แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นคดีหนี้เหนือบุคคลจำเลยทั้งสองต่างมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลในประเทศไทยคือศาลแพ่งส่วนข้อตกลงในใบตราส่งระหว่างผู้ส่งและผู้ขนส่งที่ให้ฟ้องคดีที่ศาลในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ นั้นแม้สิทธิตามใบตราส่งดังกล่าวจะตกได้แก่ผู้รับตราส่งแล้วและโจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิมาจากผู้รับตราส่งก็ตามแต่ข้อตกลงดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา4(2)เดิม(มาตรา4(1)ที่แก้ไขใหม่)ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีและเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนทั้งข้อตกลงนั้นก็มิได้เป็นไปตามที่มาตรา7(4)เดิมบัญญัติไว้อีกด้วยกล่าวคือศาลในกรุงลอนดอนมิใช่ศาลที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตหรือศาลที่มูลคดีของเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใดข้อตกลงนั้นจึงไม่อาจใช้บังคับได้โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่1ต่อศาลในประเทศไทยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบธุรกิจประกันภัยและมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ในประเทศไทย โจทก์มอบอำนาจให้นายสุรินทร์ ตันติสุวรรณากูล ฟ้องและดำเนินคดีแทน จำเลยทั้งสองเป็นบริษัทจำกัดประกอบกิจการขนส่งทางทะเล โจทก์ได้รับประกันภัยการขนส่งสินค้าเยื่อกระดาษทางทะเล 8,456 มัด น้ำหนัก 1,691.200เมตริกตัน ของบริษัทไทยเรยอน จำกัด ผู้ซื้อในทุนประกันภัยวงเงินไม่เกิน 57,521,790.00 บาท โดยมีเงื่อนไขแห่งความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าระหว่างการขนส่งจากเมืองท่าปอร์ต อลิช รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา มายังกรุงเทพมหานครและต่อไปจนถึงโรงงานของผู้ซื้อที่จังหวัดอ่างทองบริษัทเวสเทอร์น พัลพ์ อิงค์ จำกัด ผู้ขายสินค้าซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองแวนคูเวอร์ รัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ได้ว่าจ้างบริษัทคอร์มอแร้นท์ บัลค์ แครี่เออร์ อิงจำกัด และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมทำการขนาวสินค้าดังกล่าวโดยเรือเดินทะเลชื่ออกาเม็มน็อน เมื่อเรือดังกล่าวเดินทางมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครแล้ว บริษัทไทยเรยอน จำกัด ผู้ซื้อได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าดังกล่าวต่อไปยังโรงงานของผู้ซื้อที่จังหวัดอ่างทองอีกทอดหนึ่ง ปรากฎว่าสินค้าดังกล่าวหายไป 16 มัดและเยื่อกระดาษบางส่วนเปียกน้ำเสียหาย 132 มัดรวมค่าเสียหายเป็นเงิน 328,610.90 บาท ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่ง จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อบริษัทไทยเรยอนจำกัด ผู้รับสินค้า บริษัทไทยเรยอน จำกัด ได้ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระ จึงได้ทวงถามจากโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวให้แก่บริษัทไทยเรยอน จำกัด ผู้ซื้อสินค้าในฐานะผู้เอาประกันภัยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2533 จึงรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสองพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ได้จ่ายเงินไปถึงวันฟ้องเป็นเงิน14,990.09 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน343,600.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 328,610.90 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะนายแฮรี่ อี.ฮอยท์ ไม่มีอำนาจลงชื่อแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขนส่งหรือทำการขนส่งร่วมกับบริษัทคอร์มอแร้นท์ บัลค์แครี่เออร์ อิงค์ ผู้รับจ้างขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 1เป็นเพียงตัวแทนบริษัทดังกล่าวซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ ไม่มีสาขาในประเทศไทย และจำเลยที่ 1ไม่ได้รับจ้างขนถ่ายสินค้าพิพาทจึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลในราชอาณาจักรไทยเพราะบริษัทเวสเทอร์น พัลพ์ อิงค์ จำกัด ผู้ส่งสินค้าพิพาทกับบริษัทคอร์มอแร้นท์ บัลค์ แครี่เออร์ อิงค์ จำกัด ผู้ขนส่งโดยบริษัทซันไรส์ ชิปปิ้ง เอเยนซี่ (แคนาดา) จำกัด ตัวแทนผู้ขนส่งได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามใบตราส่งสินค้าพิพาทให้ดำเนินคดีในกรุงลอนดอนและให้ใช้กฎหมายของประเทศอังกฤษ บังคับ ดังนั้นบริษัทไทยเรยอนจำกัด ผู้รับตราส่งและโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของผู้รับตราส่งดังกล่าวจึงต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ต้องปฎิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลในราชอาณาจักรไทยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า สินค้าพิพาทที่จำเลยที่ 2 รับจ้างขนส่งจากท่าเรือกรุงเทพมหานครไปยังโรงงานของบริษัทไทยเรยอนจำกัด ผู้ซื้อที่จังหวัดอ่างทองขาดจำนวนมาก่อนจำเลยที่ 2รับมอบและที่เปียกน้ำเพราะเหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด บริษัทไทยเรยอน จำกัด ผู้เอาประกันภัยมิได้เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ทันทีนับแต่ทราบว่าสินค้าพิพาทสูญหายและได้รับความเสียหายตามข้อกำหนดในสัญญาประกันภัยจึงหมดสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ โจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัย ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 2 เช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 223,281.95 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14มีนาคม 2533 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์ และ จำเลย ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน105,328.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มีนาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงประการเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลในประเทศไทยหรือไม่ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหานี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า บริษัทไทยเรยอน จำกัด ผู้รับตราส่งได้สั่งซื้อสินค้าเยื่อกระดาษจากบริษัทผู้ขายในประเทศแคนาดา ผู้ขายได้ว่าจ้างให้บริษัทในต่างประเทศบริษัทหนึ่งและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวมายังท่าเรือกรุงเทพมหานคร และบริษัทไทยเรยอน จำกัด ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้านั้นต่อมายังโรงงานที่จังหวัดอ่างทองอีกทอดหนึ่ง ในใบตราส่งที่ทำขึ้นระหว่างผู้ขายสินค้าและผู้ขนส่งระบุเงื่อนไขข้อหนึ่งว่าข้อพิพาทใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้ใบตราส่งนี้จะต้องพิจารณาพิพากษาในกรุงลอนดอนและใช้กฎหมายอังกฤษมาบังคับใช้โจทก์เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกา มีสำนักงานสาขาในประเทศไทย โจทก์รับประกันภัยความเสียหายของสินค้าเยื่อกระดาษที่ขนส่งไว้กับบริษัทไทยเรยอน จำกัด ปรากฎว่าสินค้าเยื่อกระดาษดังกล่าวบางส่วนสูญหายและเสียหายระหว่างการขนส่ง ซึ่งจำเลยที่ 1และที่ 2 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทไทยเรยอนจำกัด ผู้รับตราส่ง แต่จำเลยทั้งสองไม่ยอมชำระ โจกท์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทไทยเรยอนจำกัด ผู้เอาประกันและรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันมาฟ้องเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากจำเลยทั้งสองที่ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้เป็นคดีหนี้เหนือบุคคล จำเลยทั้งสองต่างมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลในประเทศไทยคือศาลแพ่ง ข้อตกลงในใบตราส่งระหว่างผู้ส่งและผู้ขนส่งที่ให้ฟ้องคดีที่ศาลในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษนั้น เห็นว่า แม้สิทธิตามใบตราส่งดังกล่าวจะตกได้แก่ผู้รับตราส่งแล้วและโจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิมาจากผู้รับตราส่งก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (2) เดิม (มาตรา 4 (1)ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีและเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งข้อตกลงนั้นก็มิได้เป็นไปตามที่มาตรา7 (4) เดิม บัญญัติไว้อีกด้วย กล่าวคือ ศาลในกรุงลอนดอนมิใช่ศาลที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต หรือศาลที่มูลคดีของเรื่องนี้ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด ข้อตกลงนั้นจึงไม่อาจใช้บังคับได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลในประเทศไทยได้
พิพากษายืน