คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 839/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อ.เป็นลูกจ้างการสื่อสารแห่งประเทศไทยโจทก์ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ อ.นำหลักฐานการอนุญาตให้ใช้สถานที่ตั้งไปรษณีย์รับอนุญาตเอกชนไปให้ผู้สมัครรับจัดตั้งไปรษณีย์รับอนุญาตเอกชนลงชื่อ อ.จึงเดินทางไปตามคำสั่งถือได้ว่าอ.เดินทางไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ทำงานในทางการที่จ้างของโจทก์ ดังนั้นในระหว่างที่ อ.เดินทางกลับก็ยังต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ปฏิบัติงาน อ.ประสบอุบัติเหตุถูกรถคันอื่นชนถึงแก่ความตาย จึงเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าทดแทนแก่ นายคำรณ ยศหนัก บิดาของ นายอนุชา ยศหนักลูกจ้างโจทก์ที่ถึงแก่ความตายโดยอ้างว่าประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้โจทก์ เป็นการไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและคำสั่งของจำเลยเสีย จำเลยทั้งสองให้การว่า นายอนุชา ยศหนัก ถูกรถอื่นชนถึงแก่ความตายในระหว่างเดินทางกลับจากการปฏิบัติงาน ถือได้ว่าเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ขอให้ยกฟ้องศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์สรุปใจความได้ว่าตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515ข้อ 2 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 นายจ้างจะต้องจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างซึ่งประสบอันตรายเฉพาะในกรณีที่สาเหตุที่ทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือถึงแก่ความตายนั้นสืบเนื่องมาจากการทำงานให้นายจ้างและการประสบอันตรายนั้นต้องเป็นในขณะเวลาที่ถือได้ว่าทำงานให้นายจ้างเท่านั้น ตามข้อบังคับการสื่อสารแห่งประเทศไทยโจทก์ ฉบับที่ 8 ว่าด้วยการทำงานตามปกติ การทำงานนอกเวลาปกติ และการในวันหยุด พ.ศ. 2520 ตามเอกสารหมาย จ.8 กำหนดไว้ว่า “การทำงานนอกเวลาปกติและการทำงานในวันหยุดต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าการหรือผู้ที่ผู้ว่าการมอบหมายเสียก่อน ในกรณีรีบด่วนซึ่งหากไม่ปฏิบัติงานแล้วอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้ หัวหน้าหน่วยงานอาจสั่งการให้ทำงานไปก่อนก็ได้ แล้วรายงานขออนุมัติต่อผู้ว่าการทันที” และข้อ 9กำหนดว่า “ผู้ได้รับคำสั่งและมาทำงานนอกเวลาปกติหรือทำงานในวันหยุดให้มีสิทธิได้รับเงินค่าล่วงเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุดแล้วแต่กรณี”ดังนั้น การที่นายพิสัยหัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขลาดยาวผู้บังคับบัญชาของนายอนุชาสั่งให้นายอนุชาไปทำงานนอกเวลาปกติโดยมิได้ขออนุมัติให้ทำงานนอกเวลาปกติจากผู้ว่าการของโจทก์ก่อนอีกทั้งงานที่สั่งให้นายอนุชาปฏิบัติก็มิได้เป็นกรณีรีบด่วนซึ่งถ้ามิได้ทำในวันและเวลานั้นแล้วจะเกิดความเสียหายแต่ประการใดการกระทำดังกล่าวของนายพิสัยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อบังคับของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าคำสั่งที่นายพิสัยสั่งให้นายอนุชาไปปฏิบัติงานนอกเวลาปกติของนายอนุชาเป็นคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานของโจทก์ การที่นายอนุชาประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายในระหว่างเดินทางกลับจากการปฏิบัติงานดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้โจทก์แต่อย่างใดเห็นว่า สำหรับปัญหาที่ว่า นายพิสัยสั่งให้นายอนุชาไปทำงานนอกเวลาปกติโดยมิได้ขออนุมัติให้ทำงานนอกเวลาปกติจากผู้ว่าการของโจทก์ก่อนโจทก์หาได้บรรยายไว้ในคำฟ้องและยกขึ้นอ้างเป็นเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสองไม่ อุทธรณ์ข้อนี้จึงมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า งานที่นายพิสัย สั่งให้นายอนุชาปฏิบัติ ก็มิได้เป็นกรณีรีบด่วน ซึ่งถ้ามิได้ทำในวันและเวลานั้นแล้วจะเกิดความเสียหายแต่ประการใด นั้นเห็นว่า การพิจารณาเรื่องกรณีรีบด่วนหรือไม่ เป็นกรณีที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบกับข้อบังคับของโจทก์ฉบับที่ 8 ตามเอกสารหมาย จ.8เพื่อพิจารณาในการจ่ายค่าทำงานนอกเวลาหรือค่าทำงานในวันหยุดเท่านั้นหาเกี่ยวกับการพิจารณาว่าลูกจ้างของโจทก์ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้โจทก์แต่ประการใด ตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาปรากฏว่า นายพิสัยผู้บังคับบัญชาของนายอนุชาสั่งให้นายอนุชานำหลักฐานการอนุญาตให้ใช้สถานที่ตั้งไปรษณีย์รับอนุญาตเอกชนซึ่งนายศักดาบิดาของนายวัชรินทร์ผู้สมัครรับจัดตั้งไปรษณีย์อนุญาตเอกชนในเขตตำบลวังม้า อำเภอลาดยาวอนุญาตให้ใช้สถานที่โดยไม่คิดค่าเช่าไปให้นายศักดาและนางฟ้องภริยาลงชื่อใหม่ที่บ้านนายศักดา นายอนุชาจึงได้เดินทางไปตามคำสั่งของนายพิสัยซึ่งถือได้ว่านายอนุชาเดินทางไปปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของโจทก์และเนื่องจากนายอนุชาทำงานประจำอยู่ที่ไปรษณีย์โทรเลขลาดยาวเมื่อออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ทำงานเสร็จแล้วก็ย่อมจะต้องเดินทางกลับจากสถานที่ดังกล่าว ระหว่างการเดินทางกลับก็ยังต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาปฏิบัติในทางการที่จ้างให้นายจ้าง กรณีต่างกับการที่ลูกจ้างปฏิบัติงานในหน้าที่ ณ สถานที่ทำงานปกติเสร็จแล้วเดินทางกลับบ้านกรณีเช่นนี้ไม่อาจถือว่าช่วงเวลาที่เดินทางกลับบ้านเป็นช่วงเวลาที่ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างให้นายจ้าง ดังนั้นการที่นายอนุชาประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตายระหว่างเดินทางกลับจากบ้านนายศักดาจึงถือได้ว่าถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ผู้เป็นนายจ้าง การที่นายอนุชาไม่ได้เดินทางกลับทันทีที่ปฏิบัติหน้าที่เสร็จก็เนื่องจากฝนตกเป็นอุปสรรคในการเดินทางเพราะนายอนุชาขับขี่รถจักรยานยนต์ไป และการที่ระหว่างรอให้ฝนหยุด นายอนุชาได้รับประทานอาหารที่บ้านนายศักดาด้วยก็หามีผลทำให้การปฏิบัติงานในหน้าที่ของโจทก์สิ้นสุดลงไม่ ที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่านายอนุชาประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้โจทก์ผู้เป็นนายจ้างและพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share