แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาได้มีบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1482 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าต้องเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นต้องตามที่บัญญัติไว้ 4 ประการ จึงให้ถือว่าเป็นหนี้ร่วมกัน ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในระหว่างที่จำเลยกับผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นสามีภริยากันต้องสันนิษฐานว่าจำเลยกู้เงินโจทก์มาเพื่อใช้จ่ายในครอบครัวและเป็นหนี้ร่วมกันอันผู้ร้องขัดทรัพย์จะต้องชำระหนี้ด้วยเลย ดังนั้น เมื่อจำเลยกับผู้ร้องขัดทรัพย์ได้หย่าขาดจากสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และแบ่งทรัพย์สินกันเสร็จเรียบร้อย โจทก์ก็ไม่มีอำนาจจะยึดห้องแถวอันตกเป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์ได้
จำเลยกับผู้ร้องขัดทรัพย์ได้หย่าขาดจากสามีภริยากันโดยจดทะเบียนการหย่าโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมมีผลใช้ยันบุคคลภายนอกได้ด้วย.
ย่อยาว
คดีนี้ เนื่องจากโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญากู้ยืมเงิน ต่อมาทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยชำระเงินแก่โจทก์เป็นงวด ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ศาลออกหมายบังคับคดียึดทรัพย์ห้องแถว ๒ ห้อง ผู้ร้องร้องว่า ห้องแถวเลขที่ ๑๓๒/๑๓ ที่โจทก์นำยึดเป็นของผู้ร้อง เพราะเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๐๗ จำเลยกับผู้ร้องซึ่งเดิมเป็นสามีภริยากันได้จดทะเบียนหย่าจากการเป็นสามีภริยา ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์กันเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว โดยจำเลยได้ห้องเลขที่ ๑๓๒/๑๒ ผู้ร้องได้ห้องเลขที่ ๑๓๒/๑๓ ขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทคือห้องแถวเลขทะเบียนที่ ๑๓๒/๑๓
โจทก์ให้การว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์เมื่อครั้งเป็นสามีภริยากับผู้ร้อง กู้เพื่อใช้จ่ายในครอบครัวของจำเลย เพื่อประโยชน์ของจำเลยและผู้ร้องร่วมกัน ผู้ร้องทราบเรื่องดีไม่ได้คัดค้านการกู้เงิน การที่จำเลยและผู้ร้องจดทะเบียนหย่าและแบ่งทรัพย์กันเป็นการสมยอมเพื่อหลีกเลี่ยงการชำระหนี้ มิให้ทรัพย์ถูกบังคับชำระหนี้
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยกับผู้ร้องมิได้หย่ากันจริง ไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องอยู่รู้เห็นในเวลาจำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ พิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดคือห้องเลขที่ ๑๓๒/๑๓
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า ทรัพย์ที่ถูกยึดเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง จำเลยเป็นหนี้โจทก์ ในระหว่างที่จำเลยกับผู้ร้องเป็นสามีภริยากันต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยกู้มาเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว และเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างจำเลยกับผู้ร้องจะต้องชำระด้วยกัน ศาลฎีกาเห็นว่าหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาได้มีบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๒ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าต้องเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นตามที่บัญญัติไว้ ๔ ประการ จึงให้ถือว่าเป็นหนี้ร่วมกัน ไม่มีบทกฎหมายบัญญัติว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ในระหว่างที่จำเลยกับผู้ร้องขัดทรัพย์เป็นสามีภริยากันต้องสันนิษฐานว่าจำเลยกู้มาเพื่อใช้จ่ายในครอบครัว และเป็นหนี้ร่วมกัน ผู้รัองขัดทรัพย์จะต้องชำระหนี้ด้วยตามที่โจทก์ฎีกานั้นเลย ดังนั้น เมื่อจำเลยกับผู้ร้องขัดทรัพย์ได้หย่าขาดจากสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายและแบ่งทรัพย์กันเสร็จเรียบร้อยแล้ว โจทก์ก็ไม่มีอำนาจจะยึดห้องแถวเลขทะเบียนที่ ๑๓๒/๑๓ อันเป็นของผู้ร้องขัดทรัพย์ได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การหย่าร้างระหว่างจำเลยกับผู้ร้องเป็นการส่วนตัวไม่กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสของบุคคลทั้งสอง ฯลฯ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยกับผู้ร้องขัดทรัพย์ได้หย่าขาดจากสามีภริยากันโดยจดทะเบียนการหย่าโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๙๙ บัญญัติไว้แล้ว ย่อมมีผลใช้ยันบุคคลภายนอกได้ด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๑๑
พิพากษายืน.