คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7910/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการทำสัญญาสั่งซื้อฉลากโอพีพีฟิล์มจากโจทก์เป็นจำนวนมากเกินจำนวนที่จะต้องใช้อย่างเห็นได้ชัดโดยจำเลยที่ 2 ไม่คำนึงถึงว่าจำเลยที่ 1 จะสามารถใช้วัสดุได้คุ้มกับราคาที่ต้องจ่ายไปหรือไม่ ส่อแสดงว่าประสงค์ได้อามิสสินจ้างในการทำสัญญาครั้งนี้จึงมีเจตนาทุจริต ซึ่งย่อมกระทบถึงผลประโยชน์ของรัฐที่อาจต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจากการซื้อวัสดุในราคาที่ขาดการแข่งขันตามความเป็นธรรมและความเหมาะสมแห่งสภาพวัสดุนั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยชัดแจ้งอีกโสดหนึ่ง และถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ร่วมกันเอาเปรียบต่อองค์การของรัฐส่อไปในทางแทรกแซงการบริหารในองค์การของรัฐจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทองค์การของรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2534 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการมีอำนาจกระทำการและจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว ตกลงทำสัญญาซื้อขายฉลาก โอพีพีฟิล์ม กับโจทก์ ราคาชิ้นละ 0.22 บาท ทุกเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 400,000 ชิ้น รวมแล้ว 57,600,000 ชิ้น ภายในระยะเวลา 6 ปี นับแต่วันที่ส่งมอบฉลากครั้งแรก เพื่อเป็นการตอบแทนโจทก์ได้มอบเครื่องปิดฉลากอัตโนมัติ POLY CLAD ซึ่งใช้เฉพาะปิดฉลากของจำเลย ไม่อาจนำไปใช้กับฉลากขนาดอื่นได้ ราคา 4,800,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยืมใช้ตลอดระยะเวลาสัญญา และจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญฝึกสอนพนักงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งซ่อมบำรุง ตลอดจนติดตั้งโดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมอบเครื่องปิดฉลากกึ่งอัตโนมัติ (เครื่องอบฟิล์มหด) ไว้สำรองกรณีเครื่องปิดฉลากอัตโนมัติใช้การไม่ได้ หากผิดสัญญายอมให้โจทก์เลิกสัญญาคิดค่าเสียหาย 4,800,000 บาท หลังทำสัญญาโจทก์ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติตามสัญญาแล้วเสียค่าใช้จ่ายไป 5,501,499.59 บาท ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2536 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ในฐานผู้อำนวยการมีอำนาจกระทำการ และจำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวตกลงทำบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาเดิมเพื่อขยายระยะเวลาสัญญาออกไปอีกไม่เกิน 1 ปี เพื่อซื้อฉลากในส่วนที่ยังขาดอยู่ให้ครบจำนวน 57,000,000 ชิ้น และมีการเพิ่มราคาฉลากขึ้น หลังทำสัญญาทั้งสองครั้งแล้วโจทก์มอบฉลากให้ครั้งแรกวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 แล้วมีการสั่งซื้อและส่งมอบตามที่จำเลยทั้งสามสั่งซื้ออีกหลายครั้ง จนกระทั่งกลางเดือนธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ขอแก้ไขแบบพิมพ์ฉลากและทำให้ราคาฉลากเพิ่มเป็นชิ้นละ 0.28 บาท ใช้ราคาใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2538 จากนั้นมีการสั่งซื้ออีกหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายจำเลยทั้งสามสั่งซื้อวันที่ 13 มิถุนายน 2539 รวมทั้งสิ้น 10,509,443 ชิ้น คงเหลือฉลากที่ต้องซื้อตามสัญญาอีก 47,090,557 ชิ้น จึงมีหนังสือแจ้งให้ปฏิบัติตามสัญญาใน 60 วัน มิฉะนั้น ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้สั่งซื้อฉลากจากโจทก์อีก โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสามชำระค่าใช้จ่ายที่โจทก์จ่ายไปเพื่อปฏิบัติตามสัญญาค่าจัดพิมพ์ฉลากไว้ล่วงหน้า ค่าขาดกำไร และค่าเสียหาย จำนวน 22,987,916.15 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2534 ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการกระทำไปนอกขอบอำนาจและไม่สุจริต ตกเป็นโมฆะ ทั้งบันทึกฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จำเลยที่ 3 กระทำไปในฐานะส่วนตัวไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ทำสัญญาในฐานะกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ทั้งจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เมื่อจำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ทำบันทึกแก้ไขสัญญาในฐานะผู้อำนวยการซึ่งมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำในฐานะส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 5,999,370.58 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,588,287 บาท นับถัดจากวันฟ้อง ฟ้องวันที่ 23 มีนาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทองค์การของรัฐบาลตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเอกสารหมาย ล.15 และ จ.2 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก มีผู้อำนวยการเป็นผู้กระทำการแทน และในการทำนิติกรรมต่าง ๆ ผู้อำนวยการจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2533 ตามเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งกำหนดวิธีการซื้อการจ้างไว้ 5 วิธี คือ วิธีตกลงราคา วิธีสอบราคา วิธีประกวดราคา วิธีพิเศษ และวิธีกรณีพิเศษ การซื้อแบบวิธีพิเศษเป็นการซื้อในกรณีตามข้อ 14 และกำหนดอำนาจผู้อำนวยการในการซื้อแบบวิธีพิเศษไว้ไม่เกิน 4,000,000 บาท ตามข้อ 45 ทั้งในการทำสัญญาจะต้องมีหลักประกันตามข้อ 47 และการทำสัญญาจะต้องทำตามแบบที่แนบท้ายข้อบังคับดังกล่าว สำหรับการทำสัญญาที่มีผลผูกพันงบประมาณข้ามปี จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2534 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นได้ทำสัญญาซื้อขายฉลากโอพีพีฟิล์มจากโจทก์ในนามของจำเลยที่ 1 จำนวน 57,600,000 ชิ้น โดยผู้ซื้อจะต้องสั่งซื้อเดือนละไม่น้อยกว่า 400,000 ชิ้น ภายในเวลา 6 ปี และโจทก์มอบเครื่องปิดฉลากอัตโนมัติ POLY CLAD และเครื่องปิดฉลากกึ่งอัตโนมัติให้ผู้ซื้อยืมใช้ ตามหนังสือสัญญาซื้อขายฉลากโอพีพีฟิล์ม เอกสารหมาย จ.3 (ตรงกับเอกสารหมาย ล.20) ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2536 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นทำบันทึกข้อความตกลงขยายเวลาตามหนังสือสัญญาซื้อขายฉลากโอพีพีฟิล์มเอกสารหมาย จ.3 ออกไปอีก 1 ปี ในนามของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายฉลากโอพีพีฟิล์ม เอกสารหมาย จ.4 (ตรงกับเอกสารหมาย ล.21)
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า สัญญาซื้อขายและบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายฉลากโอพีพีฟิล์มเป็นโมฆะหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้กระทำการปราศจากอำนาจนอกเหนืออำนาจโดยทราบดีว่าตนมีอำนาจดำเนินการได้เพียงใด แต่ยังฝ่าฝืนกระทำการไป ยังผลให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อขายและบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายฉลากโอพีพีฟิล์มดังกล่าว ดังนั้นทั้งสัญญาซื้อขายและบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาซื้อขายฉลากโอพีพีฟิล์มจึงเป็นนิติกรรมที่เกิดขึ้นจากความไม่สุจริตเป็นโมฆะไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์มีนายปกภพ ทนายโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 2 ว่า ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การของจำเลยที่ 1 มาตรา 22 กำหนดว่า ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกผู้อำนวยการเป็นผู้กระทำการในนามของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้กระทำการแทนและตามมาตรา 21 กำหนดว่าผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามข้อบังคับและนโยบายที่คณะกรรมการกำหนดและมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 และนายเผ่ากรรมการบริษัทโจทก์เบิกความว่าสัญญาพิพาทเอกสารหมาย จ.3 มาลงชื่อที่บริษัทโจทก์ นายไพศาลหัวหน้าแผนกนิติการมีหน้าที่ตรวจสอบสัญญาพิพาทเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า พยานเป็นผู้ร่วมร่างสัญญาพิพาท ในวันทำสัญญาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามในสัญญา โดยมิได้ไปลงนามด้วยตนเอง ตามข้อบังคับว่าด้วยพัสดุ พ.ศ.2533 เอกสารหมาย ล.1 ระบุวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไว้ แต่สัญญาตามเอกสารหมาย จ.3 มิได้ทำตามรูปแบบดังกล่าว มิได้ส่งไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ แต่สัญญานี้ทำตามระเบียบเดิมซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ก่อนมีเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งใช้บังคับเมื่อปี 2534 แต่ตามเอกสารหมาย ล.1 มีข้อความว่าให้ใช้ข้อบังคับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2533 เป็นต้นไป แต่เป็นการกรอกข้อความภายหลัง และสัญญาพิพาทเอกสารหมาย จ.3 ระบุทำวันที่ 1 มิถุนายน 2534 แต่วันทำสัญญาพิพาทยังไม่มีการกรอกข้อความวันที่มีผลบังคับใช้ในข้อ 3 เป็นทำนองว่าขณะทำสัญญาพิพาทเอกสารหมาย จ.3 ระเบียบตามเอกสารหมาย ล.1 ยังไม่มีผลบังคับใช้นายสมศักดิ์ นิติกรแผนกกฎหมายของจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ได้ตรวจสอบสัญญาเอกสารหมาย จ.3 เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบเอกสารหมาย จ.4 ว่ามีผลใช้บังคับได้หรือไม่ แต่ตรวจสอบเพียงว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนหรือไม่เท่านั้น ไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดว่าได้กระทำการไปตามข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ และเบิกความตอบคำถามค้าน
ทนายจำเลยที่ 1 ว่า มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้มีการตรวจสอบเอกสารดังกล่าวแต่มิได้ตรวจรายละเอียดว่าสัญญาได้ปฏิบัติเป็นไปตามข้อบังคับตามเอกสารหมาย ล.1 หรือไม่ รวมทั้งเอกสารหมาย จ.4 พยานก็มิได้ตรวจสอบว่ามีการปฏิบัติตามข้อบังคับ ตามเอกสารหมาย ล.1 หรือไม่ ส่วนจำเลยที่ 1 มีนางศิริพร หัวหน้ากองการบัญชีฝ่ายการบัญชีและการเงินซึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการแก้ไขปัญหากรณีการทำสัญญาซื้อขายฉลากรายพิพาทเบิกความว่า ผลการประชุมของคณะกรรมการฯได้ผลสรุปตามเอกสารหมาย ล.10 ซึ่งตามเอกสารนี้ ได้ความว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีอำนาจในการสั่งซื้อสิ่งของดังกล่าวตามข้อบังคับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2533 ข้อ 45 (3) และได้ดำเนินการทำสัญญาผูกพันข้ามปีงบประมาณเป็นระยะเวลา 7 ปี (รวมบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาที่ขยายเวลาต่อไปอีก 1 ปี) และเป็นสัญญาที่ผิดไปจากรูปแบบตัวอย่างสัญญาท้ายข้อบังคับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2533 โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่มีหลักประกันสัญญาอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2533 ข้อ 47 และ 48 นายมาโนช พนักงานจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหัวหน้าแผนกกฎหมายเบิกความว่า การทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจำเลยที่ 1 มีระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2533 ตามเอกสารหมาย ล.4 ระบุวิธีจัดซื้อจัดจ้างไว้โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างที่มีผลผูกพันหลายปี จะต้องคำนึงถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ด้วย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 มาตรา 3 บัญญัติว่า เมื่อรัฐบาลเห็นเป็นการสมควรจะจัดตั้งองค์การเพื่อดำเนินการอันเป็นสาธารณประโยชน์หรือเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจหรือช่วยเหลือในการครองชีพ หรืออำนวยบริการแก่ประชาชน โดยใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดินก็ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา บทบัญญัตินี้จึงเป็นแม่บทของพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 ที่จัดตั้งองค์การจำเลยที่ 1 ขึ้น จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและอยู่ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติว่ารัฐวิสาหกิจ หมายความว่า (ก) องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ ได้มีระเบียบข้อบังคับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2533 ตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งศาลล่างทั้งสองฟังยุติโดยโจทก์ไม่ฎีกาโต้แย้งว่าเป็นข้อบังคับที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะทำสัญญาพิพาทเอกสารหมาย จ.3 และข้อบังคับดังกล่าวข้อ 14 ระบุว่า “การซื้อโดยวิธีพิเศษได้แก่การซื้อครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกินกว่า 40,000 บาท ให้กระทำได้เฉพาะกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้
(1)…ฯลฯ
(2)…ฯลฯ
(3) เป็นพัสดุที่ต้องซื้อเร่งด่วน หากล่าช้าอาจเสียหายแก่ อ.ส.ค.
ข้อ 17 ระบุว่า ก่อนดำเนินการซื้อหรือจ้างทุกวิธี นอกจากการซื้อที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างตามข้อ 18 ให้เจ้าหน้าที่พัสดุทำรายงานเสนอผู้อำนวยการ ดังนี้
(1) เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องซื้อหรือจ้าง
(2) รายละเอียดของพัสดุที่จะซื้อหรืองานที่จะจ้าง
(3) ราคาพัสดุหรือค่าจ้างในท้องตลาดขณะนั้นที่สืบทราบหรือประมาณได้ และราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดประมาณ 3 ราย (ถ้ามี)
(4) วงเงินที่จะซื้อหรือจ้าง
(5) ประมาณเวลาที่ต้องการใช้พัสดุนั้นหรือให้งานนั้นแล้วเสร็จ
(6) วิธีที่จะซื้อหรือจ้างและเหตุผลที่ต้องซื้อหรือจ้างโดยวิธีนั้น
(7) ข้อเสนออื่น ๆ (ถ้ามี)
ในกรณีจะต้องดำเนินการซื้อหรือจ้างโดยวิธีพิเศษตามข้อ 14 (3) หรือ 15 (3) ซึ่งไม่อาจทราบงานตามปกติได้ เจ้าหน้าที่พัสดุหรือผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติงาน นั้น จะทำรายงานเฉพาะรายการที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้
ข้อ 19 ระบุว่า เมื่อผู้อำนวยการให้ความเห็นชอบตามรายงานที่เสนอตามข้อ 17 หรือข้อ 18 แล้ว ให้เจ้าหน้าที่พัสดุดำเนินการตามวิธีการซื้อหรือวิธีการจ้างนั้น ๆ ต่อไปได้
เมื่อตามข้อเท็จจริงได้ความข้างต้นปรากฏว่าการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษกรณีนี้มิได้มีหลักฐานว่าได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ไม่มีหลักฐานใด ๆ ว่า เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้ทำรายงานเสนอจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจสั่งซื้อถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องซื้อรายละเอียดของพัสดุ ราคามาตรฐานหรือราคากลางของทางราชการหรือราคาเคยซื้อครั้งหลังสุดประมาณ 3 ราย วงเงินที่จะซื้อ กำหนดเวลาที่ต้องการใช้พัสดุนั้น วิธีที่จะซื้อและเหตุผลที่ต้องซื้อโดยวิธีนั้นรวมทั้งการขออนุมัติแต่งตั้ง
คณะกรรมการต่าง ๆ ที่จำเป็นในการซื้อเพื่อให้ผู้อำนวยการเห็นชอบตามข้อ 19 จริงอยู่ทรัพย์ที่ทำการซื้อขายกันเป็นเพียงวัสดุสำหรับห่อหุ้มขวดนมเปรี้ยวซึ่งหากเป็นสัญญาระหว่างเอกชนด้วยกันซึ่งมีเงินทุนของตนเองทำธุรกิจจะทำสัญญาผูกพันกันนานเท่าใดก็ได้ แต่จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งใช้เงินงบประมาณแผ่นดินในการบริหารกิจการ การที่จำเลยที่ 2 เพียงแต่ลงชื่อในสัญญาเอกสารหมาย จ.3 แล้ว พนักงานนำไปให้โจทก์ลงชื่อที่สำนักงานโจทก์เช่นนี้โจทก์ก็ตกลงยินยอมทั้งที่ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 เป็นองค์การของรัฐบาลย่อมต้องมีระเบียบข้อบังคับในการดำเนินการ การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาผูกพันจะต้องซื้อวัสดุจากโจทก์ยาวนานต่อเนื่องไม่ขาดสายทุกเดือนเป็นเวลาถึง 7 ปี เป็นการเอื้อประโยชน์แก่โจทก์ โดยเชิงธุรกิจก็ย่อมต้องก่อให้เกิดความขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างเอกชนอื่นกับองค์การของจำเลยที่ 1 กล่าวคือทำให้เอกชนรายอื่นที่อาจจะเสนอราคาแเข่งขันกับโจทก์ตกเป็นผู้เสียเปรียบโจทก์เนื่องจากการใช้วิธีการพิเศษในการจัดซื้อนี้ นอกจากนี้ความจำเป็นในการนำไปใช้งานของวัสดุที่สั่งซื้อก็ปรากฏตามสำเนาบันทึกข้อความลงวันที่ 28 กันยายน 2543 ท้ายเอกสารหมาย ล.8 ข้อ 3 ที่จำเลยที่ 1 รายงานว่า …เนื่องจากได้พิจารณาปริมาณการสั่งซื้อตามสัญญา 57 ล้านชิ้น ในกำหนดระยะเวลา 6 ปี จะเฉลี่ยประมาณ 7 – 8 แสนชิ้นต่อเดือน ซึ่งขณะนั้นยอดขายนมเปรี้ยวอยู่ประมาณ 3 – 4 แสนขวดต่อเดือน จึงเป็นความชัดเจนว่า อ.ส.ค. ไม่สามารถซื้อฉลากได้ถึง 57 ล้านชิ้น ในกำหนดสัญญาได้… ซึ่งนายสมพร พนักงานจำเลยที่ 1 ตำแหน่งหัวหน้าแผนกพัสดุและบริการเบิกความว่า ได้ทำบันทึกแจ้งเกี่ยวกับเรื่องฉลากโอพีพีฟิล์มที่ยังเหลือใช้เนื่องจากเครื่องปิดฉลากเสียตามเอกสารหมาย ล.12 ระบุว่า มีของค้างในแผนกพัสดุบริการรสสับปะรดจำนวน 694,450 ชิ้น รสส้มจำนวน 1,319,455 ชิ้น รสสตรอเบอรี่จำนวน 555,560 ชิ้น รสมะนาวจำนวน 1,666,680 ชิ้น ของที่เหลืออยู่นี้คาดว่าคงไม่ได้ใช้อีกแล้ว… การทำสัญญาสั่งซื้อวัสดุเป็นจำนวนมากเกินจำนวนที่จะต้องใช้อย่างเห็นได้ชัดดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่คำนึงถึงว่าจำเลยที่ 1 จะสามารถใช้วัสดุได้คุ้มกับราคาที่ต้องจ่ายไปหรือไม่ ส่อแสดงว่าประสงค์ได้อามิสสินจ้าง ในการทำสัญญาครั้งนี้จึงมีเจตนาทุจริตดังที่โจทก์ฎีกามา ซึ่งย่อมกระทบถึงผลประโยชน์ของรัฐที่อาจต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินจากการซื้อวัสดุในราคาที่ขาดการแข่งขันตามความเป็นธรรมและความเหมาะสมแห่งสภาพวัสดุนั้น เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยชัดแจ้งอีกโสดหนึ่ง และถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ร่วมกันเอาเปรียบต่อองค์การของรัฐส่อไปในทางแทรกแซงการบริหารในองค์การของรัฐ จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แม้บางส่วนแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และชั้นฎีกาของจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ

Share