แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 48 (5) และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน 2535 ข้อ 1
หากโจทก์จะเลือกเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 48 (5) โจทก์ต้องนำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ทุกรายการที่เข้าลักษณะเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานในปีภาษีนั้นรวมกัน จากนั้นจึงคำนวณค่าใช้จ่ายและคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (5) เมื่อปรากฏว่า ในปีภาษี 2546 เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่โจทก์ได้รับจำนวน 1,234,280 บาท เป็นเงินได้ตามข้อ 1 (ง) ส่วนเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 606,449.93 บาท เป็นเงินได้ตามข้อ 1 (ข) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว การที่โจทก์นำเงินจำนวน 1,234,280 บาท ไปแยกคำนวณค่าใช้จ่ายและคำนวณภาษีตามใบแนบ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2546 หนึ่งฉบับ และแยกเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 606,449.93 บาท ไปคำนวณค่าใช้จ่ายและคำนวณภาษีตามใบแนบ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2546 อีกหนึ่งฉบับ ย่อมไม่ถูกต้องตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้เพิกถอนและยกเลิกคำสั่งประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า การที่โจทก์เลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยนำเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานจำนวน 1,234,280 บาท แยกไปคำนวณภาษีตามใบแนบ ภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2546 กับนำเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 606,449.93 บาท ไปคำนวณภาษีตามใบแนบ ภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2546 เป็นการเสียภาษีที่ถูกต้องหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า มาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “เงินได้พึงประเมินต้องเสียภาษีเงินได้ดังต่อไปนี้…ฯลฯ
(5) ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีตาม (1) และ (2) ก็ได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ซึ่งได้คำนวณจ่ายจากระยะเวลาที่ทำงานและได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด โดยให้นำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวหักค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนเท่ากับ 7,000 บาท คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานแต่ไม่เกินเงินได้พึงประเมิน เหลือเท่าใดให้หักค่าใช้จ่ายอีกร้อยละ 50 ของเงินที่เหลือนั้นแล้วคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้
ในกรณีเงินได้พึงประเมินดังกล่าวจ่ายในลักษณะเงินบำเหน็จจำนวนหนึ่งและเงินบำนาญอีกจำนวนหนึ่ง ให้ถือว่าเฉพาะเงินที่จ่ายในลักษณะเงินบำเหน็จเป็นเงินซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานและให้ลดค่าใช้จ่ายจำนวน 7,000 บาท ลงเหลือ 3,500 บาท
จำนวนปีที่ทำงานตามวรรคหนึ่ง ในกรณีเงินบำเหน็จหรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ทางราชการจ่าย ให้ถือจำนวนปีที่ใช้เป็นเกณฑ์คำนวณเงินบำเหน็จหรือเงินอื่นในลักษณะเดียวกันนั้นตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับของทางราชการ
ในการคำนวณจำนวนปีที่ทำงาน นอกจากกรณีตามวรรคสาม เศษของปี ถ้าถึง 183 วัน ให้ถือเป็น 1 ปี ถ้าไม่ถึง 183 วัน ให้ปัดทิ้ง”
อธิบดีกรมสรรพากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 48 (5) และ มาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดลักษณะของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานและจ่ายตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน 2535 ดังต่อไปนี้
“ข้อ 1 เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) ซึ่งเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้หมายถึงเงินได้ดังนี้
(ก) เงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(ข) เงินที่จ่ายจากกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(ค) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
(ง) เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตาม (ก)”
ดังนั้น เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานจำนวน 1,234,280 บาท ตามใบแนบ ภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2546 จึงถือเป็นเงินได้ตามข้อ 1 (ง) ส่วนเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 606,449.93 บาท ตามใบแนบ ภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2546 ย่อมถือเป็นเงินได้ตามข้อ 1 (ข) และ (ง) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าวข้างต้น หากโจทก์จะเลือกเสียภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ต้องนำจำนวนเงินทั้งสองกรณีดังกล่าวรวมเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ๆ คำนวณค่าใช้จ่ายและคำนวณภาษีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ข้อ 3 (3) โดยนำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ทุกรายการที่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานในปีภาษีนั้นรวมกัน จากนั้นจึงคำนวณค่าใช้จ่ายและคำนวณภาษีตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร การที่โจทก์นำเงินจำนวน 1,234,280 บาท ไปแยกคำนวณค่าใช้จ่ายและคำนวณภาษีตามใบแนบ ภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2546 หนึ่งฉบับและแยกเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำนวน 606,449.93 บาท คำนวณหักค่าใช้จ่ายและคำนวณภาษีตามใบแนบ ภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2546 อีกฉบับหนึ่ง ย่อมไม่ถูกต้อง การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ