แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีตำแหน่งเป็นเสมียนตรามีหน้าที่รับเงินและออกใบเสร็จรับเงิน เมื่อใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกไปมีข้อความหรือจำนวนเงินผิดพลาด จำเลยย่อมมีอำนาจหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง การแก้ไขดังกล่าวมิใช่การกระทำในขณะจำเลยหมดอำนาจที่จะแก้ไข จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จแต่การทำเอกสารอันเป็นเท็จดังกล่าวเพื่อให้สมเหตุผลในการยักยอกทรัพย์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวคือเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 147, 161, 162
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 162 (3) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ จำนวน 3 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จ จำคุก 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง และหลังจากเกิดเหตุจำเลยได้ชำระเงินคืนอำเภอไทยเจริญเพื่อนำส่งจังหวัดยโสธรจนครบถ้วนแล้ว มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 9 ปี 12 เดือน ฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จคงจำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 9 ปี 20 เดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (3) ความผิดฐานนี้ให้ยก สำหรับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ให้ลงโทษปรับกระทงละ 10,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 18 เดือน และปรับ 15,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้กำหนด 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชี 4 รักษาการในตำแหน่งเสมียนตราอำเภอไทยเจริญ มีหน้าที่เกี่ยวกับงานการเงินและบัญชี รวมทั้งการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งห้าแห่งในเขตอำเภอไทยเจริญ ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้นำส่งและจัดเก็บสำเนาใบเสร็จรับเงินไว้ เงินที่จำเลยจัดเก็บดังกล่าวจำเลยมีหน้าที่นำส่งจังหวัดยโสธรเป็นรายได้แผ่นดิน หากยังไม่นำส่งจำเลยต้องนำรายการที่รับไว้ดังกล่าวลงในรายงานคงเหลือประจำวัน แล้วนำเงินส่งมอบแก่คณะกรรมการเก็บรักษาเงินเพื่อนำเข้าเก็บในตู้นิรภัย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2546 จำเลยรับเงินค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ 2,845.03 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบลคำไผ่ วันที่ 18 กรกฎาคม 2546 จำเลยรับเงินค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ 4,129.99 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบลคำเตย วันที่ 1 สิงหาคม 2546 จำเลยรับเงินค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ 3,839.77 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำคำ วันที่ 30 กันยายน 2546 จำเลยรับเงินค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ 3,322.52 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบลส้มผ่อ และวันที่ 15 ตุลาคม 2546 จำเลยรับเงินค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ 1,870.18 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบลไทยเจริญ และจำเลยออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้นำส่งดังกล่าวตามลำดับ แต่จำเลยไม่ได้นำส่งเงินดังกล่าวแก่จังหวัดยโสธรเป็นรายได้ของแผ่นดินตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ.2520 และจำเลยนำสำเนาใบเสร็จรับเงินฉบับต้นขั้ว ซึ่งต้นฉบับออกให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลไทยเจริญเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2546 มาแก้ไขข้อความจากเดิมที่มีข้อความว่า ได้รับเงินจากองค์การบริหารส่วนตำบลไทยเจริญเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่จำนวน 1,870.18 บาท เป็นข้อความว่า ได้รับเงินจากองค์การบริหารส่วนตำบลคำไผ่เป็นค่าธรรมเนียมการพนันเพิ่มจำนวน 40 บาท ต่อมาปลายปี 2546 จังหวัดยโสธรมีหนังสือสอบถามอำเภอไทยเจริญที่ไม่ส่งเงินค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่แก่จังหวัด นายอำเภอไทยเจริญแต่งตั้งนายศราวุฒิ ปลัดอำเภอไทยเจริญ และนางบัวลอง เสมียนตราอำเภอไทยเจริญที่มารับตำแหน่งแทนจำเลย ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผลการตรวจสอบปรากฏว่าจำเลยไม่จัดส่งเงินค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ที่รับมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งห้าแห่งดังกล่าวแก่จังหวัดยโสธร เมื่อสอบถามจำเลย จำเลยนำเงิน 16,007.49 บาท ที่รับมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งห้าแห่งมาส่งคืนแก่อำเภอไทยเจริญ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยแก้ไขต้นขั้วใบเสร็จรับเงิน จากข้อความเดิมที่ว่า ได้รับเงินจากองค์การบริหารส่วนตำบลไทยเจริญเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่จำนวน 1,870.18 บาท เป็นข้อความว่า ได้รับเงินจากองค์การบริหารส่วนตำบลคำไผ่เป็นค่าธรรมเนียมการพนันเพิ่มจำนวน 40 บาท นั้น เป็นการกระทำในขณะที่จำเลยมีตำแหน่งเป็นเสมียนตราอำเภอไทยเจริญ มีหน้าที่รับเงินและออกใบเสร็จรับเงิน ซึ่งหากใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกไปในหน้าที่มีข้อความหรือจำนวนเงินผิดพลาด จำเลยย่อมมีอำนาจหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้องได้ การแก้ไขดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการกระทำในขณะที่จำเลยหมดอำนาจที่จะแก้ไขเอกสารแล้วดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย ดังนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จ แต่การทำเอกสารอันเป็นเท็จดังกล่าวเพื่อให้สมเหตุผลในการยักยอกทรัพย์ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวคือเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ กระทงที่ 3 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (3) ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ กระทงที่สาม ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ทั้ง 3 กระทงนั้น เมื่อลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งแล้วให้จำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน รวม 3 กระทง จำคุก 6 ปี 18 เดือน ไม่ปรับ ไม่รอการลงโทษ และไม่คุมความประพฤติของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3