คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถคันเกิดเหตุเป็นรถของผู้มีชื่อเอามาวิ่งร่วมวิ่งรับคนโดยสารในเส้นทางสัมปทานของจำเลยที่ 2 โดยแบ่งส่วนได้ให้จำเลยที่ 2 แต่เจ้าของรถต้องโอนรถให้มีชื่อบริษัทจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของในทะเบียนรถ คนขับ คนเก็บเงินต้องแต่งเครื่องแบบของบริษัท และรถก็ต้องทาสีของบริษัทด้วย ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้มีและใช้รถคันเกิดเหตุในกิจการของจำเลยที่ 2 แล้ว ต้องถือว่าจำเลยที่ 2เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด (อ้างฎีกาที่1576/2506)
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า เงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์เรียกร้องโจทก์ได้เรียกร้องในฐานะที่จำเลยละเมิดต่อร่างกายโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 แม้โจทก์จะไม่ได้ บรรยายรายละเอียดอันจะถือเป็นเกณฑ์คำนวณค่าเสียหายก็ดี หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ ศาลมีอำนาจที่จะกะค่าสินไหมทดแทนให้ตามสมควรแก่รูปคดีได้
จำเลยขอระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อสืบพยานโจทก์ฝ่ายที่ต้องนำสืบเสร็จแล้ว โดยอ้างว่าเป็นพยานสำคัญที่จำเลยจำเป็นจะต้องนำมาสืบเพื่อประโยชน์ในคดีของจำเลย หากศาลเห็นว่าแม้จะอนุญาตให้จำเลยสืบพยานตามที่ระบุไว้นั้น ก็ไม่ทำให้รูปคดีเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานเช่นว่านั้น จะไม่อนุญาตให้จำเลยอ้างพยานเพิ่มเติมก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วมากเกินสมควร เป็นเหตุให้รถคว่ำ โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส เป็นอัมพาตพิการไปตลอดชีวิต โจทก์ได้ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยก็เพิกเฉยจึงขอให้ศาลบังคับ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 มิใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มิได้ขับรถโดยประมาทรถเกิดอุบัติเหตุเป็นเหตุสุดวิสัยโจทก์ได้รับบาดเจ็บเพราะนั่งยื่นออกนอกรถเอง และโจทก์เป็นอัมพาตอยู่ก่อนแล้ว โจทก์ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย ค่าเสียหายโจทก์ฟ้องมากเกินความจริง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิอันใดที่จะให้จำเลยชำระเงิน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 ทำตัวเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 รถคว่ำเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายให้โจทก์ 33,330 บาท

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์นั้นสมควรแล้ว ที่จำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นระบุพยานเพิ่มเติมนั้น เห็นว่าไม่ควรอนุญาต พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า รถคันเกิดเหตุนี้เป็นของนายผัน นายผันได้เอามาร่วมวิ่งรับคนโดยสารในเส้นทางสัมปทานของจำเลยที่ 2 โดยแบ่งส่วนได้ให้จำเลยที่ 2 แต่นายผันต้องโอนรถคันนี้ให้มีชื่อบริษัทจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของในทะเบียนรถ คนขับ คนเก็บเงินต้องแต่งเครื่องแบบของบริษัท และรถก็ต้องทาสีของบริษัทด้วย ดังนี้ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้มีและใช้รถคันเกิดเหตุในกิจการของจำเลยที่ 2 แล้ว ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ดังนัยฎีกาที่ 1576/2506 ส่วนเรื่องค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยฎีกาขึ้นมาว่า ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างเรียกค่าเสียหายมารวม ๆ เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนแล้วว่า เงินค่าสินไหมทดแทนจำนวนนี้ โจทก์ได้เรียกร้องในฐานที่จำเลยละเมิดต่อร่างกายโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายรายละเอียดอันจะถือเป็นเกณฑ์คำนวณค่าเสียหายตามที่จำเลยฎีกาขึ้นมาก็ดี หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ ศาลมีอำนาจที่จะกะค่าสินไหมทดแทนให้ตามสมควรแก่รูปคดีได้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์รับราชการเป็นศึกษาธิการอำเภอออกรับบำนาญแล้วและได้ทำสวนของตนเอง เมื่อเกิดเหตุแล้วโจทก์กลายเป็นอัมพาตทำอะไรไม่ได้ ที่ศาลล่างกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ 30,600 บาทนั้น เห็นว่าพอสมควรแก่รูปคดีแล้ว ฎีกาจำเลยที่ขอให้ศาลฎีกาสั่งอนุญาตให้จำเลยอ้างและสืบพยานเพิ่มเติมนั้น เห็นว่า แม้จะอนุญาตให้จำเลยสืบพยานตามที่ระบุไว้นั้น ก็ไม่ทำให้รูปคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานเช่นว่านั้น

พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลยที่ 2

Share