คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5135/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องโดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคแรก ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์ก่อนว่ามีเหตุอันควรอนุญาตหรือไม่ แล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ศาลชั้นต้นกลับวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์เสียก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้โดยไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาครั้งที่ 2/2554)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับพวกตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 6, 7, 8 ทวิ, 38, 55, 72, 72 ทวิ, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 371, 91, 83, 80, 33, 32 ริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปเพราะมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว แสดงว่าศาลชั้นต้นใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162 พิจารณาแล้วมีคำสั่งประทับฟ้องไว้ ต่อมาในวันนัดพร้อมเมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงได้วินิจฉัยใหม่ว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงวันเวลาที่จำเลยกระทำผิด จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) อันเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 ยกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 163 วรรคแรก ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์ก่อนว่า มีเหตุอันควรอนุญาตหรือไม่ แล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ศาลชั้นต้นกลับวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) โดยมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์เสียก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่เป็นไปตามลำดับ เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้โดยไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share