คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 844/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าของเดิมเข้าบุกเบิกแผ้วถางป่าปลูกพืชผลมา 7 – 8 ปีแล้วโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ดิน เพราะเข้าบุกเบิกโดยพลการมิได้ขออนุญาตจากเจ้าพนักงานและเมื่อประกาศใช้ประมวลกฏหมายที่ดิน ก็มิได้แจ้งการครอบครอง แม้ต่อมาจะมีผู้อื่นซื้อที่ดินนี้จากเจ้าของเดิมก็ยังต้องถือว่าที่ดินนี้คงมีสภาพเป็นป่าอยู่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4
พนักงานป่าไม้ปฏิบัติตามคำสั่งของป่าไม้เขตเข้าจับกุมผู้ไถพรวนดินและสุมเผากิ่งไม้อยู่ในเขตที่มีผู้แจ้งว่ามีการบุกรุกแผ้วถางป่าหาว่ากระทำผิดพระราชบัญญัติป่าไม้-เมื่อไม่ปรากฎว่าเป็นการแกล้งจับหรือแจ้งข้อหาเท็จ ทั้งที่ดินนั้นก็ยังต้องถือว่ามีสภาพเป็นป่าอยู่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ดังนี้ จะหาว่าพนักงานป่าไม้นั้นกระผิดตามมาตรา 157,172,173 แห่งประมวลกฎหมายอาญาหาได้ไม่.

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑,๒,๓ หน่วงหนี่ยวกักขังโจทก์ และแจ้งข้อหาต่อพนักงานสอบสวนว่าดจทก์ทำลายป่า บุกเบิกป่าสงวนและอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ อันเป็นความเท็จ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลอาญา มาตรา ๑๕๗,๑+๗,๑๗๒,๑๗๓ และ ๘๓
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เป็นพนักงานป่าไม้ มีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ จำเลยที่ ๒,๓ เป็นทหารอากาศประจำการ จำเลยทั้งสามปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าตรงที่เกิดเหตุไม่ใช่ป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ และวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๑ ได้กระทำผิดตามฟ้อง จำเลยที่ ๒ และ ๓ ยังฟังไม่ด้ว่าได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ ๑ ด้วย พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗,๓๐๙,๑๓๗,๑๗๒,๑๗๓ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๑๕๗ ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ มีกำหนด ๑ ปี ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒,๓ ปล่อยจำเลยทั้งสองให้พ้นข้อหาไป
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ตามฟ้อง และลงโทษจำเลยที่ ๑ สถานหนักด้วย
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อเท็จจริงเท่าที่ได้ความไม่ชัดพอที่จะชี้ขาดว่าตรงที่เกิดเหตุเป็นที่ป่าหรือทีไร่ และพยานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยแกล้งจับโจทก์หรือแจ้งข้อหาเท็จดังฟ้องพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ ด้วย นอกนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามฟ้อง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ซื้อที่ดินที่เกิดเหตุมาจากผู้เริ่มบุกเบิกเดิม ซึ่งบุกเบิกโดยพลการมา ๗ – ๘ ปีแล้วโดยมิได้ขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน จึงเป็นที่ได้การที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ดิน กับทั้งเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายที่ดินเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ ก็่มิได้แจ้งการครอบครองตามแบบ ส.ค.๑ เมื่อโจทก์มีพยานหลักฐานเกี่ยวกับที่เกิดเหตุมาแสดงเพียงเท่าที่กล่าวมา จึงต้องถือว่าที่เกิดเหตุรายนี้ยังคงมีสภาพเป็นป่าอยู่ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔ และในการที่จำเลยที่ ๑ จังกุมโจทก์หาว่ากระทำผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ นี้ ก็ได้ความว่าปฎิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ โดยปฏิบัติตามคำสั่งของป่าไม้เขต และไม่มีเหตุที่จะฟังว่าจำเลยแกล้งจับโจทก์แต่อย่างไร ทั้งเวลาที่จำเลยที่ ๑ จับโจทก์ทั้งสองก็รับว่าได้กระทำตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ จริงและได้ลงชื่อไว้ในบันทึกการจับกุมด้วย ส่วนข้อที่ว่าจำเลยข่มขืนใจให้โจทก์ลงชื่อในบันทึกการจับกุมนั้นก็ไม่น่าเชื่อ คดีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ กระทำผิดดังฟ้อง พิพากษายืน.

Share