คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8381/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถจะมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ แต่ก็เป็นหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในเอกสารดังกล่าวน่าจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ และโดยปกติเมื่อมีการซื้อขายรถยนต์กันย่อมจะมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของให้ถูกต้อง หากผู้ร้องซื้อรถยนต์บรรทุกของกลางจากจำเลยเมื่อปี 2540 จริงก็น่าจะไปดำเนินการดังกล่าวเช่นบุคคลทั่วไปปฏิบัติไม่น่าจะเพิกเฉยอยู่เช่นนี้ การอ้างว่าไม่มีเวลาว่างของผู้ร้องจึงไม่สมเหตุผล ทั้งยังขัดกับคำร้องของผู้ร้องเองที่บรรยายว่า จำเลยขายรถยนต์บรรทุกของกลางให้ผู้ร้องเมื่อต้นปี 2540 ในราคา 500,000 บาท ผู้ร้องชำระราคาครั้งแรกจำนวน350,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวด และตกลงจะไปโอนทางทะเบียนเมื่อผู้ร้องชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องเพิ่งชำระราคาครบถ้วนเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์2541 ทั้งผู้ร้องเป็นพี่สาว จ. ซึ่งเป็นภริยาจำเลยนับว่าเป็นญาติสนิทของจำเลยการยื่นคำร้องของผู้ร้องอาจเป็นการทำประโยชน์ของจำเลย พยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำสืบมาเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกของกลางจึงไม่อาจคืนรถยนต์บรรทุกของกลางให้ผู้ร้องได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติทางหลวงพ.ศ. 2535 มาตรา 4, 5, 8, 14, 61, 73, 75 และริบรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 81-2649 กาญจนบุรี ของกลาง

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยขายรถยนต์บรรทุกของกลางให้ผู้ร้องเมื่อต้นปี 2540ในราคา 500,000 บาท ผู้ร้องชำระราคาครั้งแรกจำนวน 350,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวด ผู้ร้องผ่อนชำระครบถ้วน เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 ต่อมาวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยเช่ารถยนต์บรรทุกของกลางเพื่อไปรับจ้างบรรทุกดินและหิน ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ขอให้สั่งคืนรถยนต์บรรทุกของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกของกลาง ผู้ร้องยื่นคำร้องเพื่อช่วยเหลือจำเลย เป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยไม่สุจริต ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้คืนรถยนต์บรรทุกของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกของกลางหรือไม่ ผู้ร้องมีตัวผู้ร้องกับจำเลยและนางจำนงค์ สืบเนียม เบิกความทำนองเดียวกันว่า เมื่อต้นปี 2539 จำเลยยืมเงินผู้ร้องไปจำนวน 350,000 บาท โดยไม่ได้ทำหลักฐานการยืมกันไว้ ต่อมาปี 2540 จำเลยมายืมอีกจนรวมเป็นเงินทั้งหมดจำนวน 500,000 บาท จำเลยไม่มีเงินใช้คืนจึงขายรถยนต์บรรทุกของกลางให้ผู้ร้องตีใช้หนี้ จำเลยส่งมอบรถยนต์บรรทุกของกลางให้ผู้ร้องแล้ว แต่ยังมิได้ไปดำเนินการโอนทางทะเบียนเพราะไม่มีเวลาว่าง เห็นว่าแม้หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ แต่ก็เป็นหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงว่าผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในเอกสารดังกล่าวน่าจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตามเอกสารและโดยปกติเมื่อมีการซื้อขายรถยนต์กันย่อมจะมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของให้เป็นการถูกต้อง หากผู้ร้องซื้อรถยนต์บรรทุกของกลางจากจำเลยเมื่อปี 2540 จริงก็น่าจะไปดำเนินการดังกล่าวเช่นบุคคลทั่วไปปฏิบัติ ไม่น่าจะเพิกเฉยอยู่เช่นนี้ข้ออ้างของผู้ร้องว่าไม่มีเวลาว่างจึงไม่สมเหตุผล ทั้งยังขัดกับคำร้องของผู้ร้องเองโดยผู้ร้องบรรยายคำร้องข้อ 2 ใจความว่าจำเลยขายรถยนต์บรรทุกของกลางให้ผู้ร้องเมื่อต้นปี 2540 ในราคา 500,000 บาท ผู้ร้องชำระราคาครั้งแรกจำนวน350,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวด และตกลงจะไปโอนทางทะเบียนเมื่อผู้ร้องชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องเพิ่งชำระราคาครบถ้วนเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์2541 ผู้ร้องเป็นพี่สาวนางจำนงค์ซึ่งเป็นภริยาจำเลยนับว่าเป็นญาติสนิทของจำเลยการยื่นคำร้องของผู้ร้องอาจเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของจำเลย พยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำสืบมาเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกของกลางจึงไม่อาจคืนรถยนต์บรรทุกของกลางให้ผู้ร้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

Share