คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3396/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าว ไว้ในกฎหมายล้มละลายเท่านั้น แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียัง อยู่ในระหว่างการพิจารณา หรือเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเว้นแต่เจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักรเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกิน2 เดือน ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 27 และ 91 เมื่อเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและมิได้อยู่นอกราชอาณาจักร ได้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้รายนี้เกินกำหนดเวลาตามที่กฎหมายระบุ ไว้ถึง 5 เดือนเศษ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติ แห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ของ ลูกหนี้ที่ 2 ที่เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้รายนี้นำยึด ก็ เพราะปรากฏว่าโรงงานแห่งนั้นติดการจำนองโดยลูกหนี้ที่ 2 ได้เอาจำนองไว้แก่ธนาคารมาก่อนที่จะถูกยึด เมื่อ เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดโรงงานที่ว่านี้อย่าง ปลอดจำนองโดยมิได้แจ้งให้ธนาคารผู้รับจำนองทราบ ย่อม เป็นการไม่ชอบ และศาลชั้นต้นคงสั่งเพิกถอนเฉพาะการ ขายทอดตลาดโรงงานดังกล่าว แต่การยึดยังมีผลอยู่ หาถูกเพิกถอนไปแต่อย่างใดไม่ จึงถือไม่ได้ว่า เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายตามนัยบทบัญญัติมาตรา 115 ที่จะให้สิทธิแก่ เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์รายวันและใน ราชกิจจานุเบกษาแล้ว เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ก็ต้องผูกพัน ที่จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับ แต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ถ้าให้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้เกินกำหนดเวลา ดังกล่าวก็เท่ากับเป็นการขยายกำหนดเวลาตามมาตรา 91 ออกไป อาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่บรรดาเจ้าหนี้อื่น และลูกหนี้ ทั้งไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ทำได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสอง(จำเลยทั้งสอง) เด็ดขาด เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ 2 (จำเลยที่ 2)เด็ดขาดในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับลงวันที่ 8 กันยายน 2524 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 15 กันยายน 2524 ครบกำหนดที่เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2524 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 27 และ 91ครั้นวันที่ 20 เมษายน 2525 เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลุกหนี้ที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 287,550 บาท โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ที่ 2

เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้รายที่ 2 โต้แย้งว่าเจ้าหนี้รายนี้ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการสอบสวนและเสนอความต่อศาลชั้นต้นว่าควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้เสียทั้งสิ้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้รายนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2512 เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ได้ทำสัญญาเช่าซื้อที่ดินของลูกหนี้ที่ 2 (จำเลยที่ 2) ตามโฉนดที่ 4102 เนื้อที่ 680 ตารางวา ในราคา 102,000 บาท เมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว ลูกหนี้ที่ 2 ไม่ยอมโอนที่ดินให้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้จึงเป็นโจทก์ฟ้องลูกหนี้ที่ 2 ต่อศาลชั้นต้น ในที่สุดทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลโดยลูกหนี้ที่ 2 ยอมโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 418, 4183 ซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดที่ 4102 ให้แก่เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้โดยปลอดจำนองภายในกำหนดเวลา 3 เดือนนับแต่วันทำยอม หากลูกหนี้ที่ 2 ผิดนัดให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และถ้าลูกหนี้ที่ 2 ไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ลูกหนี้ที่ 2 ยอมชำระเงินจำนวน 287,550 บาทแก่เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ และศาลได้พิพากษาตามยอม ต่อมาลูกหนี้ที่ 2ไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้จึงนำยึดโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์โดยอ้างว่าปลูกอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 4182,4183 เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาด และยังมิได้จ่ายเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาดให้แก่เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ ต่อมาเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้โอนทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ในคดีดังกล่าวไปไว้ในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ตรวจสำนวนจึงได้ทราบว่าโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ของลูกหนี้ที่ 2 ที่เจ้าหนี้ผู้รับชำระหนี้ได้นำยึดและขายทอดตลาดไปแล้วนั้น ธนาคารได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโดยอ้างว่าโรงงานดังกล่าวอยู่ในที่ดินแปลงอื่นของลูกหนี้ที่ 2 ที่ได้เอาจำนองไว้แก่ธนาคาร และการขายทอดตลาดมิได้แจ้งให้ผู้รับจำนองทราบ ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดโรงงานดังกล่าวนั้น และมิได้ติดต่อแจ้งให้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ทราบ เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้เพิ่งทราบว่าลูกหนี้ที่ 2ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้รายนี้

ปัญหาว่า เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้รายนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 หรือจำเลยที่ 2 เกินกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักทรัพย์เด็ดขาดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วเจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในกฎหมายล้มละลายเท่านั้น แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าที่ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณา หรือเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ ก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เว้นแต่เจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาอีกได้ไม่เกิน 2 เดือน ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 27 และ 91 เมื่อเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและมิได้อยู่นอกราชอาณาจักร ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้รายนี้เกินกำหนดเวลาตามที่ระบุไว้ถึง 5 เดือนเศษ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ส่วนกรณีที่ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ของลูกหนี้ที่ 2 ที่เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้รายนี้นำยึดก็เพราะปรากฏว่าโรงงานแห่งนั้นติดภารจำนองโดยลูกหนี้ที่ 2 ได้เอาจำนองไว้แก่ธนาคารมาก่อนที่จะถูกยึด เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดโรงงานที่ว่านี้อย่างปลอดจำนองโดยมิได้แจ้งให้ธนาคารผู้รับจำนองทราบ ย่อมเป็นการไม่ชอบ และศาลชั้นต้นคงสั่งเพิกถอนเฉพาะการขายทอดตลาดโรงงานดังกล่าว แต่การยึดยังมีผลอยู่หาถูกเพิกถอนไปด้วยแต่อย่างใดไม่ จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายตามนัยบทบัญญัติมาตรา 115 ที่จะให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ที่เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้อ้างถึงการไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้ที่ 2 เป็นเหตุให้ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้รายนี้ได้ตามกำหนดเวลานั้นเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ประกาศโฆษณาคำสั่งพิทักทรัพย์ลูกหนี้ที่ 2 เด้ดขาดในหนังสือพิมพ์รายวันและในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ก็ต้องผูกพันที่จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ถ้าให้เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้เกินกำหนดเวลาก็เท่ากับเป็นการขยายกำหนดเวลาตามมาตรา 91 ออกไปอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่บรรดาเจ้าหนี้อื่นและลูกหนี้ ทั้งไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ทำได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 3012/2524)

พิพากษายืน

Share