แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยซื้อมาจากจำเลยจำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จำเลยไม่เคยขายให้โจทก์แต่ตอนหลังจำเลยกลับให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คำให้การจำเลยในตอนหลังจึงขัดกับคำให้การตอนแรกเป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นเรื่องที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดเป็นประเด็นไว้ก็ไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในเรื่องดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน 2 แปลงแปลงแรกเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ซื้อจากจำเลยเมื่อปี 2532 แปลงที่สองเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ ซื้อจากนายประสาร ฤทธิบูรณ์ บุตรชายจำเลยเมื่อปี 2531 หลังจากซื้อแล้ว โจทก์ให้จำเลยเช่าทำประโยชน์มาโดยตลอดต่อมาปี 2536 โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไป จึงบอกเลิกการเช่า ให้จำเลยออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลง จำเลยตกลงและยอมรับ แต่ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2536 จำเลยกลับบุกรุกเข้าไปไถทำประโยชน์ในที่ดินต่อไปอีก โจทก์แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยยอมรับว่าที่ดินเป็นของโจทก์และตกลงจะขอเช่าทำประโยชน์ต่อไป แต่ก็ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง โจทก์จึงร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหลายครั้งแต่ไม่สามารถบังคับจำเลยได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ที่ดินทั้งสองแปลงอาจให้ผู้อื่นเช่าได้ในราคาไร่ละ 400 บาท ต่อปี รวมค่าเช่าไม่ต่ำกว่าปีละ 12,400 บาท ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลง ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในที่ดิน ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายปีละ 12,400 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินทั้งสองแปลง
จำเลยให้การว่า ไม่ได้ขายแล้วเช่าที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้องแต่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์มาลงทุนทำไร่แล้วส่งข้าวโพดและถั่วให้โจทก์เป็นการชำระหนี้แทน โดยโจทก์ขอหลักฐานการเป็นเจ้าของที่ดินของจำเลยยึดถือไว้ ต่อมาโจทก์ต้องการได้ที่ดินของจำเลยและบุตรชายจึงหว่านล้อมให้จำเลยหลงเชื่อเช่าที่ดินแปลงอื่นเพื่อปลูกข้าวโพดและถั่วเพราะมีเนื้อที่มากขึ้นและสามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ส่วนที่ดินของจำเลยและบุตรชายใช้ทำไร่อ้อยต่อเนื่องกัน 3 ปี ไม่สามารถปลูกพืชไร่หมุนเวียนได้ จำเลยหลงเชื่อตกลงเช่าที่ดินกับโจทก์ ซึ่งไม่ใช่ที่ดินของจำเลยและบุตรชายตามฟ้อง สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นเอกสารปลอม ลายมือชื่อผู้ขายไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลย เมื่อปี 2536 โจทก์ไปร้องเรียนต่อทางอำเภออ้างว่าจำเลยขายที่ดินให้แล้วโจทก์ให้จำเลยเช่า จำเลยโต้แย้งคัดค้านว่าเป็นเรื่องหนี้สินที่ติดค้างกัน ไม่มีการซื้อขายที่ดินแต่อย่างใด เป็นเพียงการเช่าที่ดินแปลงอื่นซึ่งไม่ใช่แปลงของจำเลยและบุตรชาย นอกจากนี้ที่ดินของจำเลยและบุตรชายตามฟ้องเป็นป่าเสื่อมโทรมที่ยังไม่มีการเพิกถอน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายประสาร ฤทธิสมบูรณ์ บุตรชายจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จล.2 ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 7,967 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท ให้ยกฟ้องจำเลยร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จล.1 ด้วย ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีกปีละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินพิพาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 และ จล.1 ปัญหาข้อแรกที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ว่าที่ดินตามฟ้องเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ตามที่จำเลยอุทธรณ์นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยซื้อมาจากจำเลยและบุตรจำเลยจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและบุตร จำเลยและบุตรไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่ตอนหลังจำเลยกลับให้การมาด้วยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน คำให้การจำเลยในตอนหลังนี้จึงขัดกับคำให้การที่ให้การมาตอนแรก เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นเรื่องที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดเป็นประเด็นไว้ก็ไม่ชอบที่จะวินิจฉัยให้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่รับวินิจฉัยให้ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน