แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ระบุว่า เจ้าหนี้ได้ชำระเงินมัดจำและราคาบางส่วนตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ลูกหนี้ไปแล้วเป็นเงิน 819,840 บาท เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการนำห้องชุดที่จะซื้อขายออกขายทอดตลาดโดยมีผู้ซื้อไปแล้วการชำระหนี้ของลูกหนี้จึงตกเป็นพ้นวิสัยทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหายจึงขอรับชำระหนี้ตามจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ชำระให้แก่ลูกหนี้ เป็นการขอรับชำระหนี้ในหนี้เงินโดยไม่มีเจตนาที่จะขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขาย เจ้าหนี้จึงต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2883 มาตรา 27 ประกอบมาตรา 91 เมื่อเจ้าหนี้มิได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพยืปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดก่อน จึงไม่ต้องด้วยกรณีเจ้าหนี้ซึ่งได้รับความเสียหายมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับค่าเสียหายตามมาตรา 122 เจ้าหนี้จึงไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันทีในเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย)ทั้งสอง เด็ดขาด เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546 และพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2547
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าเงินมัดจำและราคาบางส่วนจากการซื้อกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดรวมเป็นเงิน 819,840 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งว่า สิทธิเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งเจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด คดีนี้ครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2546 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 23 กันยายน 2551 เมื่อพ้นกำหนดเวลาจึงเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายให้ยกคำขอรับชำระหนี้
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2535 เจ้าหนี้ทำสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดโครงการสาธรบริดจทาวเวอร์ ห้องเลขที่ 1708 ชั้นที่ 17 ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 20315 ตำบลบางลำภูล่าง (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอธนบุรี (บางลำภูล่าง) กรุงเทพมหานคร และโฉนดเลขที่ 850 ตำบลคลองต้นไทร (บางไส้ไก่ฝั่งเหนือ) อำเภอคลองสาน (บางลำภู) กรุงเทพมหานคร จากลูกหนี้ทั้งสอง โดยเจ้าหนี้ได้ชำระเงินมัดจำและราคาบางส่วนให้แก่ลูกหนี้ทั้งสองแล้วเป็นเงิน 819,840 บาท ส่วนเงินที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งลูกหนี้ทั้งสองจะแจ้งให้ทราบ และลูกหนี้ทั้งสองตกลงจะจัดหาสถาบันการเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่เจ้าหนี้แต่ยังไม่สามารถจัดหาได้ สัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวจึงมีผลผูกพันคู่สัญญาต่อไป เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2551 เจ้าหนี้เพิ่งทราบว่าศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาด เจ้าหนี้ได้ดำเนินการตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครสาขาธนบุรี ไม่พบโฉนดห้องชุดเลขที่ 1708 แต่อย่างใด เพราะสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวทำขึ้นก่อนที่มีการรังวัดแบ่งแยก แต่จากการตรวจสอบตรงกับโฉนดห้องชุดเลขที่ 190/88 ในปัจจุบัน ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการขายทอดตลาดไปแล้ว ทำให้การชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวตกเป็นพ้นวิสัยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ เจ้าหนี้จึงจำเป็นต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ดังกล่าว ขอให้มีคำสั่งกลับคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่างวดตามสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์เป็นเงิน 819,840 บาท เจ้าหนี้จึงตกอยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27 ประกอบมาตรา 91 ที่จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกว่าระยะเวลาตามกฎหมาย เจ้าหนี้จึงหามีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ไม่ และการที่ผู้ร้องทราบว่าลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายในภายหลังก็หาใช่พฤติการณ์พิเศษที่ศาลจะขยายระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ให้ได้ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ชอบแล้วยกคำร้อง
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาด และพิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2547 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 สิงหาคม 2546 ซึ่งครบกำหนดให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ วันที่ 20 ตุลาคม 2546
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ เจ้าหนี้อุทธรณ์อ้างว่า สิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ทั้งสองตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนโดยลูกหนี้ทั้งสองมีหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่เจ้าหนี้และเจ้าหนี้มีหน้าที่รับโอนและชำระเงินค่าห้องชุดตามที่กำหนดไว้ในสัญญา เจ้าหนี้อยู่ในฐานะบังคับให้ลูกหนี้ทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดเท่านั้น มิได้อยู่ในฐานะเรียกให้ลูกหนี้ทั้งสองชำระหนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้โดยตรง เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับราคาห้องชุดที่ชำระให้แก่ลูกหนี้ทั้งสองไปแล้วและค่าเสียหายที่ได้รับตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 92 เจ้าหนี้จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ทันทีตามมาตรา 91 ไม่ได้ เห็นว่า ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 27 ระบุว่า เจ้าหนี้ได้ชำระเงินมัดจำและราคาบางส่วนตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ลูกหนี้ทั้งสองไปแล้วเป็นเงิน819,840 บาท เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการนำห้องชุดที่จะซื้อขายออกขายทอดตลาดโดยมีผู้อื่นซื้อไปแล้ว การชำระหนี้ของลูกหนี้ทั้งสองจึงตกเป็นพ้นวิสัยไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ทำให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย จึงขอรับชำระหนี้ตามจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ชำระให้แก่ลูกหนี้ทั้งสอง เป็นการประสงค์ที่จะขอรับชำระหนี้ในหนี้เงินอย่างเห็นได้ชัด โดยไม่มีเจตนาที่จะขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุด เจ้าหนี้จึงต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 ประกอบมาตรา 91 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ซึ่งครบกำหนดให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในวันที่ 20 ตุลาคม 2546 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2551 จึงล่วงเลยกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะอ้างว่าเพิ่งทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสองเด็ดขาดแล้วมาขอรับชำระหนี้ในภายหลังก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยที่จะขยายระยะเวลาตามมาตรา 91 ออกไปโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ทำได้ อีกทั้งที่เจ้าหนี้อ้างว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 122 ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับค่าเสียหายได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 นับแต่วันที่อาจใช้สิทธิขอรับชำระหนี้ได้ ตามมาตรา 92 นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดก่อนแต่อย่างใด จึงไม่ต้องด้วยกรณีเจ้าหนี้ซึ่งได้รับความเสียหายมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับค่าเสียหายตามมาตรา 122 เจ้าหนี้จึงไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันที ในเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าว เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ