คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8401/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป. ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อบริษัท บ. ซึ่งเป็นนายจ้างโดยรวบรวมเงินจากลูกค้าและพนักงานในสาขาแล้วส่งให้บริษัท บ. ไม่ครบรวม 16 ครั้ง เป็นเงิน 616,635.32 บาท แล้ว ป. ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ขอผ่อนชำระเงินดังกล่าวแก่บริษัท บ. แต่ ป. ไม่ชำระตามที่รับสภาพหนี้ไว้ บริษัท บ. จึงฟ้อง ป. ต่อศาลแรงงานกลางให้ชำระหนี้ดังกล่าวเป็นคดีเดิม ต่อมาบริษัท บ. ตรวจสอบพบว่า ป. ได้รวบรวมเงินจากลูกค้าและพนักงานในสาขาแล้วส่งให้บริษัท บ. ไม่ครบ เพิ่มอีก 5 ครั้ง จึงให้ ป. ทำหนังสือรับสภาพหนี้เพิ่มแล้วนำยอดหนี้ดังกล่าวฟ้อง ป. ต่อศาลแรงงานกลางให้ชำระหนี้เป็นอีกคดีหนึ่ง ส่วนคดีนี้บริษัท บ. รวบรวมความเสียหายอื่นที่ ป. ก่อให้เกิดขึ้นคนละคราวกับสองคดีก่อนซึ่งเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระและเป็นการฟ้องเรียกหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้แต่ละฉบับโดยมีค่าปรับที่ต้องชำระแต่ละคราวรวมอยู่ด้วย บริษัท บ. จึงไม่จำต้องนำยอดหนี้อื่นนอกเหนือจากยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่ ป. ตกลงจะชำระให้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากแล้วผิดนัดมารวมฟ้องเป็นคดีเดียวกัน ฟ้องคดีนี้จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงมิใช่เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
บริษัท บ. ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ป. ฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,374,428 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีหมายแดงที่ 2021/2543 และที่ 5702/2543 ของศาลแรงงานกลางหรือไม่ เห็นว่า ในช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหลายคราว โจทก์นำความเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 เก็บรวบรวมเงินจากลูกค้าและพนักงานในสาขาแล้วส่งให้โจทก์ไม่ครบรวม 16 ครั้ง เป็นเงิน 616,635.32 บาท มาให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ และจำเลยที่ 1 ก็ยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้จะชำระเงินดังกล่าวพร้อมค่าปรับอีก 172,658 บาท รวมเป็นเงิน 789,293.32 บาท โดยจำเลยที่ 1 ขอผ่อนชำระ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ชำระให้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 163/2543 หมายเลขแดงที่ 2021/2543 นอกจากนี้โจทก์นำความเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 เก็บรวบรวมเงินจากลูกค้าและพนักงานในสาขาแล้วส่งให้โจทก์ไม่ครบอีก 5 ครั้ง เป็นเงิน 138,825 บาท มาให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ และจำเลยที่ 1 ก็ยอมทำหนังสือรับสภาพหนี้จะชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมค่าปรับอีก 19,435 บาท รวมเป็นเงิน 158,260 บาท โดยจำเลยที่ 1 ขอผ่อนชำระแต่จำเลยที่ 1 ชำระให้เพียงงวดเดียวเท่านั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 346/2543 หมายเลขแดงที่ 5702/2543 สำหรับความเสียหายอื่นอีกหลายคราวที่จำเลยที่ 1 กระทำต่อโจทก์นั้น โจทก์ได้รวบรวมมาฟ้องเป็นคดีนี้ ดังนั้น ความเสียหายที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาจากจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนทั้งสองดังกล่าวนอกจากจะเป็นความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นคนละคราวกับคดีนี้ซึ่งเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันแล้ว การฟ้องในคดีก่อนยังเป็นการเรียกหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้แต่ละฉบับซึ่งโจทก์นำมารวมคำนวณเป็นคราว ๆ ไป โดยมีค่าปรับที่ต้องชำระแต่ละคราวรวมอยู่ด้วย ซึ่งทำให้เกิดยอดหนี้ใหม่ขึ้น โจทก์จึงไม่จำต้องนำยอดหนี้อื่นนอกเหนือจากยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระให้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากแล้วผิดนัดมารวมฟ้องเป็นคดีเดียวกัน ฟ้องของโจทก์คดีนี้มิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงมิใช่เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 2021/2543 และที่ 5702/2543 ของศาลแรงงานกลาง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น จำเลยที่ 1 กระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หลายคราวเฉพาะที่คำนวณได้ในคดีนี้รวมเป็นเงิน 1,374,428 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระหนี้ในคดีนี้จำนวน 1,374,428 บาท ให้แก่โจทก์
ส่วนปัญหาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่นั้น แม้ศาลแรงงานกลางจะยังมิได้วินิจฉัยมาแต่คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อน และเห็นว่าโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานกลางอยู่ด้วย เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดอายุความในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 นับแต่เดือนมีนาคม 2539 ซึ่งจำเลยที่ 1 เริ่มกระทำผิด สัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ตามฟ้องจนถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งวันฟ้องคดีนี้ยังไม่ถึง 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ หนี้รายนี้เป็นหนี้เงิน จำเลยที่ 1 จึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจึงให้ตามที่ขอ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,374,428 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.

Share