คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7994/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรอันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เหตุที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไม่สามารถส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยได้ในครั้งแรกเกิดจากการที่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ไปรับหนังสือดังกล่าวภายในกำหนด จึงถือว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งแรกด้วยแล้ว เมื่อในการส่งหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งที่ 2 มีผู้รับไว้แทน จำเลยจึงได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ไอทีเอฟ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ ย.1832/2542 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยและจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมยศ ร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,932,249.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากต้นเงิน 6,929,328.77 บาท นับตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่เจ้าหนี้เดิม หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากเจ้าหนี้เดิม จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวมทั้งมูลหนี้คดีดังกล่าวด้วย ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ดังกล่าวโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 330 ตำบลคูตัน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และที่ดินโฉนดเลขที่ 7186, 8570, 12129 ตำบลบ่อเงิน (คูตัน) อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินราคาไว้เป็นเงิน 7,672,800 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างการขายทอดตลาด คำนวณถึงวันฟ้องจำเลยคงค้างชำระหนี้โจทก์ 21,873,593.63 บาท จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า ในคำพิพากษามิได้พิพากษาให้บังคับทรัพย์สินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน โจทก์จึงไม่มีสิทธินำสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษามาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย ก่อนฟ้องโจทก์ไม่ได้ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลย และโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เพียงครั้งเดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งในคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ย.1832/2542 โจทก์ก็มิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานอกจากนี้ทรัพย์จำนองยังไม่ได้มีการขายทอดตลาด จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน จำเลยมีทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ทั้งหมด จำเลยมิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิจาณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไอทีเอฟ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ คดีหมายเลขแดงที่ ย.1832/2542 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยและจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมยศ ร่วมกันชำระเงินจำนวน 6,932,249.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากต้นเงิน 6,929,328.77 บาท นับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่เจ้าหนี้เดิมจนครบถ้วน หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 330 ตำบลคูตัน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และที่ดินโฉนดเลขที่ 7186, 8570, 12129 ตำบลบ่อเงิน (คูตัน) อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิม หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์มรดกของนายสมยศและทรัพย์สินของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิมจนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนเจ้าหนี้เดิม โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองซึ่งเป็นของนายสมยศ ออกขายทอดตลาด และระหว่างพิจารณาคดีล้มละลาย ปรากฏว่าสามารถขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เป็นเงิน 4,210,000 บาท คำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องคดีล้มละลายจำเลยคงค้างชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 21,873,593.63 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เห็นว่า ก่อนฟ้องคดีล้มละลายโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามหนังสือลงวันที่ 5 กันยายน 2548 ตามเอกสารหมาย จ.14 เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ได้นำหนังสือดังกล่าวไปส่งให้จำเลยที่บ้านเลขที่ 5/619 หมู่ที่ 9 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยแต่ไม่พบจำเลยและไม่มีผู้ใดรับไว้ เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงมีหนังสือให้จำเลยไปรับหนังสือดังกล่าว แต่จำเลยไม่ไปรับหนังสือภายในกำหนด เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จึงส่งหนังสือคืนแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.15 หลังจากนั้น ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้อีกครั้งหนึ่งตามเอกสารหมาย จ.17 โดยส่งให้แก่จำเลยตามภูมิลำเนาดังกล่าวปรากฏว่ามีนางอนงค์ ซึ่งระบุว่าเป็นย่าของจำเลยเป็นผู้รับไว้แทนตามเอกสารหมาย จ.18 ดังนั้น จากพฤติการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้โดยส่งไปยังภูมิลำเนาของจำเลยตามแบบรับรองรายการทะบียนราษฎรอันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เหตุที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไม่สามารถส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยได้ในครั้งแรกเกิดจากการที่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ไปรับหนังสือดังกล่าวภายในกำหนด จึงถือได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งแรกตามเอกสารหมาย จ.14 ด้วยแล้ว เมื่อในการส่งหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ครั้งที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.17 มีผู้รับไว้แทน กรณีจึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ซึ่งในทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีทรัพย์สินแต่อย่างใด ฟังได้ว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว และหลังจากที่จำเลยตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของศาลแพ่งกรุงเทพใต้แล้ว จำเลยไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เดิม จนกระทั่งโจทก์ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมา จำเลยก็ไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนระยะเวลาล่วงเลยแล้วหลายปี พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้มิได้ขวนขวายในการชำระหนี้แก่โจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล้มละลายกลางพิพากษายกฟ้องโดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร

Share