คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 845/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นภรรยาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 เกิดกับภริยาคนก่อนซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสและเลิกร้างกันไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นบุตรของโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินให้บุตรเหล่านี้ทุกคนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์เป็นหนังสือ ที่ดินมีโฉนดอันเป็น สินสมรสที่จำเลยที่ 1 ยกให้จำเลยที่ 2 นั้นมีเนื้อที่เพียง 65 ตารางวา จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ผู้ให้เอง และได้สมรสแยกครอบครัวไปอยู่ต่างหากแล้วและไม่ปรากฏว่าขณะที่ยกให้นั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีหลักทรัพย์อันมีค่าอย่างอื่นอีกถือได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีฯ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473(3) จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิให้ได้ (อ้างนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 524/2506)
ที่ดินตาม น.ส.3 อีกแปลงหนึ่งเป็นที่ดินที่มารดายกให้จำเลยที่ 1 โดยระบุไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัว แม้จะไม่ได้จดทะเบียนไว้ก็ไม่สำคัญเพราะขณะที่ยกให้นั้นยังไม่มีโฉนดหรือหนังสือสำคัญ (อ้างนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 134/2513) จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกให้จำเลยที่ 2 โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์
จำเลยที่ 1 ยกที่ดินมีโฉนดอันเป็นสินสมรสแปลงหนึ่งให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์กับจำเลยที่ 1 เอง ที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่เพียง 2 งานเศษ และเมื่อให้แล้วโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์ร่วมกันอีกมาก ถือได้ว่าเป็นการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473(3) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอน ส่วนที่จำเลยที่ 1 ยังให้ที่ดินสินสมรสแก่จำเลยที่ 3 อีกแปลงหนึ่งแม้จะมีราคาเพียง 70,000 บาท แต่มีเนื้อที่ถึง 7 ไร่เศษ และไม่จำเป็นต้องให้อีก เพราะได้ให้ไปแปลงหนึ่งแล้ว ถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี และอาจทำให้ฐานะของโจทก์ตกต่ำลงได้จึงสมควรเพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินแปลงนี้
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ยกที่ดินสินสมรสแปลงหนึ่งให้จำเลยที่ 7 โดยที่ได้ยกให้ไปสองแปลงแล้ว ถือว่าไม่เป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีฯ จึงต้องเพิกถอนเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่สำนวน รวมจำเลยทั้งหมด ๗ คน ศาลสั่งรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน โจทก์ฟ้องทั้งสี่สำนวนสรุปใจความได้ว่า โจทก์จำเลยที่ ๑ เป็นสามีภรรยากันมีบุตร ๗ คน คือจำเลยที่ ๓ ถึง ๗ จำเลยที่ ๒ เป็นบุตรจำเลยที่ ๑ ซึ่งเกิดจากภรรยาคนก่อนซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสและทิ้งร้างกันไป เมื่อ ๒๓ ปีมาแล้วบิดาจำเลยที่ ๑ ถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๑ ได้รับมรดกมากมาย จำเลยที่ ๑ ได้ไปจดทะเบียนรับมรดกที่ดิน น.ส.๓ เลขที่ ๙๓ ร่วมกับพี่น้องอีก ๖ คน แล้วโอนให้จำเลยที่ ๒ ไปโดยเสน่หาและต่อมาได้โอนที่ดินโฉนดที่ ๔๓๑๙ ให้แก่จำเลยที่ ๒ ไปโดยเสน่หาอีกพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้าง และได้ยกที่ดินโฉนดที่ ๒๒๓๙ พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างกับที่ดินโฉนดที่ ๑๑๗๒ ให้แก่จำเลยที่ ๓ โดยเสน่หา กับยกที่ดินโฉนดที่ ๗๗๔๓ ให้แก่จำเลยที่ ๔,๕,๖ ไปโดยเสน่หา ยกที่ดินโฉนดที่ ๔๖๗๐ ให้แก่จำเลยที่ ๕,๖ โดยเสน่หา และจำเลยที่ ๑ ร่วมกับพี่น้องอีก ๖ คนไปขอรับมรดกของบิดาคือที่ดินตาม น.ส.๓ เลขที่ ๓๐๘ แม้บุคคลดังกล่าวได้ยกที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ ๗ และต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ยกที่ดินโฉนดที่ ๔๐๐๕ พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างกับที่ดินโฉนดที่ ๕๐๐๙ พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ ๗ ไปอีก ที่ดินทั้ง ๙ แปลงนี้เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทั้งสิ้น จำเลยที่ ๑ ได้โอนให้จำเลยที่ ๒ ถึง ๗ ไปโดยวิธีลักลอบ ไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์เป็นหนังสือ จึงขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมยกให้ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แปลงละครึ่ง ถ้าไม่สามารถแบ่งได้ให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์
จำเลยทุกคนให้การสรุปได้ว่า จำเลยที่ ๑ มีบุตรกับโจทก์ตามฟ้อง และได้ยกที่ดินต่าง ๆ ให้บุตรคือจำเลยตามฟ้องจริง แต่ที่ดินโฉนดที่ ๔๓๑๙ พร้อมสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ ๑ ได้ขายสินส่วนตัวแล้วนำเงินไปซื้อมา ที่ดินตาม น.ส.๓ เลขที่ ๙๓ เป็นสินส่วนตัว ที่ดินโฉนดที่ ๒๒๓๙ นำเงินมรดกไปรับจำนอง และผู้จำนองโอนตีชำระหนี้ให้ที่ดินโฉนดที่ ๑๑๗๒ จำเลยที่ ๑ นำเงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินโฉนดที่ ๗๗๔๓ พร้อมสิ่งปลูกสร้างก็เป็นสินส่วนตัวได้มาก่อนสมรส ที่ดินโฉนดที่ ๔๖๗๐ เป็นสินส่วนตัวได้รับยกให้จากบิดามารดาที่ดินโฉนดที่ ๔๐๐๕ และ ๕๐๐๙ นำเงินกองมรดกที่เป็นสินส่วนตัวไปซื้อมา และที่ดินตาม น.ส.๓ เลขที่ ๓๐๘ นั้น จำเลยที่ ๑ ก็ได้รับมรดกมาเป็นสินส่วนตัว จึงมีสิทธิทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินทุกแปลงโดยไม่ต้องบอกให้โจทก์ทราบ และเป็นการยกให้ทางหน้าที่ศีลธรรมในฐานะบิดากับบุตร ทั้งโจทก์จะฟ้องขอแบ่งสินสมรสโดยมิได้ฟ้องหย่าก่อนไม่ได้ นอกจากนี้โจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ ๑ แล้วว่าจะไม่เรียกร้องทรัพย์สินใด ๆ จากจำเลยที่ ๑ อีก คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วและโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ ๑ สามี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ ๑ ยกที่ดินโฉนดที่ ๔๓๑๙ พร้อมเรือน ๑ หลังให้จำเลยที่ ๒ โดยเสน่หาเสียครึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ ๑, ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยวา โจทก์เป็นภรรยาของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ เป็นบุตรของจำเลยที่ ๑ เกิดกับภริยาคนก่อนซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสและเลิกร้างกันไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ เป็นบุตรของโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมยกที่ดินให้บุตรเหล่านี้ทุกคนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์เป็นหนังสือ ที่ดินโฉนดที่ ๔๓๑๙ อันเป็นสินสมรสที่จำเลยที่ ๑ ยกให้จำเลยที่ ๒ นั้นมีเนื้อที่เพียง ๖๕ ตารางวา จำเลยที่ ๒ เป็นบุตรของจำเลยที่ ๑ ผู้ให้เอง และได้สมรสแยกครอบครัวไปอยู่ต่างหากแล้ว และไม่ปรากฏว่าขณะที่ยกให้นั้นจำเลยที่ ๑ ไม่มีหลักทรัพย์อันมีค่าอย่างอื่นอีก ถือได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๓(๓) จำเลยที่ ๑ ย่อมมีสิทธิให้ได้ (อ้างนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๔/๒๕๐๖) ส่วนที่ดินตาม น.ส.๓ เลขที่ ๙๓ นั้นเป็นที่ดินที่มารดายกให้จำเลยที่ ๑ โดยระบุไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัว แม้จะไม่ได้จดทะเบียนไว้ก็ไม่สำคัญ เพราะขณะที่ยกให้นั้นยังไม่มีโฉนดหรือหนังสือสำคัญ (อ้างนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๔/๒๕๑๓) จำเลยที่ ๑ มีสิทธิยกให้จำเลยที่ ๒ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์
ที่จำเลยที่ ๑ ยกที่ดินอันเป็นสินสมรสโฉนดที่ ๒๒๓๙ ให้แก่จำเลยที่ ๓ นั้น เห็นว่ามีเนื้อที่เพียง ๒ งานเศษ จำเลยผู้รับให้เป็นบุตรของโจทก์และจำเลยผู้ให้เองและเมื่อให้แล้วโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ก็ยังมีทรัพย์ร่วมกันอีกมาก ถือได้ว่าเป็นการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๓(๓) โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอน แต่สำหรับที่ดินสินสมรสโฉนดเลขที่ ๑๑๗๒ นั้นปรากฏว่ามีเนื้อที่ถึง ๗ ไร่เศษ แม้จะมีราคาเพียง ๗๐,๐๐๐ บาทตามที่โจทก์ฟ้อง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องให้อีก เพราะจำเลยที่ ๓ ได้ที่ดินโฉนดที่ ๒๒๓๙ ไปแปลงหนึ่งแล้ว ถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสมาคม และอาจทำให้ฐานะของโจทก์ตกต่ำลงได้จึงสมควรเพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินแปลงนี้ดังโจทก์ฟ้อง ส่วนที่ดินสินสมรสโฉนดที่ ๕๐๐๙ ที่จำเลยที่ ๑ ยกให้แก่จำเลยที่ ๗ นั้น เห็นว่าเป็นการให้โดยไม่จำเป็นต้องให้แต่อย่างใด เพราะจำเลยที่ ๑ ได้ให้ที่ดินโฉนดที่ ๔๐๐๕ กับที่ดินตาม น.ส.๓ เลขที่ ๓๐๘ ไปแล้ว จึงต้องถือว่าการให้นี้ไม่เป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสมาคม จำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจกระทำได้โดยลำพังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๓(๓) ต้องเพิกถอนให้รายนี้
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้ระหว่างจำเลยที่ ๑ ผู้ให้กับจำเลยที่ ๓ ผู้รับให้ในที่ดินโฉนดที่ ๑๑๗๒ กับให้เพิกถอนนิติกรรมยกให้ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับให้จำเลยที่ ๗ ผู้รับให้ในที่ดินโฉนดที่ ๕๐๐๙ ให้ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวกลับคืนสู่สภาพเดิม คำขอของโจทก์อื่น ๆ นอกจากนี้ให้ยกเสีย

Share