คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 49/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตัวแทนออกเงินทดรองไปในกิจการที่ได้รับมอบหมายจากตัวการ ย่อมมีสิทธิเรียกเงินชดใช้จากตัวการได้ตามมาตรา 816 และการทดรองเงินก็ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 653 ซึ่งเป็นบทเรื่องกู้ยืมเงินโดยฉะเพาะ
โจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้มีชื่อไปแทนจำเลยตามคำร้องขอของจำเลย ถือว่าเป็นการกระทำแทนจำเลยในกิจการของจำเลยซึ่งเป็นตัวการ แม้การจ่ายเงินนั้นจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือโจทก์ก็ฟ้องเรียกเงินจำนวนนั้นจาำจำเลยได้ตามมาตรา 816.

ย่อยาว

โจทก์จำเลยเป็นคนชอบพอนับถือกันเคยหยิบยืมเงินทองกันใช้สอย เมื่อปลายปี ๒๔๘๗ จำเลยรักใคร่นางสอาด ๆ จะเอาเงิน ๕๐๐๐ บาท จำเลยไม่มีเงินจึงร้องขอให้โจทก์ออกเงิน ๕๐๐๐ บาท จ่ายแทนจำเลยให้นางสอาดก่อน อีก ๒-๓ วันจำเลยจะคืนให้ โดยความเชื่อถือกัน โจทก์ยอมรับปากกับจำเลย เวลาบ่ายจึงเอาเงิน ๕๐๐๐ บาท ไปจ่ายให้นางสอาดตามความประสงค์ของจำเลย การจ่ายเงินจำนวนนี้ ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ
บัดนี้โจทก์มาฟ้องจำเลยให้ใช้เงิน ๕๐๐๐ บาทที่โจทก์จ่ายให้นางสอาดไป
ปัญหามีว่า การที่โจทก์จ่ายเงินแทนจำเลยให้แก่นางสอาดตามคำร้องขอจำเลยนั้น จะเรียกว่าโจทก์เป็นตัวแทนได้กระทำการตามคำสั่งของจำเลยผู้เป็นตัวการหรือไม่ หรือว่าเป็นกรณีกู้ยืมเงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นการกู้ยืมเงิน เมื่อไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ฟ้องไม่ได้จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณืพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกา เห็นว่าโจทก์เป็นผุ้ใช้เงินให้แก่นางสอาดแทนจำเลย เป็นการกระทำที่มีอำนาจทำแทนจำเลยอย่างชัดแจ้ง เพระาจำเลยร้องขอให้ทำแทนกิจการที่ทำไปนั้น เป็นกิจการของจำเลยซึ่งเป็นตัวการโจทก์เป็นตัวแทนเสมือนเครื่องมือเท่านั้น นางสอาดจะเป็นเจ้าหนี้จำเลยในทางใดหรือไม่ก็ตามไม่ใช่เรื่องของโจทก์ โจทก์ได้กระทำการในฐานะเป็นตัวแทนจำเลยในภาระกิจของจำเลย การที่ตัวแทนได้ออกเงินทดรองไปในกิจการที่ตนได้รับมอบหมายจากตัวการเช่นนี้ ตัวแทนมีสิทธิจะเรียกเงินชดใช้จากตัวการได้ ตาม ม.๘๑๖ และการทดรองเงินไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๕๓ ซึ่งเป็นเรื่องกู้ยืมโดยฉะเพาะ จะยกมาใช้ในกรณีนี้ไม่ได้ เพราะต่างลักษณะกัน จึงพิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงิน ๕๐๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์.

Share