คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 843/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้า (ภ.ค. (พ)4) ทำให้ภาษีการค้าขาดไป ไม่ใช่กรณียื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าแล้วยื่นไม่ครบแต่ประการใด แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยในกรณีความผิดที่ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรอันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ทวิ หาใช่กรณีที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าอันเป็นเท็จโดยวิธียื่นขาดไปไม่ครบถ้วนซึ่งเป็นความผิดตาม มาตรา 37 ไม่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ยื่นเสียภาษีการค้าตลอดมาทุกเดือน เพียงแต่บางเดือนจำเลยยื่นไม่ครบบางเดือนก็ยื่นเกินกว่ารายรับ จึงเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสารสำคัญที่แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้องลงโทษจำเลยมิได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2507 ทะเบียนเลขที่ 193/2507 มีวัตถุประสงค์รับเหมาก่อสร้าง

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวได้บังอาจร่วมกันเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรฝ่ายสรรพากร คือ

1. จำเลยบังอาจร่วมกันยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด.5) ขาดไป คิดเป็นเงินภาษีที่ขาดรวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม 338,784 บาท 12 สตางค์

2. เมื่อระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม 2509 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2509ระหว่างวันที่ 15 มกราคม 2510 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2510 และระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2511 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยบังอาจร่วมกันไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้า ภ.ด.(พ)4 สำหรับรายได้การค้าจำนวนเงิน 3,157,895 บาท 64 สตางค์ 2,337,440.00 บาท และ2,489,078 บาท 50 สตางค์ ตามลำดับ ทำให้ภาษีการค้าขาดไปรวมทั้งค่าภาษีบำรุงเทศบาล เบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน 60,107 บาท 49 สตางค์110,215 บาท 35 สตางค์ และ 18,726 บาท 09 สตางค์ ตามลำดับ รวม 3 ปีจำเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าเป็นเงิน 7,975,414 บาท 14 สตางค์คิดเป็นภาษีการค้าที่ขาดรวมทั้งภาษีบำรุงเทศบาล เบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน189,049 บาท 93 สตางค์

3. เมื่อระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2511 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2511 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยบังอาจร่วมกันมีตราสารใบรับมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ไว้ในความครอบครองหลายฉบับ ทำให้อากรแสตมป์ขาดไป รวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นเงิน 28 บาท

รวมทั้งหมดทำให้กรมสรรพากรต้องขาดภาษีอากรไปคิดเป็นเงิน 517,880บาท 95 สตางค์ กรมสรรพากรได้ออกหมายเรียกจำเลยให้ชำระภาษีอากรดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่ชำระ จึงได้ประเมินและส่งแบบแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบแต่จำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2481มาตรา 37, 37 ทวิ, 54, 56, 58, 65, 84, 86 ทวิ, 104, 124 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2497 (ฉบับที่ 11) มาตรา 5 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2502 (ฉบับที่ 16) มาตรา 14, 15, 23,30, 52 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2504 มาตรา 8

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายคำฟ้องเฉพาะที่เกี่ยวกับกรณีหลีกเลี่ยงภาษีการค้าไว้ในข้อ (2) นั้นล้วนแล้วแต่เป็นการหลีกเลี่ยงโดยวิธีไม่ยื่นแบบแสดรายการเสียภาษีการค้า (ภ.ด.(พ) 4) ทำให้ภาษีการค้าขาดไปทั้งสิ้น ไม่ใช่กรณียื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าแล้วยื่นไม่ครบแต่ประการใดเลย แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยในกรณีความผิดที่ไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้า เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรอันเป็นความผิดตามมาตรา 37 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร หาใช่กรณีที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีการค้าอันเป็นเท็จโดยวิธียื่นขาดไปไม่ครบถ้วนซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากรไม่ เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าระยะตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2509 ถึงเมษายน 2510 ซึ่งจำเลยที่ 2 มีหน้าที่กระทำการในนามของจำเลยที่ 1 อยู่ถึงเดือนธันวาคม 2509 ได้มีการยื่นเสียภาษีการค้าตลอดมาทุกเดือน เพียงแต่บางเดือนจำเลยยื่นไม่ครบ บางเดือนก็ยื่นเกินกว่ารายรับ ดังนี้ จึงเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสารสำคัญที่แตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ลงโทษจำเลยมิได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share