แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า หลังจากที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ ผู้นำเข้าสินค้าวางเงินประกันค่าอากรเพิ่มเติมตามมาตรา 112 แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินอากรอันพึงต้องเสียและแจ้งให้ผู้นำเข้าทราบซึ่งผู้นำเข้าจะต้องชำระเงินอากรตามจำนวนที่ได้รับแจ้งให้ครบถ้วนภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหากไม่เห็นด้วยกับการประเมิน ผู้นำเข้ามีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 112 ทวิ วรรคสามต่อไปได้ แต่การที่กรมศุลกากรจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปทำความตกลงเพื่อระงับคดีอาญากับจำเลยไม่ใช่เป็นหนังสือแจ้งการประเมินอากรตามมาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่ง ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า สินค้าแบตเตอรี่แพครุ่น บีพี-7 หรือ บีพี-8 และสินค้ากล่อง (เปล่า) สำหรับบรรจุถ่านไฟฉาย (ที่ถูกควรจะเป็นแบตเตอรี่) ของโจทก์ รุ่น บีพี-4เป็นสินค้าที่จัดเข้าประเภท 8525.20 ตามหลักเกณฑ์การตีความข้อ 2 (ก) ให้จำเลยยกเลิกคำสั่งประเมินอากรที่ กค.0607(ก)/3873 ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้ถือว่าอากรตามที่โจทก์ชำระไว้แล้วถูกต้อง ให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมธนาคารในการออกหนังสือค้ำประกันต่อกรมศุลกากรเป็นเงิน50,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยได้ให้โจทก์เสียภาษีโดยกำหนดให้สินค้าที่โจทก์นำเข้ามาในคดีนี้อยู่ในประเภทพิกัดดังที่ได้ให้การมาชอบด้วยกฎหมายและเหตุผลทุกประการขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้จากคำฟ้อง คำให้การ และคำแถลงรับข้อเท็จจริงของโจทก์จำเลยว่าโจทก์นำสินค้าเครื่องรับ-ส่งวิทยุรวมทั้งอุปกรณ์โทรคมนาคมเข้ามาในราชอาณาจักร โดยสำแดงประเภทพิกัด 8525.20 อัตราอากรร้อยละ 5 ในการตรวจปล่อยสินค้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจพบว่ามีสินค้าแบตเตอรี่แพครุ่นไอบีพี-7 และบีพี-8 ซึ่งเป็นสินค้าประเภทพิกัด 8507.30อัตราอากรร้อยละ 60 รวมอยู่ด้วย โจทก์ยอมวางประกันตามจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้กำหนดพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจปล่อยสินค้าให้โจทก์รับไปแล้ว ต่อมาโจทก์อุทธรณ์เรื่องคดีและเรื่องพิกัดอัตราศุลกากร จำเลยจึงมีหนังสือที่ กค.0607(ก)/3873 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2535ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ล.1อันดับที่ 39 แล้วผลอุทธรณ์และขอให้โจทก์ไปทำความตกลงระงับคดีอาญาในชั้นศุลกากรกับจำเลย ส่วนในคดีแพ่งยังไม่มีการประเมินและแจ้งไปยังโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่าหลังจากที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าวางเงินประกันอากรเพิ่มเติมตามมาตรา 112 แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินอากรอันพึงต้องเสียและแจ้งให้ผู้นำเข้าทราบซึ่งผู้นำเข้าจะต้องชำระเงินอากรตามจำนวนที่ได้รับแจ้งให้ครบถ้วนภายในกำหนดสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งหากผู้นำเข้าไม่เห็นด้วยกับการประเมิน ผู้นำเข้ามีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 112 ทวิ วรรคสามต่อไปได้ สำหรับหนังสือแจ้งของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1อันดับที่ 39 ดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปทำความตกลงเพื่อระงับคดีอาญากับจำเลย ไม่ใช่เป็นหนังสือแจ้งการประเมินอากรตามมาตรา 112 ทวิ วรรคหนึ่งดังนั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้”
พิพากษายืน