แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 ให้ยกคำร้องขอคืนของกลาง โดยให้เหตุผลว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบตามคำร้อง เท่ากับศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชีขาดคดีไปแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลางอีกครั้งในวันที่ 20 มีนาคม 2544 โดยอ้างเหตุว่าผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปขับ ซึ่งเป็นอย่างเดียวกันกับคำร้องฉบับแรกจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้าม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 134 วรรคหนึ่ง 160 ทวิ และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 19 มิถุนายน 2543 ว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้องที่ผู้ร้องให้จำเลยเช่าซื้อไป ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการที่จำเลยกระทำความผิด ขอให้สั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 เมื่อถึงวันนัดผู้ร้องไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องและยกคำร้องต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2544 ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนของกลางอีกครั้ง
ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องแล้วให้งดไต่สวนคำร้อง และมีคำสั่งว่าคดีนี้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีของผู้ร้องในการขอคืนของกลางไปแล้ว การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอคืนของกลางอีก เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ความปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง โดยให้เหตุผลว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบตามคำร้อง เท่ากับศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลางในคดีนี้อีกครั้งในวันที่ 20 มีนาคม 2544 โดยอ้างเหตุว่าผู้ร้องไม่รู้เห็นเป็นใจให้จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปขับ ซึ่งเป็นอย่างเดียวกันกับคำร้องฉบับแรกที่ถูกศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องไปแล้วกรณีจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.