คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11455/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 และตามคำพิพากษามิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลชั้นต้นได้สั่งไว้ในระหว่างการพิจารณา คำสั่งอายัดชั่วคราวจึงมีผลใช้บังคับต่อไปเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 260 (2) แต่โจทก์เพิ่งมายื่นขอหมายบังคับคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 เมื่อไม่ปรากฏเหตุจำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หมายอายัดตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ในระหว่างพิจารณาย่อมยกเลิกไป การที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่ผู้ร้องและดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคสอง เท่ากับขอให้ดำเนินการตามคำสั่งอายัดชั่วคราวที่ยกเลิกไปแล้ว จึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีที่จะได้รับการวินิจฉัยอีกต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,719,727.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ในวันเดียวกันกับที่โจทก์ยื่นคำฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดเงินค่าสินค้าที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากบริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 1,800,000 บาท และให้บริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) จัดส่งเงินดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น โดยขอให้ไต่สวนในเหตุฉุกเฉิน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดเงิน 1,800,00 บาท โดยให้บริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) ส่งเงินดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น โดยส่งหมายอายัดชั่วคราวโดยวิธีปิดหมายในวันที่ 26 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง
ในวันที่ 31 ตุลาคม 2549 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ออกหมายเรียกกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) ให้มาศาลในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 เพื่อสอบถาม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต (ไม่ปรากฏในสำนวนว่าตัวแทนบริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) มาศาลในวันนัดหรือไม่)
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,719,727.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 กันยายน 2549) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
ในวันที่ 1 ตุลาคม 2550 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่บริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) และให้ดำเนินการไปเสมือนหนึ่งบริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายเรียกกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) มาสอบถาม ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้บริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) ทำคำแถลงเพื่อชี้แจงเหตุผลที่ไม่นำส่งเงินตามหมายอายัดชั่วคราว
บริษัทเสริมสุข จำกัด (มหาชน) ผู้ร้องยื่นคำแถลงว่าผู้ร้องมิได้มีเจตนาขัดคำสั่งศาล
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ผู้ร้อง และให้ดำเนินการไปเสมือนหนึ่งผู้ร้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าคำร้องในศาลชั้นต้นและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในคดีเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2549 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์และยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในเหตุฉุกเฉินขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินค่าสินค้าที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากผู้ร้อง ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอายัดชั่วคราวไปยังผู้ร้อง โดยเจ้าพนักงานศาลได้ปิดหมายคำสั่ง ณ สำนักทำการงานของผู้ร้องในวันเดียวกันนั้น ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์ หลังจากนั้นวันที่ 1 ตุลาคม 2550 โจทก์มายื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่ผู้ร้องและดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 วรรคสอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์และฎีกา ต่อมา เห็นว่า วัตถุประสงค์ในการขอคุ้มครองชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 ก็เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ในกรณีที่จำเลยอาจยักย้าย จำหน่ายทรัพย์สินไปในระหว่างนั้น ทำให้โจทก์ซึ่งชนะคดีต้องเสียหายไม่อาจบังคับเอากับทรัพย์สินของจำเลยได้ แต่เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้วในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 และตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมิได้กล่าวถึงวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาที่ศาลชั้นต้นได้สั่งไว้ในระหว่างการพิจารณา คำสั่งอายัดชั่วคราวจึงมีผลใช้บังคับต่อไปเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260 (2) ปรากฏว่า โจทก์เพิ่งมายื่นคำขอหมายบังคับคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 เมื่อไม่ปรากฏเหตุจำเป็นเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น หมายอายัดตามคำขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์ในระหว่างพิจารณาย่อมยกเลิกไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260 (2) การที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่ผู้ร้องและดำเนินการไปเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 312 วรรคสอง เท่ากับขอให้ดำเนินการตามคำสั่งอายัดชั่วคราวที่ยกเลิกไปแล้ว จึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดีที่จะได้รับการวินิจฉัยอีกต่อไป
ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกา โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมา 200 บาท จึงไม่คืนค่าขึ้นศาลให้

Share