คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1649 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่จะมีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตายได้ จะต้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายได้ตั้งไว้ คดีนี้ ปรากฏว่าศาลได้ตั้งโจทก์ที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย หาใช่ผู้ตายตั้งโจทก์ที่ 3 ไม่ ดังนั้น โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตาย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์ที่ 3 จัดการและใช้จ่ายในการปลงศพผู้ตาย โจทก์ที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันจ่ายค่าทำศพให้โจทก์ที่ 3 ส่วนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกจึงเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ
ป.พ.พ. มาตรา 433 บัญญัติให้ผู้ทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวศาลจะต้องพิเคราะห์ถึงค่าปลงศพตามประเพณีและตามฐานานุรูปของผู้ตาย มิใช่ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดทั้งหมด
การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะศาลย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู และต้องพิจารณาว่าหากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะให้อุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใดและเป็นเวลานานเท่าใด
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 โดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบ และศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิของแต่ละคน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินข้างต้นพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม 4,230,357.24 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,936,721 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด เข้าร่วมเป็นจำเลย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,043,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์ทั้งสาม (ฟ้องวันที่ 19 ธันวาคม 2543) โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดเป็นเงินจำนวน 186,667 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยที่ 1 กับที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 1 กับที่ 2 และจำเลยร่วมใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ (ที่ถูก โจทก์ทั้งสาม) ชนะคดี ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,581,014 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์ทั้งสาม โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดจำนวน 186,667 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับทั้งฝ่ายโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน ทน 767 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2 มีจำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัย โดยประมาทเลินเล่อเฉี่ยวชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ธ – 3099 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้ขับ มีจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถ และจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับประกันภัย เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันดังกล่าวเสียหลักไปเฉี่ยวชนรถยนต์หมายเลขทะเบียน พล 7785 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 2 ได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ พันเอกเอนกซึ่งนั่งโดยสารมาในรถได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โจทก์ที่ 1 ซึ่งนั่งโดยสารมาในรถและเป็นภริยาของพันเอกเอนกได้รับบาดเจ็บและต้องขาดไร้อุปการะ และโจทก์ทั้งสามเสียค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพพันเอกเอนก จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนเชิด ส่วนจำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับ คดีในส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และคดีอาญาที่โจทก์ที่ 2 เป็นโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นจำเลย ข้อเท็จจริงยุติว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ก่อเหตุแต่ผู้เดียว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9431/2552
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า ค่ารักษาพยาบาลของพันเอกเอนก ผู้ตาย มีเพียงใด ภายหลังเกิดเหตุผู้ตายอยู่ในภาวะไม่รู้สึกตัว ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะด้านขวามีบาดแผลฉีกขาด ตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบว่าสมองช้ำและเลือดออกในสมอง แพทย์ผ่าตัดสมอง เจาะคอเพื่อช่วยการหายใจ ให้น้ำเกลือและให้อาหารทางสายยาง ผู้ตายรักษาตัวเป็นเวลา 7 เดือน จึงถึงแก่ความตาย ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผล ใบรับรองแพทย์ มรณบัตรใบรับรองการตาย และเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 1,914,316 บาท ตามใบเสร็จรับเงิน เห็นว่า แม้จะได้ความว่าก่อนเกิดเหตุผู้ตายมีโรคประจำตัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน และมรณบัตร ระบุสาเหตุการตายว่ามีโรคเบาหวานรวมอยู่ด้วย แต่นายแพทย์อำนาจทำการชันสูตรพลิกศพและตรวจศพแล้วระบุในใบรับรองการตายว่า การทำงานของหัวใจล้มเหลว สมองช้ำและฉีกขาด โดยเข้ารับการรักษาพยาบาลนับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2542 ถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2543 เป็นเวลา 7 เดือนเศษ ทั้งรายการค่ารักษาพยาบาลดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นค่ายา ค่าตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ค่าตรวจรักษา ค่าเครื่องช่วยหายใจ และค่าบริการห้องพิเศษ ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บของผู้ตายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 รวมเป็นเงิน 1,914,316 บาท โดยโจทก์ทั้งสามไม่อาจนำสืบแยกแยะได้ว่าค่ารักษาพยาบาลจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นเงินแน่นอนจำนวนเท่าใด เพราะมีค่ารักษาโรคประจำตัวคือโรคเบาหวานรวมอยู่ด้วย แต่หากผู้ตายไม่ได้รับบาดเจ็บจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 การรักษาโรคเบาหวานก็เป็นการดูแลรักษาไปตามอาการ และจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบและถามค้านพยานโจทก์ทั้งสามให้เห็นเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงินเพียง 500,000 บาท นั้น ต่ำเกินไป จึงเห็น สมควรกำหนดค่ารักษาพยาบาลของผู้ตายเพิ่มอีก 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,000,000 บาท ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ มีเพียงใด โดยโจทก์ทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามเสียค่าใช้จ่ายในการปลงศพมากกว่า 200,000 บาท และมีค่าใช้จ่ายในพิธีพระราชทานเพลิงศพ 300,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยก่อนว่า โจทก์ที่ 3 มีอำนาจฟ้องเรียกค่าปลงศพของพันเอกอเนกหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการดั่งว่านั้น” และวรรคสองบัญญัติว่า “ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น” เห็นว่า บทกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติโดยชัดแจ้งแล้วว่า ผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่จะมีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตายได้ จะต้องเป็นผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายได้ตั้งไว้ สำหรับคดีนี้ ปรากฏว่าศาลได้ตั้งโจทก์ที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกพันเอกอเนกผู้ตาย หาใช่พันเอกอเนกตั้งโจทก์ที่ 3 ไม่ ดังนั้น โจทก์ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพพันเอกอเนกผู้ตาย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าโจทก์ที่ 3 จัดการและใช้จ่ายในการปลงศพพันเอกอเนกผู้ตาย โจทก์ที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันจ่ายค่าทำศพให้โจทก์ที่ 3 ส่วนโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกจึงเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433 บัญญัติให้ผู้ทำละเมิดรับผิดใช้ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นด้วย ซึ่งการกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวศาลจะต้องพิเคราะห์ถึงค่าปลงศพตามประเพณีและตามฐานานุรูปของผู้ตาย มิใช่ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดทั้งหมด โจทก์ทั้งสามมีใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ 7 วัน และการทำบุญครบรอบ 30 วัน 50 วัน และ 100 วัน ค่าอาหารเลี้ยงผู้ที่มาร่วมงานศพ ค่าหนังสือพิมพ์โฆษณางานศพ รวมเป็นเงิน 227,779 บาท และมีใบเสร็จรับเงินค่าจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพ เมื่อคำนึงถึงประเพณีการจัดการศพและฐานานุรูปของผู้ตายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นเป็นเงิน 200,000 บาท เหมาะสมแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 1 มีเพียงใด เห็นว่า การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะศาลย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู และต้องพิจารณาว่าหากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะให้อุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใดและเป็นเวลานานเท่าใด ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ตายเป็นข้าราชการบำนาญขณะเกิดเหตุมีอายุ 73 ปี ได้รับเงินเดือนเดือนละ 20,000 บาทเศษ และโจทก์ที่ 1 มีอายุ 72 ปี ไม่ได้ประกอบอาชีพ ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณากำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้เป็นเวลา 8 ปี อัตราเดือนละ 7,000 บาท เป็นอัตราประมาณ 1 ใน 3 ส่วนของรายได้ผู้ตายนับว่าเหมาะสมตามสมควรและตามฐานะของผู้ตายและโจทก์ที่ 1 แล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 โดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบ และศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสามตามสิทธิของแต่ละคน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่ารักษาพยาบาลและค่าอุปกรณ์เครื่องใช้ผู้ป่วย 1,027,347 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม ใช้ค่าปลงศพ 200,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าขาดไร้อุปการะ 672,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถและค่าเสื่อมราคารถ 175,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และใช้ค่ารักษาพยาบาล 6,667 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวทุกจำนวน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นของโจทก์ที่ 3 ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share