คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8399/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือของกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้แนบท้ายอุทธรณ์ระบุว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษได้หลายคน แต่ตามหนังสือดังกล่าวปรากฏว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในวันเวลาก่อนที่จำเลยจะถูกจับกุมดำเนินคดีนี้ และไม่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยถูกจับกุมเป็นคดีนี้แล้ว จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 26, 66, 76, 100/1, 102 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4, 5, 6, 62, 106, 116 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 58, 91, 92 ริบเมทแอมเฟตามีน กัญชาแห้งอัดแท่ง ใบพืชกระท่อมสด และอัลปราโซแลมของกลาง เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม และนับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 234/2556 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 731/2556 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 428/2556 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 424/2556 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 26 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง, 76 วรรคหนึ่งและวรรคสอง พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคสอง พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก วรรคสอง) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 15 ปี และปรับ 1,000,000 บาท ฐานมีกัญชาและพืชกระท่อมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 เดือน ฐานมีอัลปราโซแลมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 3,000 บาท ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 15 ปี 3 เดือน และปรับ 1,004,000 บาท เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 20 ปี 4 เดือน และปรับ 1,338,666.67 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี 2 เดือน และปรับ 669,333.34 บาท ให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 234/2556 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 731/2556 ของศาลชั้นต้น หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน กัญชาแห้งอัดแท่ง ใบพืชกระท่อมสดและอัลปราโซแลมของกลาง ส่วนคำขอให้นับโทษต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 428/2556 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 424/2556 ของศาลชั้นต้นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 10 ปี และปรับ 550,000 บาท ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 30 บาท เมื่อรวมกับโทษปรับ 3,000 บาท ในความผิดฐานมีอัลปราโซแลมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และจำคุก 3 เดือน ในความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยแล้ว เป็นจำคุก 10 ปี 3 เดือน และปรับ 553,030 บาท เพิ่มโทษหนึ่งในสามเฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุก 13 ปี 8 เดือน และปรับ 736,363.33 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 ปี 10 เดือน และปรับ 368,181.66 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ขอให้ลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เห็นว่า ตามหนังสือของกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้แนบท้ายอุทธรณ์ระบุว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษได้หลายคน แต่ตามหนังสือดังกล่าวปรากฏว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2555 วันที่ 31 สิงหาคม 2555 และวันที่ 4 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นวันเวลาก่อนที่จำเลยจะถูกจับกุมดำเนินคดีนี้ และไม่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยถูกจับกุมเป็นคดีนี้แล้ว จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share