แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
อ. ทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกตั้งผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ฉบับหลังตั้งผู้คัดค้านทั้งสองกับผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก เมื่อพินัยกรรมฉบับหลังสมบูรณ์ย่อมมีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกที่ตั้งผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ทั้งผู้ร้องที่ 2 มิได้เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ อ. ผู้ร้องที่ 2 จึงไม่มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ อ.
ย่อยาว
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องว่า หลวงอาจอัคคีการ (อาจ ศิริออร์)มีบุตร 7 คน คือ ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ร้องที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2นางพรโพยม สุวรรณทัต นางพงศ์พริ้ง พยัคฆนิธิ นายชาลี ศิริออร์และนายอุดม ศิริออร์ หลวงอาจอัคคีการได้ทำพินัยกรรมลงวันที่ 25มิถุนายน 2520 ยกทรัพย์มรดกให้แก่บุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมทั้ง 7 คน กับมูลนิธิหลวงอาจอัคคีการและแสร์ ศิริออร์ และตั้งผู้ร้องทั้งสองกับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาหลวงอาจอัคคีการได้ทำหนังสือตัดทายาทไม่ให้รับมรดก 5 คน คือผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 2 นางพรโพยม นางพงศ์พริ้ง และนายชาลี หลวงอาจอัคคีการถึงแก่กรรม ผู้ร้องที่ 1 นายอุดมและมูลนิธิหลวงอาจอัคคีการและแสร์ ศิริออร์ จึงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม ขอให้ตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของหลวงอาจอัคคีการ ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้าน พินัยกรรมที่ผู้ร้องขอทั้งสองอ้างมาไม่มีผลบังคับเพราะถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2523 ซึ่งระบุให้บุตรซึ่งเป็นทายาททั้ง 7 คนได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน และตั้งผู้คัดค้านทั้งสองและผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกหลวงอาจอัคคีการไม่เคยทำหนังสือตัดทายาททั้งห้าไม่ให้รับมรดก หากมีหนังสือตัดทายาทจริงก็เป็นเอกสารปลอม จึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมายผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฉบับที่ถูกเพิกถอน ผู้ร้องทั้งสองไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก แต่ผู้คัดค้านทั้งสองสมควรเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของหลวงอาจอัคคีการ และให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านทั้งสองถูกเจ้ามรดกตัดมิให้รับมรดก ส่วนผู้ร้องที่ 2 มิใช่ทายาทโดยธรรมของหลวงอาจอัคคีการและพินัยกรรมฉบับหลังสุดมิได้ตั้งผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของหลวงอาจอัคคีการ ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 2 และคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง ผู้ร้องที่ 2และผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนผู้ร้องที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้เป็นยุติว่า หลวงอาจอัคคีการกับนางแสร์ ศิริออร์ มีบุตรที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยกัน 7 คน คือ ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ร้องที่ 1ผู้คัดค้านที่ 1 นางพรโพยม สุวรรณทัต นางพงศ์พริ้ง พยัคฆนิธินายชาลี ศิริออร์ และนายอุดม ศิริออร์ บิดามารดาหลวงอาจอัคคีการ ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว นางแสร์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5กันยายน 2521 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านทั้งสองและนางแขไขดวง อาชวานนท์ เป็นผู้จัดการมรดกของนางแสร์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 11771/2521 ของศาลชั้นต้น หลวงอาจอัคคีการถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2527 ก่อนตายหลวงอาจอัคคีการได้ทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 25 มิถุนายน 2520 ยกทรัพย์มรดกให้แก่บุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมทั้ง 7 คน กับมูลนิธิหลวงอาจอัคคีการและแสร์ ศิริออร์ และตั้งผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก ตามเอกสารหมาย ร.4 ฉบับหลังเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2523 ยกทรัพย์มรดกให้แก่บุตรทั้ง7 คน โดยแบ่งออกเป็น 7 ส่วนเท่า ๆ กัน และตั้งผู้คัดค้านทั้งสองกับผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามเอกสารหมาย ค.1 ต่อมาวันที่30 มกราคม 2524 หลวงอาจอัคคีการได้ทำหนังสือตัดผู้คัดค้านทั้งสองพร้อมด้วยนางพรโพยม สุวรรณทัต นางพงศ์พริ้ง พยัคฆนิธิ และนายชาลี ศิริออร์ มิให้รับมรดก คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องที่ 2 เพียงว่า หลวงอาจอัคคีการทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2523 ในขณะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์หรือไม่ศาลฎีกาตรวจดูพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2523 ตามเอกสารหมาย ค.1 แล้ว เห็นว่า ลักษณะการเขียน ตัวอักษร และข้อความต่าง ๆ ในพินัยกรรมดังกล่าวไม่มีตอนใดผิดปกติที่จะแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับมีข้อความและความหมายชัดเจน เมื่อเขียนนามสกุลของผู้คัดค้านที่ 2 ผิดเป็นอักษร ณ ก็ได้ขีดฆ่าแล้วเขียนตัวอักษร น ให้ถูกต้อง และได้เซ็นชื่อกำกับไว้ด้วย แสดงถึงความมีสติทั้งมีความรอบคอบอย่างดีอีกด้วยที่ผู้ร้องที่ 2 อ้างว่า หลวงอาจอัคคีการมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ขณะทำพินัยกรรมฉบับดังกล่าว ผู้ร้องที่ 2 ก็ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่า หลวงอาจอัคคีการมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์อย่างไรเหตุผลที่ผู้ร้องที่ 2 ยกขึ้นเป็นข้อฎีกาได้แก่พฤติการณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองที่ได้กระทำต่อหลวงอาจอัคคีการ กล่าวคือผู้คัดค้านทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของนางแสร์ ศิริออร์ได้ยื่นฟ้องหลวงอาจอัคคีการเพื่อเรียกเอาทรัพย์สินจากหลวงอาจอัคคีการ อ้างว่าเป็นสินสมรสระหว่างหลวงอาจอัคคีการกับนางแสร์ ศิริออร์ ทำให้หลวงอาจอัคคีการโกรธผู้คัดค้านทั้งสองส่วนที่ผู้ร้องที่ 2 อ้างว่า หากหลวงอาจอัคคีการมีเจตนาจะทำพินัยกรรมจริง ก็ควรจะมีผู้ปรึกษาหารือหรือผู้หนึ่งผู้ใดจัดทำขึ้นและควรมีพยานรู้เห็นในการทำพินัยกรรมด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นความเข้าใจและเป็นการคาดเดาของผู้ร้องที่ 2 เองทั้งสิ้น จึงไม่มีน้ำหนักที่จะให้รับฟังหักล้างข้อความในพินัยกรรมฉบับดังกล่าวได้ ดังนี้พินัยกรรมฉบับหลังตามเอกสารหมาย ค.1 จึงสมบูรณ์และมีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับแรกที่ตั้งผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกเมื่อปรากฏว่า ผู้ร้องที่ 2 มิได้เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของหลวงอาจอัคคีการ จึงไม่มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของหลวงอาจอัคคีการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713”
พิพากษายืน