คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3528/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระยะเวลาฟ้องเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ไม่ใช่เรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อบังคับชำระหนี้ที่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 6 อายุความ
ดอกเบี้ยของค่าชดเชยและดอกเบี้ยของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นหนี้อุปกรณ์ของค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เมื่อจำเลยที่ 1 มีคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานโดยไม่กล่าวถึงดอกเบี้ย จำเลยร่วม (ลูกจ้าง) ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอันเป็นหนี้ประธาน
เงินบำเหน็จและเงินรางวัลประจำปีไม่ใช่เงินอย่างใดอย่างหนึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ที่พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจวินิจฉัยออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 124 วรรคหนึ่ง ลูกจ้างฟ้องศาลได้ภายในกำหนดอายุความ ไม่อยู่ภายใต้กำหนดเวลาที่จะต้องฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานภายใน 30 วัน ตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง
โจทก์ทั้งสอง (นายจ้าง) ฟ้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 อ้างเหตุว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง จำเลยร่วม (ลูกจ้าง) ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ทั้งสองจ่ายเงินรางวัลประจำปีให้แก่ตน เป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ให้ ก.พนักงานของโจทก์ที่ 1 ไปรับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองย่อมทราบดีว่ามีคำสั่งของจำเลยที่ 1 มาถึงตน การที่ ก. รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 แต่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ลงทะเบียนรับคำสั่งในวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำเหตุที่เจ้าหน้าที่นำคำสั่งมามอบให้ล่าช้าโดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอื่นมาเป็นเหตุปฏิเสธว่าไม่ทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 กรณีถือว่าโจทก์ทั้งสองทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2549 แล้ว โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีวันที่ 16 มิถุนายน 2549 จึงเกินกำหนด 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 56/2549 ระหว่างนายวันชัย ผู้ยื่นคำร้อง กับสหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท การบินไทย จำกัด นายจ้าง ฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2549
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณานายวันชัย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม โดยให้การและฟ้องแย้งรวมทั้งแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า คำสั่งของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว แต่คำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่สั่งให้โจทก์ที่ 1 จ่ายค่าชดเชย จำนวน 365,732 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 168,069 บาท รวมเป็นเงิน 533,801 บาท ให้แก่จำเลยร่วมยังไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จะต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ของค่าชดเชย 365,732 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2549 ของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 168,069 บาท เงินบำเหน็จ 576,856 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระครบถ้วน กับโจทก์ที่ 1 จะต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระในส่วนเงินรางวัลประจำปีส่วนที่ยังขาดจำนวน 47,232 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยร่วมอีกด้วย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยร่วมขอให้ยกคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วมและฟ้องแย้งของจำเลยร่วม
ระหว่างพิจารณาโจทก์ทั้งสองแถลงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองและยกคำร้องสอดและฟ้องแย้งของจำเลยร่วม
จำเลยร่วมและโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยร่วมประการแรกว่า ศาลแรงงานกลางมีอำนาจหยิบข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยร่วมทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 แล้วไม่ฟ้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวภายใน 30 วัน ขึ้นวินิจฉัยเองโดยที่โจทก์ทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้งได้หรือไม่ เห็นว่า ระยะเวลาในการฟ้องเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานนั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในอันจะบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมในขณะที่นายจ้างสามารถประกอบกิจการหรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ข้อพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้างมีข้อยุติโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตและเศรษฐกิจของสังคมส่วนรวม เงื่อนไขการนำคดีมาสู่ศาลในกรณีดังกล่าวมิใช่เรื่องการใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อการบังคับชำระหนี้ตามมูลหนี้ที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย สัญญา หรือละเมิด ที่อยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ ลักษณะ 6 ว่าด้วยเรื่องอายุความทั่วไป ซึ่งห้ามมิให้ศาลอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องหากคู่กรณีมิได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ทั้งกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 125 เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 อุทธรณ์ของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยร่วมอุทธรณ์ประการต่อไปว่า ดอกเบี้ยของค่าชดเชยและของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี จำเลยร่วมไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 พิจารณาออกคำสั่ง แต่ต้องการฟ้องเอง จึงไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ที่ต้องนำคดีมาฟ้องศาลภายใน 30 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง ส่วนเงินบำเหน็จ เงินรางวัลประจำปี ไม่อยู่ในอำนาจของพนักงานตรวจแรงงานจะสั่งได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นั้น เห็นว่า สำหรับดอกเบี้ยของค่าชดเชยและดอกเบี้ยของค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่จำเลยร่วมอ้างว่ามีสิทธิได้รับจากโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่จำเลยร่วมสามารถเรียกร้องเอาจากโจทก์ที่ 1 ได้พร้อมกับการเรียกเอาหนี้อันเป็นประธานในการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งจำเลยร่วมทราบดีอยู่แล้วว่าตนเองมีสิทธิเรียกร้องหรือไม่ และเมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งโดยไม่กล่าวถึงดอกเบี้ย หากจำเลยร่วมไม่พอใจก็ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายในระยะเวลาเดียวกับเรื่องค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอันเป็นหนี้ประธาน คือใน 30วัน นับแต่วันทราบคำสั่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา125 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยร่วมอ้างว่าไม่ประสงค์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการให้ และต้องการเรียกร้องเอาจากโจทก์ที่ 1 เอง จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 125 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ฟังไม่ขึ้น
ส่วนเงินบำเหน็จและเงินรางวัลประจำปีนั้น เห็นว่า เงินดังกล่าวเป็นสิทธิเป็นประโยชน์ของลูกจ้างที่อาจเกิดขึ้นตามข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงาน หรืออาจเกิดจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจึงมิใช่เงินอย่างใดอย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่พนักงานตรวจแรงงานจะมีอำนาจวินิจฉัยและออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินนั้นให้แก่ลูกจ้างตามมาตรา 123 และ 124 ลูกจ้างจึงมีสิทธิจะฟ้องศาลเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ภายในอายุความของสิทธิเรียกร้องดังกล่าว โดยไม่อยู่ภายใต้กำหนดเวลาที่จะต้องฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานภายใน 30 วัน ตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดีเมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน โดยอ้างเหตุว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้อง โจทก์ทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยร่วมฟ้องแย้งเข้ามาในคดีนี้เพื่อขอให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายเงินรางวัลประจำปีให้แก่ตน จึงเป็นฟ้องแย้งที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมที่ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยร่วมในเรื่องเงินบำเหน็จและเงินรางวัลประจำปีไว้พิจารณา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องศาลภายใน 30 วัน นับแต่ทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ศาลแรงงานกลางบันทึกคำแถลงของนายกิตติพงศ์ไว้ว่า โจทก์ทั้งสองส่งนายกิตติพงศ์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการบริการไปรับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 นายกิตติพงศ์นำคำสั่งถึงจำเลยร่วมไปมอบให้แก่จำเลยร่วมในวันนั้น ส่วนคำสั่งถึงโจทก์ทั้งสอง นายกิตติพงศ์กลับมาที่ทำการของโจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 16 นาฬิกาเศษ หมดเวลาทำงานแล้วจึงเก็บเอกสารไว้มอบให้เจ้าหน้าที่รับส่งเอกสารของโจทก์ที่ 1 ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวมีการลงรับในวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 เวลา 9.50 นาฬิกา เห็นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มอบให้นายกิตติพงศ์ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ที่ 1 ไปรับเอกสารหรือคำสั่งจากจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองย่อมทราบดีว่าจะมีเอกสารหรือคำสั่งของจำเลยที่ 1 มาถึงตน โจทก์ทั้งสองจึงควรที่จะต้องทวงถามเพื่อให้ได้มาซึ่งคำสั่งนั้นเพื่อดำเนินการต่อไปภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยเร็ว การที่นายกิตติพงศ์รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ไปตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2549 แม้จะปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รับส่งเอกสารของโจทก์ที่ 1 ลงทะเบียนรับคำสั่งไว้ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 โจทก์ทั้งสองก็ไม่อาจนำเหตุที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองนำคำสั่งของจำเลยที่ 1 มามอบให้ล่าช้าเองโดยไม่ปรากฏเหตุจำเป็นอื่นมาเป็นเหตุที่จะปฏิเสธว่าตนไม่ทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 นั้นได้ กรณีจึงถือว่าโจทก์ทั้งสองทราบคำสั่งของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2549 แล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 16 มิถุนายน 2549 จึงเป็นการฟ้องคดีเกินกว่า 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share