แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เหตุที่จะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 จะต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลผู้นั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้แม้บุคคลผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่จำเลยจัดสรรที่ดินและได้ประกาศขายที่ดินแปลงย่อยพร้อมบ้านพักอาศัยแก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้บริโภคทั้งสิบห้าโดยที่มิได้ตระเตรียมเงินลงทุนไว้ให้พร้อมเสียก่อนเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับเงินลงทุน ซึ่งสถาบันการเงินระงับการให้กู้ในระหว่างนั้นเป็นเหตุให้การดำเนินการปลูกสร้างบ้านพักอาศัยหยุดชะงักลง จึงเป็นความผิดของจำเลยที่ไม่เตรียมการป้องกันไว้ก่อนทั้งๆ ที่สามารถกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิด
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่าโจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องทั้งสามสำนวน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,038,972.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 770,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางอุไรวรรณ ชำระเงิน 539,598.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 424,126 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายชวลิต ชำระเงิน 889,566.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 675,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำชำระเสร็จแก่นายสุวัฒนะ ชำระเงิน 1,066,720.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 830,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายเฉลิมวงศ์ และนางสุนันทา ชำระเงิน 996,825.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 685,126 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายเกรียงศักดิ์ ชำระเงิน 920,080.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 675,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นาวาอากาศเอกธรรมนูญและนางลัดดา ชำระเงิน 819,639.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 643,200 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายสมหวัง ชำระเงิน 829,223.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 610,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายชัชวาล ชำระเงิน 659,072.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 515,400 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายนริศ ชำระเงิน 582,075.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 421,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางพรพรรณ ชำระเงิน 874,804.66 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 622,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวปาริฉัตร ชำระเงิน 902,327.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 675,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายโอภาส ชำระเงิน 1,261,808.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 960,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางสาวมัลลิกา ชำระเงิน 957,716.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 684,854 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายพงษ์ระพี และชำระเงิน 532,824.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 405,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายพิพัฒน์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่นางอุไรวรรณ จำนวน 1,038,972.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 770,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นายชวลิต จำนวน 539,598.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 424,126 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นายสุวัฒนะ จำนวน 889,566.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 675,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นายเฉลิมวงศ์และนางสุนันทา จำนวน 1,066,720.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 830,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นายเกรียงศักดิ์ จำนวน 996,825.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 685,126 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นาวาอากาศเอกธรรมนูญและนางลัดดา จำนวน 920,080.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 675,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นายสมหวัง จำนวน 819,639.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 643,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายชัชวาล จำนวน 829,223.97 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 610,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นายนริศ จำนวน 659,072.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 515,400 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นางพรพรรณ จำนวน 582,075.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 421,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นางสาวปาริฉัตร จำนวน 874,804.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 622,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นายโอภาส จำนวน 902,327.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 675,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นางสาวมัลลิกา จำนวนเงิน 1,261,808.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 960,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นายพงษ์ระพี จำนวน 957,716.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 684,854 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระเงินแก่นายพิพัฒน์ จำนวน 532,824.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวน 405,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินปลูกสร้างบ้านแล้วเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปในโครงการหมู่บ้านเมืองเอก โครงการ 7 ตั้งอยู่ที่ตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ระหว่างปี 2536 ถึงปี 2538 ผู้บริโภคทั้งสิบห้าเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านในโครงการดังกล่าวกับจำเลยโดยผู้บริโภคทั้งสิบห้าชำระเงินจองในวันทำสัญญาและชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยแล้วบางส่วน ต่อมาจำเลยยุติการปลูกสร้างไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญา ผู้บริโภคทั้งสิบห้าจึงเข้าร้องเรียนต่อโจทก์เพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เอกสารหมาย จ.137 ถึง จ.139 เป็นเพียงสำเนา มิใช่ต้นฉบับเอกสารที่แท้จริง อีกทั้งทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏว่าผู้รับเอกสารมีอำนาจรับรองความถูกต้องของเอกสารได้และผู้ที่ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.137 ถึง จ.139 เป็นผู้รับรองสำเนาถูกต้อง โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยมิได้คัดค้านการไม่มีอยู่ของต้นฉบับหรือเป็นเอกสารปลอมหรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับก่อนการสืบพยานเสร็จหรือก่อนศาลมีคำพิพากษา จะถือว่าจำเลยยอมรับว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวนั้นถูกต้องไม่ได้ เห็นว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นนั้นจำเลยไม่ได้คัดค้านความมีอยู่จริงของต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วนหรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 เมื่อจำเลยไม่ได้เรียกร้องให้โจทก์ส่งต้นฉบับเอกสารและศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่กำหนดให้โจทก์ส่งต้นฉบับแล้ววินิจฉัยคดีโดยไม่มีข้อสงสัยว่าเอกสารดังกล่าวไม่มีต้นฉบับ หรือเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับ สำเนาเอกสารดังกล่าวจึงสามารถรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าการประกอบธุรกิจของจำเลยไม่มีลักษณะเป็นผู้ประกอบธุรกิจตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ผู้ประกอบธุรกิจหมายความว่า ผู้ขาย ผู้ผลิตหรือผู้ขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้า หรือผู้ให้บริการ และหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย” การที่จำเลยจัดสรรที่ดินพร้อมก่อสร้างบ้านเพื่อโฆษณาขายให้แก่ประชาชนทั่วไปนั้นถือได้ว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยการลงทุนและลงแรงในการจัดสรรที่ดินและปลูกสร้างซึ่งจำเลยมีไว้เพื่อขายให้แก่ผู้ซื้ออันเป็นสินค้าเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือผลกำไรเป็นตัวเงิน จำเลยจึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ขายสินค้าและเป็นผู้ประกอบธุรกิจ โจทก์มีอำนาจและหน้าที่พิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจตามมาตรา 10 เมื่อโจทก์เห็นสมควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โจทก์ก็มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอัยการสูงสุดเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งแก่จำเลยผู้กระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล และเมื่อโจทก์ได้แจ้งไปยังกระทรวงยุติธรรมเพื่อแจ้งให้ศาลทราบแล้วตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เมื่อเปรียบเทียบน้ำหนักพยานหลักฐานของโจทก์และที่จำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบพยานหลักฐานแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย เห็นว่า โจทก์มีผู้บริโภคทั้งสิบห้าและเจ้าหน้าที่ของโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยยืนยันว่า โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยแล้วตามหนังสือบอกเลิกสัญญาและไปรษณีย์ตอบรับเอกสารหมาย จ.15, จ.16 และ จ.150 ถึง จ.155 ประกอบกับไปรษณีย์ตอบรับดังกล่าวมีลายมือชื่อผู้รับปรากฏอยู่โดยที่จำเลยไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมาว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โครงการของจำเลยมีขนาดใหญ่ต้องใช้ระยะเวลาการดำเนินการและสัญญาที่ผู้บริโภคทั้งสิบห้าทำกับจำเลยไม่ได้ระบุขยายระยะเวลาการปลูกสร้างแล้วเสร็จและวันโอนกรรมสิทธิ์ไว้ ผู้บริโภคทั้งสิบห้าไม่ชำระเงินงวดส่วนที่เหลือเนื่องจากอาจจะไม่มีเงิน ประกอบกับเนื่องจากเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายปี 2539 ทำให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ยุติการสนับสนุนโครงการ ทำให้จำเลยขาดเงินทุนในการปลูกสร้างโครงการของจำเลยจึงต้องหยุดและชะลอการก่อสร้าง เหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่ไม่อาจคาดคิดได้จำเลยจึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่า แม้สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างผู้บริโภคทั้งสิบห้ากับจำเลยจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาการปลูกสร้างให้แล้วเสร็จ แต่จำเลยต้องปลูกสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร เมื่อนับแต่วันที่ผู้บริโภคแต่ละรายทำสัญญากล่าวคือ ระหว่างปี 2536 ถึงปี 2538 จนถึงวันที่โจทก์ฟ้องในปี 2542 เป็นเวลาประมาณ 4 ปี ถึง 6 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านจนแล้วเสร็จให้อยู่ในสภาพพร้อมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสิบห้าได้เลย จึงถือว่าจำเลยไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร แต่ในขณะเดียวกันผู้บริโภคทั้งสิบห้ากลับผ่อนชำระเงินให้แก่จำเลยพอสมควรแล้วอันเป็นการชำระหนี้บางส่วน สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างผู้บริโภคทั้งสิบห้ากับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสิบห้า ผู้บริโภคทั้งสิบห้าจึงยังไม่ต้องชำระหนี้ที่เหลือแก่จำเลย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายว่า เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ไม่ให้การสนับสนุนเงินเพื่อดำเนินการตามโครงการ จำเลยจึงต้องยุติการปลูกสร้างจึงเป็นเหตุที่ไม่อาจคาดคิดหรือป้องกันได้ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดต่อผู้บริโภคทั้งสิบห้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันถึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น ฉะนั้น เหตุที่จะถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นจะต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลผู้นั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ แม้บุคคลผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่จำเลยจัดสรรที่ดินพร้อมทั้งได้ประกาศขายที่ดินแปลงย่อยพร้อมบ้านพักอาศัยแก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้บริโภคทั้งสิบห้าคนโดยที่มิได้ตระเตรียมเงินลงทุนไว้ให้พร้อมเสียก่อนเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับเงินลงทุนโดยสถาบันการเงินระงับการให้กู้ในระหว่างนั้น เป็นเหตุให้การดำเนินการปลูกสร้างบ้านพักอาศัยหยุดชะงักลง จึงเป็นความผิดของจำเลยที่ไม่เตรียมการป้องกันไว้ก่อนทั้งๆ ที่สามารถกระทำได้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ