แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคแรกบัญญัติเพียงว่า เมื่อศาลสั่งบังคับตามสัญญาประกันแล้ว ผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ แต่ ไม่มีบทมาตราใดบัญญัติห้ามไว้ว่า เมื่อศาลสั่งปรับผู้ประกันแล้ว และผู้ประกันได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาลดค่าปรับ แต่ศาลชั้นต้น ยกคำร้องของผู้ประกัน ผู้ประกันนั้นจะยื่นคำร้องขอให้พิจารณา ลดค่าปรับซ้ำอีกไม่ได้ การที่ ผู้ประกันยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้พิจารณาลดค่าปรับ ให้แก่ผู้ประกันใหม่อีกนั้นก็ไม่มีเหตุส่อให้เห็นว่าเป็นการ ยื่นเกินความจำเป็น จึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ หรือขยายอายุอุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อผู้ประกันได้ยื่นคำร้อง ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2540 วันที่ 3 ตุลาคม 2540 และวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 ขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาลดค่าปรับ แต่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งยกคำร้องทั้ง 3 ครั้งผู้ประกันย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ประกันครั้งสุดท้ายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคแรก เมื่อนับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540 ที่ผู้ประกันทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์ จึงยังไม่เกิน 1 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องรับพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ประกันทั้งสี่ไว้
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 83 คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 ปี จำเลยทั้งสามได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาตลอดมา โดยศาลชั้นต้นตีราคาประกันคนละ 300,000 บาท ต่อมาในวันที่ 25 ตุลาคม 2539 อันเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ไปศาล ส่วนเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 นั้นปิดหมายไม่ครบระยะเวลาตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันทั้งสี่รวมทั้งนายสมัย เค้าโคตร ผู้ประกันร่วมตามสัญญา ผู้ประกันทั้งสี่ขอลดค่าปรับเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 รวม 3 ครั้งศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง และครั้งสุดท้ายผู้ประกันทั้งสี่ยื่นคำร้องลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 ขอลดค่าปรับอีก ศาลชั้นต้นยืนคำสั่งเดิมโดยให้ยกคำร้อง
ผู้ประกันทั้งสี่อุทธรณ์ขอให้ลดค่าปรับเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า ผู้ประกันทั้งสี่ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ลดค่าปรับภายในกำหนด 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคแรก จึงให้ยกอุทธรณ์ของผู้ประกันทั้งสี่
ผู้ประกันทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าผู้ประกันทั้งสี่รวมทั้งนายสมัย เค้าโคตร ได้ทำสัญญาประกันตัวจำเลยทั้งสาม ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยตีราคาประกันคนละ 300,000 บาท ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2539 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ไปศาล ศาลชั้นต้นถือว่าผู้ประกันทั้งหมด ไม่ส่งตัวจำเลยที่ 1และที่ 3 ตามนัดเป็นการผิดสัญญาประกัน ให้ปรับผู้ประกันทั้งหมดสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 300,000 บาท เต็มตามสัญญาประกัน ส่วนจำเลยที่ 2 ปรากฏว่าปิดหมายนัดให้ทราบยังไม่ครบระยะเวลาตามกฎหมาย จึงเลื่อนไปอ่านคำพิพากษาในวันอื่นและได้มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาหลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายคือวันที่ 31 มกราคม 2540 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ฟัง ส่วนจำเลยที่ 2 ออกหมายจับครบระยะเวลา 1 เดือนแล้ว จึงอ่านคำพิพากษาสำหรับจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2540 ผู้ประกันทั้งหมดได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอลดค่าปรับเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 อ้างเหตุว่าผู้ประกันแต่ละคนมาประกันตัวจำเลยทั้งสามด้วยเหตุเป็นญาติกัน ไม่ได้มีอาชีพหารายได้ทางเป็นผู้ประกัน แต่มีอาชีพทำนา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันทั้งสี่ยื่นคำร้องขอลดค่าปรับอีกรวม 2 ครั้ง คือวันที่ 3 ตุลาคม 2540 อ้างเหตุว่าเมื่อศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกันทั้งสี่แล้ว ผู้ประกันทั้งสี่ได้พยายามติดตามจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยทั้งสามและไม่อาจควบคุมตัวได้ตลอด เนื่องจากพักอาศัยอยู่คนละที่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและครั้งสุดท้ายวันที่10 พฤศจิกายน 2540 ผู้ประกันทั้งสี่ยื่นคำร้องขอลดค่าปรับอ้างเหตุว่าวันนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่รู้ว่าไปไหนและไม่ได้บอกกล่าวผู้ประกันทั้งสี่ไว้ เมื่อศาลมีคำสั่งปรับแล้วผู้ประกันทั้งสี่ขอคัดหมายจับออกติดตามชี้ตัวให้เจ้าพนักงานตำรวจจับส่งศาล ที่ดินที่ผู้ประกันทั้งสี่นำมาประกันตัว ผู้ประกันทั้งสี่ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยและทำการเกษตรเลี้ยงชีพ หากจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ใช่ญาติกัน ก็จะไม่ช่วยประกันตัวให้ อีกทั้งไม่ใช่มีอาชีพรับจ้างประกันตัวจำเลยและมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 หรือมีเจตนาที่จะไม่นำตัวจำเลยที่ 1 และที่ 3 ส่งศาลแต่อย่างใด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเช่นเดิม วันที่ 27 พฤศจิกายน 2540 ผู้ประกันทั้งสี่จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 ดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ประกันทั้งสี่ว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ประกันทั้งสี่โดยอ้างว่า ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเกินกำหนด 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 วรรคแรก บัญญัติว่า เมื่อศาลสั่งบังคับตามสัญญาประกันแล้ว ผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุดเท่านั้น แต่ไม่มีบทมาตราใดบัญญัติห้ามไว้ว่า เมื่อศาลสั่งปรับผู้ประกันแล้ว และผู้ประกันได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาลดค่าปรับ แต่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ประกัน ผู้ประกันนั้นจะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาลดค่าปรับซ้ำอีกไม่ได้ การที่ผู้ประกันยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้พิจารณาลดค่าปรับให้แก่ผู้ประกันใหม่อีกนั้นก็ไม่มีเหตุส่อให้เห็นว่าเป็นการยื่นเกินความจำเป็น จึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือขยายอายุอุทธรณ์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไว้ ดังนั้น เมื่อผู้ประกันทั้งสี่ได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 ขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาลดค่าปรับ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง เมื่อผู้ประกันทั้งสี่เห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องก็ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ประกันทั้งสี่ครั้งสุดท้ายดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคแรก สำหรับคดีนี้เมื่อนับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ประกันทั้งสี่ถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2540 ที่ผู้ประกันทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงยังไม่เกิน 1 เดือนตามบทบัญญัติดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ประกันทั้งสี่นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ประกันทั้งสี่ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ประกันทั้งสี่แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี