คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8393/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นความประมาทของจำเลยที่1และประเด็นที่ว่าจำเลยที่1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่2และจำเลยที่1กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่2หรือไม่ว่าโจทก์มีแต่ผู้รับมอบอำนาจมาเบิกความรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเป็นเรื่องความผิดเกี่ยวกับกฎหมายจราจรไม่ได้แสดงว่าการกระทำเป็นละเมิดส่วนเอกสารหมายจ.4ก็ไม่ใช่หลักฐานแสดงว่าจำเลยที่2เป็นนายจ้างของจำเลยที่1พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังไม่ได้สมตามฟ้องจำเลยที่1และที่2ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์โจทก์อุทธรณ์ว่ารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเป็นเอกสารราชการที่ทางราชการสถานีตำรวจรับรองสำเนาถูกต้องมีรายละเอียดเหตุการณ์ที่จำเลยที่1ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้และจำเลยที่1ยอมรับผิดเป็นเอกสารที่แสดงว่าจำเลยที่1ประมาทและเอกสารหมายจ.4ก็ระบุว่าจำเลยที่2เป็นเจ้าของรถยนต์และเป็นผู้ประกอบการย่อมแสดงว่าจำเลยที่2เป็นนายจ้างของจำเลยที่1ดังนี้คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวนนั้นเองว่าจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใดมิใช่ไม่รับฟังเอกสารของโจทก์อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่1กระทำโดยประมาทหรือไม่และจำเลยที่1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่2หรือไม่อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเมื่อคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน50,000บาทจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา224วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้าคันหมายเลขทะเบียน 4 บ-2364 กรุงเทพมหานคร จากนายประวิทย์วัฒนเวส ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2534 เวลาประมาณ 7 นาฬิกาจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80-2363 ฉะเชิงเทราขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกระทำการในการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 โจทก์ได้จัดการซ่อมตามหน้าที่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 18,298 บาท โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิในค่าเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย18,298 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 21ตุลาคม 2534 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระเงินจนถึงวันฟ้อง (วันที่30 มิถุนายน 2535) เป็นค่าดอกเบี้ย 914 บาท รวมเป็นเงิน19,212 บาท และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันจากต้นเงิน 18,298 บาทนับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โดยเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าที่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์นั้นเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นความประมาทของจำเลยที่ 1 และประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ว่า โจทก์มีแต่ผู้รับมอบอำนาจมาเบิกความรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นเรื่องความผิดเกี่ยวกับกฎหมายจราจร ไม่ได้แสดงว่าการกระทำเป็นละเมิดส่วนเอกสารหมาย จ.4 ก็ไม่ใช่หลักฐานแสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังฟังไม่ได้สมตามฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ว่าเอกสารหมาย จ.5 เป็นเอกสารราชการที่ทางราชการสถานีตำรวจรับรองสำเนาถูกต้องมีรายละเอียดเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ และจำเลยที่ 1ยอมรับผิด เป็นเอกสารที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 ประมาท และเอกสารหมาย จ.4 ก็ระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์และเป็นผู้ประกอบการ ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ดังนี้ เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวนนั้นเองว่าจะรับฟังได้หรือไม่ เพียงใด มิใช่ไม่รับฟังเอกสารของโจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทหรือไม่ และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share