คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1459/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎหมายป่าไม้บัญญัติแยกความผิดฐานแปรรูปไม้กับมีไม้แปรรูปไว้ต่างหากจากกัน กล่าวคือ การแปรรูปไม้ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเนื้อไม้เท่าใดก็ตาม หากมิได้รับอนุญาตแล้วย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น เว้นแต่จะเข้ากรณียกเว้นตามมาตรา 50 เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติยกเว้นไว้อย่างกรณีมีไม้แปรรูปซึ่งหากมีจำนวนไม่เกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตรแล้ว ก็ไม่จำต้องขอรับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 21/2511)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันแปรรูปไม้สักท่อนอันเป็นไม้หวงห้ามจำนวน ๑ ท่อน โดยเลื่อยเปิดปีก ๔ ด้านเป็นไม้เหลี่ยมมีจำนวนเนื้อไม้ ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตร โดยมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘, ๗๓, ๗๔, ๗๔ ทวิพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗, ๑๘ และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า การมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองไม่เกิน ๐.๒๐ลูกบาศก์เมตร ไม่ต้องได้รับอนุญาต ฉะนั้นการแปรรูปไม้ไม่เกิน๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตรโดยมิได้รับอนุญาต ก็ย่อมไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้ไม้ของกลางจะเป็นไม้หวงห้าม แต่ก็ไม่เป็นไม้ที่ต้องควบคุมตามมาตรา ๖๙ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ทั้งจำนวนเนื้อไม้ก็ไม่เกิน ๐.๒๐ ลูกบาศก์เมตร อันเป็นจำนวนเนื้อไม้น้อยกฎหมายไม่ควบคุมถึง พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔มาตรา ๔๘ บัญญัติแยกความผิดฐานแปรรูปไม้และมีไม้แปรรูปไว้ต่างหากจากกัน สำหรับการแปรรูปไม้ ไม่ว่าจะมีปริมาตรไม้จำนวนเท่าใดก็ตามหากมิได้รับอนุญาตแล้ว ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น เว้นแต่จะเข้ากรณีตามมาตรา ๕๐ เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติยกเว้นไว้อย่างกรณีมีไม้แปรรูป ที่ศาลอุทธรณ์ยกมาตรา ๖๙ ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปขึ้นวินิจฉัยประกอบเห็นว่าไม่ตรงกับคดีนี้ซึ่งเป็นข้อหาเกี่ยวกับการแปรรูปไม้ พิพากษากลับว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔มาตรา ๔๘, ๗๓ (๑), ๗๔, ๗๔ ทวิ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔)พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗, ๑๘ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐ ลงโทษจำคุกจำเลยคนละหกเดือน ลดฐานรับสารภาพให้คนละกึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละสามเดือน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ จำเลยทั้งสองไม่ปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ ๒ ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ของกลางริบ

Share