แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มิได้บัญญัติถึงวิธีการหรือหลักเกณฑ์ในการขอแก้ไขคำฟ้อง จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 มาบังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯมาตรา 31 แต่ในคดีแรงงานไม่มีการชี้สองสถานเพราะการกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยานเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามมาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้น โจทก์ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วันเว้นแต่มีเหตุยกเว้นตามบทบัญญัติข้างต้น ปรากฏว่าในขณะที่ยื่นคำฟ้อง โจทก์ย่อมจะทราบถึงสิทธิของตนอันจะพึงได้รับดอกเบี้ยจากค่าชดเชยค่าจ้างค้างจ่าย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งจำเลยผิดนัดไม่จ่ายให้โจทก์อยู่แล้ว โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องหลังจากที่จำเลยสืบพยานเสร็จสิ้นแล้วและคดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งมิใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำหน้าที่หัวหน้างานทั่วไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์และจำเลยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และจำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 106,200 บาท ค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน 14,160 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2542 สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 21,830 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2542 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 106,200 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์กระทำอนาจารพนักงานของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย และโจทก์ได้ปั๊มกุญแจรถยนต์ของจำเลยโดยมีเจตนาไม่สุจริต เมื่อจำเลยทราบและขอกุญแจรถยนต์ดังกล่าวโจทก์ก็ไม่พอใจ หลังเกิดเหตุทำให้การทำงานของโจทก์และความสัมพันธ์กับพนักงานของจำเลยแย่ลง เกิดความเสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 222,190 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 120,360 บาท นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2542 และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 21,830บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 มิถุนายน 2542) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยมีเพียงว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของเงินตามฟ้องแก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มิได้บัญญัติถึงวิธีการหรือหลักเกณฑ์ในการขอแก้ไขคำฟ้องไว้ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ซึ่งมาตรา 180 บัญญัติว่า “การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้วให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถานหรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย” ในคดีแรงงานถือได้ว่าไม่มีการชี้สองสถานเพราะการกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยานเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 39 ซึ่งบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้น โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เว้นแต่มีเหตุยกเว้นตามบทบัญญัติข้างต้น ปรากฏในสำนวนคดีนี้ว่าโจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2543 ขอแก้ไขคำฟ้องภายหลังจากจำเลยสืบพยานเสร็จสิ้นแล้วซึ่งในขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้อง โจทก์ย่อมจะทราบถึงสิทธิที่โจทก์จะพึงได้รับดอกเบี้ยจากค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งจำเลยผิดนัดไม่จ่ายให้โจทก์อยู่แล้ว ชอบที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า7 วัน การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องภายหลังจากที่จำเลยสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว และคดีไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนทั้งมิใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ศาลแรงงานกลางสั่งอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องและพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่ายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับค่าชดเชยค่าจ้างค้างจ่ายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง