คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 840/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้และคดีอาญา 35 คดี ดังกล่าว จำเลยเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยด้วยในทุกคดี โดยจำเลยถือโอกาสที่เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์และเอกสารโดยมีเจตนาเพื่อเบียดบังเอาเงินของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านที่มอบหมายให้จำเลยนำไปชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านไปเป็นประโยชน์ส่วนตนลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งโจทก์อาจยื่นฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดเป็นสำนวนเดียวกันได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (2)
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดโดยให้นับโทษต่อรวมแล้วเกิน 20 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว หากปรากฏว่าการนับโทษต่อขัดต่อ ป.อ. มาตรา 91 (1) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีคำสั่งแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่ให้ถูกต้องได้ ไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพราะเป็นเรื่องการบังคับคดี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 264, 265, 268, 352 ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4186/2546 ถึง 4207/2546, 52/2547 ถึง 54/2547 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 121/2547 ถึง 127/2547 และ 155/2547 ถึง 157/2547 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 9,540 บาท แก่ผู้เสียหาย และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก, 265 และ 268 วรรคแรก ประกอบ มาตรา 265 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานยักยอก จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 9 กระทง เป็นจำคุก 9 เดือน ฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิที่จำเลยปลอมนั้นเอง ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ตามมาตรา 268 วรรคสอง จำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 9 กระทง เป็นจำคุก 54 เดือน รวมเป็นจำคุก 63 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 31 เดือน 15 วัน นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 153/2547 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 114/2547 ของศาลชั้นต้น ส่วนที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 155/2547 และ 156/2547 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ และที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นๆ อีก ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาให้นับโทษต่อแล้ว จึงให้ยกคำขอ ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 9,540 บาท แก่ผู้เสียหาย และริบของกลาง
จำเลยยื่นคำร้องว่า ก่อนคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว 35 คดี รวมจำคุก 10 ปี 326 เดือน 15 วัน โดยนับโทษต่อกันทุกคดี รวมคดีนี้แล้วเป็นจำคุก 10 ปี 358 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4186/2546 ถึง 4207/2546, 52/2547 ถึง 54/2547 และ 105/2547 ถึง 114/2547 ของศาลชั้นต้น คดีนี้กับอาญา 35 คดีดังกล่าวเป็นคดีที่มีลักษณะแห่งคดีและความผิดอย่างเดียวกัน แต่โจทก์แยกฟ้องเป็นรายสำนวนและศาลชั้นต้นมิได้สั่งรวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน เมื่อศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกในคดีก่อนที่ศาลนับโทษต่อกันครบ 20 ปี แล้ว จึงไม่อาจนับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 114/2547 ของศาลชั้นต้น ขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดคดีนี้ให้จำเลยใหม่ โดยนับโทษคดีนี้นับแต่วันมีคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดเสียใหม่ โดยไม่นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 114/2547 ของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นนับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 114/2547 ของศาลชั้นต้นได้นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยมาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ว่า คดีนี้กับคดีอาญา 35 คดีดังกล่าวซึ่งรวมถึงคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 114/2547 ของศาลชั้นต้น จำเลยกระทำความผิดในขณะเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านบางไทรรับมอบเงินจากชาวบ้านที่ชำระเงินกู้ยืมคืนกองทุนหมูบ้านบางไทร แล้วจำเลยยักยอกเงินดังกล่าวไป โดยปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิที่จำเลยปลอมขึ้นเป็นหลักฐานการชำระเงินกู้ยืมคืน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญา 35 คดีดังกล่าว โดยนับโทษต่อกันครบ 20 ปีแล้ว เห็นว่า ขณะที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้และคดีอาญา 35 คดีดังกล่าว จำเลยเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านบางไทยซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยด้วยในทุกคดีโดยจำเลยถือโอกาสที่เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านบางไทรกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์และเอกสาร โดยมีเจตนาเพื่อเบียดบังเอาเงินของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านบางไทรที่มอบหมายให้จำเลยนำไปชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านบางไทรไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งโจทก์อาจยื่นฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดเป็นสำนวนเดียวกันได้ คดีนี้และคดีอาญา 35 คดีดังกล่าวจึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) กล่าวคือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วจะเกินกว่า 20 ปีไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาและออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่โดยไม่ให้นับโทษต่อจากโทษต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 114/2547 ของศาลชั้นต้น เป็นการแก้ไขคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดโดยให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 114/2547 ของศาลชั้นต้น รวมแล้วเกิน 20 ปี จนคดีถึงที่สุดแล้วก็ตามหากปรากฏว่าการนับโทษต่อดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (1) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีคำสั่งแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่ให้ถูกต้อง เป็นนับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลยแดงที่ 114/2547 ของศาลชั้นต้นได้ ไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องการบังคับคดีที่ศาลจะต้องออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่โดยไม่นับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 114/2547 ของศาลชั้นต้นนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.

Share