แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานพาอาวุธว่า จำเลยพาอาวุธมีดปลายแหลม ความยาวพร้อมด้ามประมาณ 1 ฟุต 1 เล่ม ติดตัวไปบริเวณสามแยกบ้านชมน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลชมเจริญ อำเภอปากชม จังหวัดเลย อันเป็นในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธติดตัวจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานและไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย แม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์จะระบุอ้าง ป.อ. มาตรา 371 ไว้ด้วยก็ตาม แต่ถ้อยคำที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า “โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธติดตัวจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานและไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย” มิใช่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ทั้งไม่อาจแปลว่าถ้อยคำนั้นมีความหมายว่าไม่มีเหตุสมควรตามที่โจทก์ฎีกาได้ เพราะคำฟ้องต้องบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่า จำเลยได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เมื่อโจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดดังกล่าวว่าเป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงบรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิด แม้จำเลยให้การรับสารภาพศาลก็จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 371 มิได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 371
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพในข้อหาพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ส่วนข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยให้การว่ากระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ
ระหว่างพิจารณานายธดุงศักดิ์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น และโจทก์ร่วมโดยนายเจริญฤทธิ์หรือสัมฤทธิ์ ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 80,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
วันนัดสืบพยานจำเลย นายไสว บิดาจำเลย ตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายเจริญฤทธิ์ ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ร่วมเป็นเงิน 25,000 บาท นายเจริญฤทธิ์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยอีก
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 10 ปี และปรับ 100 บาท จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษสำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรกึ่งหนึ่ง และลดโทษสำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นหนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน และปรับ 50 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพาอาวุธมีดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ลดโทษสำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยแก้ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ เป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานพาอาวุธว่า จำเลยพาอาวุธมีดปลายแหลม ความยาวพร้อมด้ามประมาณ 1 ฟุต 1 เล่ม ติดตัวไปบริเวณสามแยกบ้านชมน้อย หมู่ที่ 2 ตำบลชมเจริญ อำเภอปากชม จังหวัดเลย อันเป็นในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธติดตัวจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัว เมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานและไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมาย แม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์จะระบุอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ไว้ด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้กล่าวบรรยายในฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดว่าเป็นการพาอาวุธโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงบรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิด แม้จำเลยให้การรับสารภาพศาลก็จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 371 มิได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ทั้งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ที่โจทก์ฎีกาว่า ข้อความที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า โดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธติดตัวจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัว เมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานและไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมายมีความหมายว่าพาอาวุธไปโดยไม่มีเหตุสมควร เห็นว่า ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ทั้งไม่อาจแปลความว่าถ้อยคำมีความหมายว่าไม่มีเหตุสมควรตามที่โจทก์ฎีกาได้ เพราะคำฟ้องต้องบรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น