คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12179/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สร้อยคอทองและกำไลข้อมือทองประดับอัญมณี เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านและ ส. ได้มาเนื่องในการสมรส จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของผู้คัดค้านและ ส. ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านและ ส. ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งริบไม่ได้ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (2) แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์เข้ามาในคดี คงมีแต่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านโดย ส. มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีตามกระบวนการแห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 28 และ 29 ผู้คัดค้านจึงไม่อาจขอคืนทรัพย์สินของ ส. แทนได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินทั้ง 29 รายการ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29 และ 31
ศาลชั้นต้นสั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งไม่ริบทรัพย์สินทั้ง 29 รายการ
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินทั้ง 29 รายการ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนทรัพย์ของกลางรายการที่ 4 สร้อยคอทองลายโซ่ 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 150 กรัม รายการที่ 5 สร้อยคอทองลายสังวาล 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 75 กรัม รายการที่ 6 สร้อยทองประดับอัญมณี 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 15 กรัม รายการที่ 7 สร้อยคอทอง 1 เส้น น้ำหนักประมาณ 15 กรัม รายการที่ 15 กำไลข้อมือทองประดับอัญมณีสีเขียว สีแดง สีน้ำเงิน ลายจุด 1 วง น้ำหนักประมาณ 7.5 กรัม ให้แก่ผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติโดยที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า ผู้คัดค้านถูกจับกุมในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 10,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ในการดำเนินคดีดังกล่าว คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินทำการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านและนางสาวสุนี หรือที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของผู้คัดค้านแล้วยึดทรัพย์สินของจำเลยและนางสาวสุนีที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้านและนางสาวสุนีไว้ชั่วคราว ผู้ร้องจึงขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สิน 29 รายการ ของผู้คัดค้านและนางสาวสุนีให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินทั้ง 29 รายการ ตามคำร้องให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้โดยให้คืนทรัพย์สินรายการที่ 4 ถึงที่ 7 และที่ 15 แก่ผู้คัดค้าน ผู้ร้องฎีกา
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ทรัพย์สินรายการที่ 4 ถึงที่ 7 และที่ 15 เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีอันศาลจะมีคำสั่งริบไม่ได้หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านและนางสาวสุนีได้อยู่กินกันฉันสามีภริยามาตั้งแต่ปี 2542 ผู้คัดค้านไม่ได้นำสืบให้เชื่อถือได้ว่าเหตุใดจึงเพิ่งมาทำพิธีสมรสกัน และนำสืบไม่ได้ว่ามีผู้ให้สินสอดทองหมั้นจริง เห็นว่า การที่บุคคลจะอยู่กินฉันสามีภริยากันนั้น นอกจากจะเป็นไปตามวัฒนธรรมประเพณีแล้วยังขึ้นอยู่กับความยินยอมพร้อมใจกันของคู่สามีภริยาว่าประสงค์จะจัดพิธีสมรสกันก่อนหรือไม่อย่างไรด้วย ดังจะเห็นได้ว่า คู่สามีภริยาบางคู่อยู่กินด้วยกันจนมีลูกแล้วจึงค่อยจัดพิธีสมรสกันภายหลัง ความสำคัญอยู่ที่ว่าในกรณีมีการจัดพิธีสมรสกัน จะต้องเป็นการจัดพิธีสมรสที่แท้จริงไม่ใช่จัดกันหลอก ๆ ในปัญหานี้ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านโดยมีภาพถ่ายท้ายคำคัดค้านซึ่งปรากฏภาพการเจิมหน้าคู่บ่าวสาว การที่คู่บ่าวสาวสวมแหวนหมั้นให้แก่กัน การที่เจ้าบ่าวสวมสร้อยคอทองคำและกำไลข้อมือให้เจ้าสาว การที่ญาติผู้ใหญ่มอบเครื่องทองของหมั้นให้แก่คู่บ่าวสาว รวมทั้งการจัดงานเลี้ยงฉลองสมรส และมีผู้คัดค้าน นายบุญยืน บิดาผู้คัดค้าน และนางสุธาทิพย์ พี่สาวผู้คัดค้านเบิกความยืนยันประกอบหลักฐานว่า ผู้คัดค้านได้จัดพิธีสมรสกับนางสาวสุนี โดยมีสร้อยคอทองคำกำไลข้อมือทองประดับอัญมณีตามทรัพย์สินรายการที่ 4 ถึงที่ 7 และที่ 15 เป็นสินสอดทองหมั้นที่ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายได้มอบให้แก่ผู้คัดค้านและนางสาวสุนีในการสมรส ส่วนผู้ร้องมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นว่า ผู้คัดค้านไม่ได้จัดพิธีสมรสระหว่างผู้คัดค้านและนางสาวสุนีและไม่ได้มีการมอบสินสอดทองหมั้นเป็นของขวัญรับไหว้ให้แก่ผู้คัดค้านและนางสาวสุนีในวันดังกล่าวจริง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า สร้อยคอทองคำและกำไรข้อมือทองประดับอัญมณีตามทรัพย์สินรายการที่ 4 ถึงที่ 7 และที่ 15 เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านและนางสาวสุนีได้มาเนื่องในการสมรส จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของผู้คัดค้านและนางสาวสุนี ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านและนางสาวสุนีได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งริบไม่ได้ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (2) แต่เมื่อศาลชั้นต้นได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์เข้ามาในคดีคงมีแต่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านโดยนางสาวสุนีมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีตามกระบวนการแห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 28 และ 29 ผู้คัดค้านจึงไม่อาจขอคืนทรัพย์สินของนางสาวสุนีแทนได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนทรัพย์สินรายการที่ 4 ถึงที่ 7 และที่ 15 ให้แก่ผู้คัดค้านกึ่งหนึ่ง และให้ยกคำร้องให้ริบทรัพย์สินรายการดังกล่าวที่เหลืออีกกึ่งหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share