปลงขึ้นตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 9 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ทำสัญญาก็ตาม แต่สิทธิในลิขสิทธิ์สำหรับงานภาพยนตร์ดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ที่ได้มาตามสัญญามีจำกัดอยู่เพียงสิทธิในการโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยการฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี เท่านั้น จำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลง นำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพยนตร์นั้นด้วยวิธีอื่น ไม่อาจให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้น หรือให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์นั้นแก่ผู้อื่นได้ ตลอดจนไม่อาจอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลง นำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์นั้น หรือไม่อาจอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้นตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 13 และ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2538) มาตรา 15 ได้ ดังนี้ การที่จำเลยร่วมที่ 2 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ที่ตนสร้างขึ้นไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปในรูปของงานโสตทัศนวัสดุหรือภาพยนตร์แล้วนำวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายและให้เช่า จึงเป็นการทำซ้ำงานวรรณกรรม นวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งมีอยู่ในภาพยนตร์นั้นโดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตามสัญญา และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้น การกระทำดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24 (1) หรือ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) ส่วนวิดีโอเทปที่จำเลยร่วมที่ 2 ทำซ้ำขึ้นแล้วนำออกจำหน่ายและให้เช่านั้นเป็นสิ่งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าวิดีโอเทปนั้นตนได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ยังนำออกจำหน่ายและให้เช่าเพื่อหากำไร การกระทำในส่วนนี้ของจำเลยร่วมที่ 2 ยังเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27 (1) หรือ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 (1) อีกด้วย
สำหรับจำเลยร่วมที่ 1 เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยร่วมที่ 2 มีสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์ เพียงนำนวนิยายนั้นไปสร้างเป็นภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร ได้ 1 ครั้ง เพื่อจัดฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศภายใน 7 ปี นับแต่วันทำสัญญาดังกล่าวเท่านั้น จำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธินำภาพยนตร์ที่ได้ดัดแปลงขึ้นแม้เป็นลิขสิทธิ์ของจำเลยร่วมที่ 2 ไปทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยวิธีอื่น ดังนี้ จำเลยร่วมที่ 2 จึงไม่มีสิทธินำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวที่ตนสร้างขึ้นไปทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 ทำซ้ำโดยบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่าย บริษัทจำเลยร่วมที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการซื้อขายลิขสิทธิ์ทั้งในรูปของภาพยนตร์หรือภาพยนตร์วิดีโอเทปเพื่อนำมาผลิตหรือบันทึกเป็นวิดีโอเทปและนำออกขาย ให้เช่า หรือให้ใช้สิทธิแก่บุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศด้วย บริษัทจำเลยร่วมที่ 1 ผู้ประกอบกิจการดังกล่าวจึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบถึงสิทธิของจำเลยร่วมที่ 2 เสียก่อนว่าบริษัทจำเลยร่วมที่ 2 มีสิทธิอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ไปบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายได้หรือไม่ เพื่อป้องกันปัญหาที่จำเลยร่วมที่ 1 อาจต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ของโจทก์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่อยู่ในงานภาพยนตร์นั้นได้ หากจำเลยร่วมที่ 1 ได้ตรวจสอบถึงสิทธิของจำเลยร่วมที่ 2 ก่อน ก็จะทราบว่าขณะที่จำเลยร่วมที่ 1 เข้าทำสัญญาลงวันที่ 24 มิถุนายน 2537 กับจำเลยร่วมที่ 2 จำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิตามสัญญาที่จะอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งมีงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดังกล่าวอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยไปทำซ้ำโดยบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่าย การที่จำเลยร่วมที่ 1 เข้าทำสัญญาจึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยร่วมที่ 1 มิได้ตรวจสอบถึงสิทธิดังกล่าวของจำเลยร่วมที่ 2 ก่อน เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะอนุญาตให้จำเลยร่วมที่ 1 นำภาพยนตร์เรื่องดาวพระศุกร์ซึ่งมีงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดังกล่าวอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์รวมอยู่ด้วยไปทำซ้ำโดยบันทึกเป็นวิดีโอเทปแล้วนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่าย จำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่อาจอ้างว่าตนมีสิทธิตามสัญญาที่จะทำซ้ำงานภาพยนตร์นั้นเป็นวิดีโอเทปภาพยนตร์และนำม้วนวิดีโอเทปนั้นออกจำหน่ายได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ทำซ้ำงานภาพยนตร์นั้นซึ่งมีงานวรรณกรรมของโจทก์รวมอยู่ด้วยโดยทำเป็นวิดีโอเทปและนำม้วนวิดีโอเทปที่ทำขึ้นนั้นออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนวนิยายเรื่องดาวพระศุกร์ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 24 (1) และมาตรา 27 (1) หรือตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) และมาตรา 31 (1) และต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.