คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7071/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 ซึ่งบัญญัติว่า “ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยาหรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการเลี้ยงดูหรือได้รับการเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี” เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายประพฤติตัวไม่เหมาะสมเที่ยวเตร่เวลากลางคืนแล้วแยกตัวไปอยู่ที่อื่นไม่กลับไปหาโจทก์ ไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ซึ่งเคยให้เดือนละ 70,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร เมื่อโจทก์มีรายได้จากการรับทำบัญชีเดือนละ 9,000 บาท ส่วนจำเลยมีอาชีพเป็นทนายความย่อมมีรายได้จากการว่าความและเป็นที่ปรึกษากฎหมายและจำเลยยังเปิดบริษัท บ. และยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ส. โดยได้รับเงินเดือนจากทั้งสองบริษัทเดือนละ 45,000 บาท แม้ว่าระหว่างพิจารณา จำเลยจะยกทรัพย์สินเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้าน 1 หลัง ราคาประมาน 5,000,000 บาท และที่ดินอีก 1 แปลง ราคาประมาณ 3,000,000 บาท กับรถยนต์ 2 คัน ให้แก่โจทก์และโอนสลากออมสินมูลค่า 3,000,000 บาท แก่บุตร โดยจำเลยตกลงจ่ายค่าอุปการะให้บุตรเดือนละ 50,000 บาท นับแต่เดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะจบปริญญาตรีก็ตาม แต่ทรัพย์สินดังกล่าวก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ และภาระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรก็ใกล้จะสิ้นสุดลงแล้ว เช่นนี้ จึงเห็นควรให้โจทก์ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย เมื่อพิจารณาถึงความเพียงพอแก่อัตภาพของโจทก์และภาระค่าครองชีพแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป จนกว่าการสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยจะสิ้นสุดลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ 560,000 บาท และค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 70,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าโจทก์จะถึงแก่ความตาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน มีบุตร 1 คน คือ นางสาว จ. เกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2539 ระหว่างพิจารณาจำเลยยอมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 36369 เลขที่ 382 อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พร้อมบ้าน ราคาประมาณ 5,000,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 29805 เลขที่ดิน 619 อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ 42 ตารางวา ราคาประเมินที่ดินเป็นเงิน 3,000,000 บาทเศษ รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า 2 คัน ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และโอนสลากออมสินมูลค่า 3,000,000 บาท ให้แก่บุตรสาวกับตกลงจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 50,000 บาท นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี โจทก์มีรายได้จากการรับทำบัญชีให้ 3 บริษัท รวมเป็นเงินเดือนละ 9,000 บาท จำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทบีแอนด์พีลอว์ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท โดยได้รับเงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท และยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์โปรเฟสชั่นแนล จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 25,000,000 บาท โดยจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นเป็นเงิน 5,000,000 บาท และจำเลยได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท จำเลยมีอาชีพเป็นทนายความ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า การที่บุคคลสองคนตกลงอยู่กินร่วมกันเป็นสามีภริยาจึงต้องร่วมทุกข์ร่วมสุข ดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกัน ส่วนการที่จะฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น เป็นกรณีที่ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/38 ซึ่งบัญญัติว่า “ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้น ย่อมเรียกจากกันได้ ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี” ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า เมื่อประมาณกลางปี 2556 จำเลยประพฤติตัวไม่เหมาะสมเที่ยวเตร่เวลากลางคืน ทำให้มีปากเสียงทะเลาะกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2556 จำเลยแยกออกไปอยู่ที่อื่นแล้วไม่กลับมา กับไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูซึ่งเคยให้เดือนละ 70,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ซึ่งในข้อนี้จำเลยยอมรับว่าจำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านในวันดังกล่าวโดยไปพักอาศัยอยู่คอนโดมิเนียมเนื่องจากโจทก์และจำเลยมีปากเสียงทะเลาะกันอย่างรุนแรงและสมัครใจแยกกันอยู่ พฤติการณ์ดูเสมือนหนึ่งว่าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้ เมื่อคดีได้ความว่า โจทก์มีรายได้จากการรับทำบัญชีเดือนละ 9,000 บาท ส่วนจำเลยมีอาชีพเป็นทนายความย่อมมีรายได้จากการรับจ้างว่าความและเป็นที่ปรึกษากฎหมาย จำเลยยังเปิดบริษัทบีแอนด์พีลอว์ จำกัด และเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทบริหารสินทรัพย์โปรเฟสชั่นแนล จำกัด จำเลยได้รับเงินเดือนจากทั้งสองบริษัทเดือนละ 45,000 บาท จำเลยพักอาศัยอยู่ที่คอนโดมิเนียมของบุคคลอื่นโดยไม่ปรากฏว่าต้องจ่ายค่าเช่าแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่าจำเลยสามารถแสวงหารายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับภาระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจนจบปริญญาตรีนั้นก็เกือบสิ้นสุดลงแล้ว ส่วนที่จำเลยโต้แย้งว่าโจทก์ได้รับยกให้ทรัพย์สินมีมูลค่ามากแล้วนั้น ก็มิใช่ทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ โจทก์ได้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 29805 ให้แก่บุตรแล้ว เช่นนี้ จึงเห็นว่าโจทก์ควรได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากจำเลย เมื่อพิจารณาถึงความเพียงพอแก่อัตภาพของโจทก์และภาระค่าครองชีพแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท ก่อนฟ้องเป็นเวลา 8 เดือน เป็นเงิน 80,000 บาท
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2558 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเพียงอย่างเดียว การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับจึงไม่ชอบ และกรณีต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแก่โจทก์ด้วย
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ 80,000 บาท และต่อไปเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 9 กันยายน 2557) เป็นต้นไปจนกว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยจะสิ้นสุดลง ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่สั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ กับให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแก่โจทก์

Share