แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. ฟ้องว่า ที่ดินยของ อ. อยู่ติดกันโดยที่ดินของ ป. ทางด้านทิศตะวันตกติดที่ดินของ อ. ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่ ป. และระบุรูปแผนที่ดินของ ป. ว่าทางด้านทิศติวันตกติดบ่อน้ำสาธารณประโยชน์ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. และมีส่วนได้เสียในที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินได้ แต่ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์ยังไม่เคยไปยื่นคำขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินในที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 ต่อเจ้าพนักงานที่ดินทั้งการขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินของ ป. ก็เป็นเรื่องการแบ่งแยกโฉนดที่ดินในที่ดินของ ป. เองโดยเฉพาะ แม้การระบุอาณาเขตที่ดินในโฉนดที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจะคลาดเคลื่อนไป ก็ไม่มีผลโดยตรงต่อที่ดินของ อ. กล่าวคือ มิได้ออกโฉนดที่ดินรุกล้ำทับที่ดินของ อ. หรือกระทำการอันมีลักษณะเป็นการรบกวนครอบครองหรือแย่งสิทธิครอบครองที่ดินของ อ. สิทธิครอบครองที่ดินของ อ. จะมีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่เช่นเดิม และเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปพิสูจน์สิทธิครอบครองต่อเจ้าพนักงานที่ดินในการขอออกโฉนดที่ดินของ อ. หากโจทก์ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ก็ต้องไปว่ากล่าวกับเจ้าพนักงานที่ดิน การออกโฉนดที่ดินไป ป. ตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง ยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องกรมที่ดินจำเลยขอให้บังคับจำเลยแก้ตำแหน่งที่ดินทางทิศตะวันตกเป็นว่าจดที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกนายอินทร์ ตามคำสั่งศาล นายอินทร์มีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค..1)เลขที่ 94 ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 1 งาน 20 ตารางวาที่ดินแปลงดังกล่าวมีแนวเขตด้านทิศตะวันออกจดที่ดินของนางสาวปทุม วรรณเลิศ เมื่อปี 2537 เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ 34466 (ที่ถูก 14466) ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ให้แก่นางสาวปทุม โดยระบุแนวเขตที่ดินนางสาวปทุม ด้านทิศตะวันตกว่า บ่อน้ำสาธารณประโยชน์ ซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง ความจริงที่ดินที่นางสาวปทุมระบุว่าเป็นบ่อน้ำสาธารณประโยชน์นั้น คือที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 อันเป็นที่ดินของเจ้ามรดก ครั้นโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินในที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้โดยอ้างว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นบ่อน้ำสาธารณประโยชน์ เป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายอินทร์และมีส่วนได้เสียในที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยแก้ตำแหน่งที่ดินระวาง 18 ต.3 อ. รายการบ่อน้ำสาธารณประโยชน์ทางทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 34466 (ที่ถูก 14466)ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เป็นจดที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 หมู่ที่ 4 ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
จำเลยให้การว่า ที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อยจังหวัดเพชรบุรี เป็นบ่อน้ำสาธารณะที่ราษฎรในเขตหมู่ที่ 4 ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2450 และทางราชการได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะของอำเภอเขาย้อยไว้เมื่อปี 2506 แต่นายอินทร์ ยอดที่รัก นำเอาที่สาธารณะดังกล่าวไปแจ้งการครอบครอง ที่ดินดังกล่าวยังเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ นายอินทร์และทายาทย่อมไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลย 1,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายอินทร์ ก่อนตายนายอินทร์แจ้งการครอบครองที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 หมู่ที่ 4 ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 1 งาน 20 ตารางวา ตามสำเนาแบบแจ้งการครอบครองที่ดินเอกสารหมาย จ.7 ต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 815 ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ออกเป็นที่ดิน 2 แปลง ที่ดินแปลงที่แบ่งแยกออกมาคือที่ดินโฉนดเลขที่ 14466 ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เป็นของนางสาวปทุม ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.12 แต่รูปแผนที่ในโฉนดที่ดินดังกล่าวด้านทิศตะวันตกระบุว่า จดบ่อน้ำสาธารณประโยชน์ โจทก์โต้แย้งว่า ที่ถูกแล้วจดที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 ของนายอินทร์ คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เอกสารหมาย จ.7 ออกโดยทางราชการเมื่อปี 2498 ยังอยู่กับทางราชการ และยังมิได้ถูกเพิกถอน ส่วนหลักฐานที่จำเลยอ้างว่ามีการยกที่ดินให้เป็นสาธารณประโยชน์ไม่มีที่มา การนำที่ดินตามเอกสารหมาย จ.7 ไปขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณะจึงเป็นการมิชอบ และการลงรายการที่พิพาทเป็นบ่อน้ำสาธารณประโยชน์เป็นการรอนสิทธิของโจทก์โจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินของนางสาวปทุมกับที่ดินของนายอินทร์อยู่ติดกันโดยที่ดินของนางสาวปทุมทางด้านทิศตะวันตกติดที่ดินของนายอินทร์ ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่นางสาวปทุมและระบุรูปแผนที่ที่ดินของนางสาวปทุมว่าทางด้านทิศตะวันตกติดบ่อน้ำสาธารณประโยชน์ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายอินทร์และมีส่วนได้เสียในที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินได้ แต่ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์ไปขอตรวจสอบตำแหน่งที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 ต่อสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดเพชรบุรี และโจทก์ก็เบิกความตอบทนายโจทก์รับว่า โจทก์ยังไม่เคยไปยื่นคำขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินในที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ทั้งการขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินของนางสาวปทุมก็เป็นเรื่องการแบ่งแยกโฉนดที่ดินในที่ดินของนางสาวปทุมเองโดยเฉพาะ แม้การระบุอาณาเขตที่ดินในโฉนดที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจะคลาดเคลื่อนไป ก็ไม่มีผลโดยตรงต่อที่ดินของนายอินทร์ กล่าวคือ มิได้ออกโฉนดที่ดินรุกล้ำทับที่ดินของนายอินทร์หรือกระทำการอันมีลักษณะเป็นการรบกวนครอบครองหรือแย่งสิทธิครอบครองที่ดินของนายอินทร์ สิทธิครอบครองที่ดินของนายอินทร์ (หากมี) จะมีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปพิสูจน์สิทธิครอบครองต่อเจ้าพนักงานที่ดินในการขอออกโฉนดที่ดินของนายอินทร์ หากโจทก์ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกับเจ้าพนักงานที่ดิน การออกโฉนดที่ดินให้นางสาวปทุมตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง ยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ในข้ออื่น ๆ ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนจำเลย