คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1840/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ผู้ตายทำพินัยกรรมโดยระบุให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก แต่การตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมกรณีนี้หามีผลสมบูรณ์โดยเด็ดขาดไม่ เพราะผู้คัดค้านได้คัดค้านไว้ว่า ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรม ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ตาย จึงเป็นพินัยกรรมปลอม กรณีจึงถือว่ามีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ดังนั้น ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตาย จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคสอง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นผู้ปกครองสถานสงเคราะห์คนชราเฉลิมราชกุมารี (หลวงพ่อเปิ่นอุปถัมภ์) สังกัดองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จังหวัดนครปฐม ซึ่งนางสาวไพบูลย์ผู้ตาย ได้เข้ารับการสงเคราะห์นางสาวไพบูลย์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2547 ด้วยสาเหตุหัวใจล้มเหลว ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายมีทรัพย์มรดกคือเงินฝากที่สถานสงเคราะห์คนชรา 674,616.29 บาท และผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2544 ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แต่มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกมีพินัยกรรมของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นพี่ร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย โดยบิดามารดาและพี่น้องคนอื่นถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมตามคำร้องเพราะมิใช่ลายมือชื่อของผู้ตายจึงเป็นพินัยกรรมปลอม ผู้คัดค้านเป็นทายาทของผู้ตายและไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นสอบถามผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องแถลงว่า สถานสงเคราะห์คนชราเฉลิมราชกุมารี (หลวงพ่อเปิ่นอุปถัมภ์) ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดไต่สวนแล้วสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องขอของผู้ร้องและผู้คัดค้านต่อไปแล้วมีคำสั่งตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามที่กำหนดไว้ในพินัยกรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1712 บัญญัติว่า ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจตั้งขึ้นได้ (1) โดยผู้ทำพินัยกรรมเอง (2) โดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ตั้ง คดีนี้ผู้ตายทำพินัยกรรมระบุไว้ว่า เมื่อข้าพเจ้านางสาวไพบูลย์เสียชีวิตลงข้าพเจ้าขอมอบให้ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์คนชราเฉลิมราชกุมารี (หลวงพ่อเปิ่นอุปถัมภ์) เป็นผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้า แม้ผู้ร้องจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ในภายหลังผู้ตายทำพินัยกรรมแต่ผู้ตายก็ถึงแก่ความตายหลังจากผู้ร้องได้รับการแต่งตั้งแล้ว และเป็นการแต่งตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา มีตำแหน่งเป็นผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยพินัยกรรม ไม่ใช่เป็นการแต่งตั้งสถานสงเคราะห์ซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลให้เป็นผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด และการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมกรณีนี้หามีผลสมบูรณ์โดยเด็ดขาดไม่เพราะผู้คัดค้านได้คัดค้านไว้ว่า ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรม ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ตาย จึงเป็นพินัยกรรมปลอม กรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตายแล้ว ดังนั้น ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตาย จึงต้องมายื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคสอง นอกจากนี้ผู้คัดค้านยังขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องและขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ด้วย ประเด็นเรื่องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านยังไม่ได้รับการวินิจฉัย คำคัดค้านของผู้คัดค้านหาตกไปไม่ ศาลต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนต่อไป แล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่.

Share