คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 580/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาเป็นผู้กู้ แม้ในใจจริงจะถือว่าทำแทนผู้อื่น และไม่มีเจตนาให้ถูกผูกพันก็ตาม ก็ต้องถูกผูกพันตามที่ได้แสดงเจตนาออกมา เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจนั้น
แม้ผู้จัดการของนิติบุคคลโจทก์จะทราบความในใจดังกล่าวของจำเลยก็ตาม แต่เมื่อผู้จัดการนั้นกับจำเลยได้ตกลงกันไว้ว่า การกู้เงินครั้งนี้ก็เพื่อเอาเงินมาให้ผู้จัดการ และเมื่อกู้เงินได้แล้ว ผู้จัดการก็ได้รับเงินไปเป็นประโยชน์เฉพาะตัว ผู้จัดการก็ไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนนิติบุคคลตาม ป.พ.พ.มาตรา 80 ความรู้ของผู้จัดการจึงถือเป็นความรู้ของนิติบุคคลด้วยไม่ได้
กู้เงินธนาคารเพื่อเอาไปปลูกบ้านโดยตรงไม่ใช่กรณีบัญชีเดินสะพัด เรียกดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้.

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงมีว่าจำเลยที่ ๑ เซ็นสัญญากู้เงินธนาคารโจทก์เพื่อเอาไปปลูกบ้าน โดยสมรู้กับประธานกรรมการของธนาคารโจทก์เอง เพื่อให้ประธานกรรมการของธนาคารโจทก์ได้เงินกู้นั้น เมื่อธนาคารโจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ ๑ กู้เงินแล้ว ประธานกรรมการของธนาคารโจทก์เป็นผู้รับเงินที่ให้กู้นั้นไปเป็นประโยชน์ของตนแต่ผู้เดียว จำเลยที่ ๒ เซ็นสัญญาค้ำประกันซึ่งยังไม่กรอกข้อความให้ประธานกรรมการของโจทก์ ๆ เอาสัญญานี้ไปค้ำประกันจำเลยที่ ๑ โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นผู้รับเงินกู้หรือได้รับประโยชน์ใดสัญญาจึงไม่สมบูรณ์ และจำเลยที่ ๑ ไม่มีเจตนาผูกนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดด้วย และสัญญาค้ำประกันก็ไม่สมบูรณ์ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะฟังว่าในใจจริงจำเลยที่ ๑ ถือว่าทำแทนประธานกรรมการของธนาคารโจทก์ ไม่มีเจตนาให้ตนเองต้องผูกพันก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้แสดงเจตนาเป็นผู้กู้ ก็ต้องถูกผูกพันตามเจตนาที่แสดงออกนั้น ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๑๗ เพราะจะถือว่าโจทก์รู้ถึงเจตนาในใจจริงของจำเลยที่ ๑ ด้วยไม่ได้ แม้ประธานกรรมการของธนาคารโจทก์จะรู้เจตนาข้อนี้ของจำเลย แต่ในเรื่องนี้ประธานกรรมการของธนาคารโจทก์มีประโยชน์ได้เสียเป็นปฏิปักษ์กับธนาคารโจทก์เสียแล้วตาม ป.พ.พ.มาตรา ๘๐ จึงไม่มีอำนาจเป็นผู้แทนโจทก์ ความรู้ของประธานกรรมการธนาคารโจทก์จะถือเป็นความรู้ของโจทก์ด้วยไม่ได้
ส่วนจำเลยที่ ๒ แม้เซ็นสัญญาค้ำประกันโดยไม่รู้ว่าค้ำประกันใคร เรื่องอะไร ก็ต้องรับผิดตามสัญญานั้น เพราะเป็นการที่จำเลยที่ ๒ รู้อยู่ว่าตนได้เซ็นชื่อในสัญญาค้ำประกัน เป็นการยอมให้ประธานกรรมการธนาคารโจทก์นำไปกรอกข้อความเอาเองโดยไม่มีข้อจำกัดอย่างใด
การที่ธนาคารให้กู้ยืมเงินเพื่อเอาไปปลูกบ้านโดยตรง ไม่ใช่กรณีบัญชีเดินสะพัดของธนาคารพาณิชย์ จึงอ้างประเพณีการค้าเพื่อเก็บดอกเบี้ยทบต้นไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ.มาตรา ๖๕๕
พิพากษากลับ.

Share