คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6631/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ได้มีการทำถนนซอยพิพาทมาแล้วถึงประมาณ30ถึง40ปีและอนุญาตให้ประชาชนใช้เดินเข้าออกมาโดยตลอดแม้เคยมีการห้ามมิให้ฮ. และบุตรของฮ. เดินเพราะบุตรของฮ. ทำเสียงดังและได้เคยห้ามบุคคลที่นำรถไถนาไปวิ่งในทางพิพาทดังกล่าวนั้นก็เป็นเรื่องที่ผู้นั้นทำเสียงดังก่อกวนความสงบสุขและเป็นเรื่องที่จะมาทำให้ถนนเสียหายเท่านั้นมิใช่เป็นเรื่องมีเจตนาที่จะหวงห้ามมิให้ประชาชนทั่วไปเดินในทางพิพาทและการที่เจ้าของที่ดินเดิมช่วยออกเงินกันเองและเรี่ยไรเงินกับผู้ใช้ถนนในซอยมาทำการซ่อมแซมทางพิพาทซื้อเสาไฟฟ้ามาปักก็เป็นเรื่องการปรับปรุงทางพิพาทให้ดีขึ้นและให้ทางพิพาทมีแสงสว่างสะดวกในการใช้ทางพิพาทในเวลากลางคืนมิใช่เป็นเรื่องที่แสดงถึงการสงวนสิทธิไว้ในฐานะเป็นถนนส่วนบุคคลแต่อย่างใดอีกทั้งขณะที่ส.เจ้าของที่ดินเดิมขายที่ดินให้สิบเอกบ.สามีของจำเลยที่1ในแผนที่ของหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก็ยังได้ระบุไว้ว่าถนนพิพาทเป็นถนนสาธารณประโยชน์อยู่แล้วและร้อยตรีช.ก็ได้ซื้อที่ดินจากส.ในวันเดือนปีเดียวกันกับสามีจำเลยที่1เช่นกันก็แสดงอยู่ว่าขณะที่ซื้อมีทางสาธารณะอยู่ก่อนแล้วดังนั้นแม้ร้อยตรีช.จะได้ทำป้ายแสดงว่าถนนดังกล่าวเป็นถนนส่วนบุคคลก็ตามก็ไม่ทำให้ทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวกลับไม่เป็นทางสาธารณะไปได้ถือได้ว่าจำเลยที่1กับพวกเจ้าของที่ดินเดิมยินยอมให้ที่ดินที่นำมาทำเป็นทางพิพาทเป็นทางเดินของบุคคลทั่วไปใช้เป็นทางสัญจรไปมาเป็นเวลาหลายสิบปีดังกล่าวข้างต้นย่อมถือได้ว่าจำเลยที่1กับพวกได้อุทิศที่ดินถนนซอยพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้วทางพิพาทจึงเป็นทางสาธารณะ จำเลยปิดกั้นทางพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่อาจใช้รถบรรทุกดินผ่านทางพิพาทโจทก์ต้องเพิ่มค่าแรงให้แก่ผู้รับเหมานั้นโจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้แต่ดอกเบี้ยจากค่าแรงที่โจทก์อ้างว่าต้องเสียให้แก่ธนาคารวันละ100บาทนั้นเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา222วรรคสองโจทก์จะต้องนำสืบให้เชื่อได้ว่าจำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วว่าโจทก์จะต้องได้รับความเสียหายดังกล่าวเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้ล่วงหน้ามาก่อนค่าเสียหายส่วนนี้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้ คดีทั้งสองสำนวนนี้จำเลยที่1และโจทก์ที่2ต่างฟ้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับการใช้ทางพิพาทเดียวกันซึ่งก่อนที่จะพิจารณากำหนดว่าฝ่ายใดจะต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กันจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในประเด็นอย่างเดียวกันทั้งสองสำนวนว่าทางพิพาทที่จำเลยที่1อ้างว่าเป็นของตนนั้นตกเป็นทางสาธารณะแล้วหรือไม่ก่อนมูลคดีนี้จึงเกี่ยวกับการชำระหนี้มาจากเหตุการวินิจฉัยในข้อเท็จจริงเดียวกันคดีจึงมีลักษณะเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้และถือว่าคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของศาลสองศาลขัดกันจึงต้องถือตามคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่าคือคำพิพากษาของศาลฎีกาในสำนวนแรกนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา146วรรคหนึ่งจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามสำนวนหลังใหม่ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะฉะนั้นในสำนวนหลังโจทก์ที่2จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อจำเลยที่1และไม่ต้องชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่1

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกนายสุทัศน์ ค้าขาย และพันตรีวนิช ค้าขาย ว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2เรียกนางยุพิน มาเจริญ นางอุบลรัตน์ พวงพิพัฒน์จ่าสิบเอกบรรจง พวงพิพัฒน์ และร้อยเอกกมล เกรียงไกรเพ็ชรว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องในสำนวนคดีแรกว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตามน.ส.3 เล่ม 37 หน้า 126 สารบบเลขที่ 231 หมู่ที่ 7ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 เล่ม 5 เลขที่ 7 หน้า 121 ระหว่างที่ดินของโจทก์ที่ 1 กับที่ดินของจำเลยที่ 1 มีทางสาธารณประโยชน์กั้นแนวเขต ทางสาธารณประโยชน์นี้ด้านทิศเหนือจดถนนพหลโยธินโจทก์ที่ 2 เป็นผู้เช่าที่ดินของโจทก์ที่ 1 เพื่อปลูกสร้างอาคารเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2536 ระหว่างโจทก์ที่ 2 ปลูกสร้างอาคารในที่ดินที่เช่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันล้อมรั้วลวดหนามตามแนวเขตที่ดินของโจทก์ที่ 1 ทางด้านทิศตะวันตกบางส่วน ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2536 จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันล้อมรั้วลวดหนามตลอดแนวเขตที่ดินของโจทก์ที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองและผู้รับเหมาก่อสร้างไม่สามารถใช้ทางสาธารณประโยชน์ได้ ทำให้การก่อสร้างล่าช้าไม่สามารถขนส่งวัสดุก่อสร้างเข้าไปดำเนินการก่อสร้างได้ โจทก์ที่ 2 ต้องเสียค่าแรงงานเพิ่มขึ้นเป็นเงิน15,000 บาท ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทางสาธารณประโยชน์คิดเป็นเงินวันละ 100 บาท จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 16 วันรวมเป็นเงิน 1,600 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้การก่อสร้างของโจทก์ที่ 2 เสร็จไม่ทันตามกำหนด ทำให้โจทก์ที่ 2 ต้องขาดประโยชน์จากการให้เช่าอาคารคิดเป็นเงินเดือนละ 6,000 บาทขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรื้อรั้วลวดหนามให้พ้นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ที่ 1 หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้รื้อถอน โดยให้จำเลยทั้งสี่ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 16,600 บาท และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 อีกเป็นเงินเดือนละ 6,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะรื้อถอนรั้วลวดหนามออกไปเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ที่ดินของโจทก์ที่ 1 กับที่ดินของจำเลยที่ 1 ไม่มีทางสาธารณประโยชน์ และที่ดินของจำเลยที่ 4 ทางด้านทิศตะวันออกไม่ติดกับทางสาธารณประโยชน์ ที่ดินของจำเลยที่ 1 ทางด้านทิศตะวันออกติดกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ดินของจำเลยที่ 4 ทางด้านทิศตะวันออกติดกับที่ดินของโจทก์ที่ 2 ทางที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์นั้น เป็นถนนส่วนบุคคลอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กันที่ดินไว้ให้ผู้ที่อยู่เลยเขตที่ดินของจำเลยที่ 1 เข้าไปใช้เป็นเส้นทางเข้าออกสู่ถนนพหลโยธินจำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ล้อมรั้วลวดหนามตามแนวเขตที่ดินจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ฟ้องในสำนวนคดีหลังว่า จำเลยที่ 1เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส.3 เล่ม 5 เลขที่ 7 หน้า 121 ที่ดินของจำเลยที่ 1 แต่เดิมมี ส.ค.1 เป็นหลักฐานไม่ปรากฏว่ามีทางสาธารณประโยชน์ทางด้านทิศตะวันออก จำเลยที่ 1 ไม่ทราบว่าตาม น.ส.3 ระบุว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์ได้อย่างไร จำเลยที่ 1ได้กันที่ดินทางด้านทิศตะวันออกที่ติดกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 เป็นทางกว้างประมาณ 2 เมตร สำหรับผู้ที่อยู่เข้าไปข้างในที่ดินด้านเดียวกับจำเลยที่ 1 ใช้เป็นเส้นทางผ่านเข้าออกสู่ถนนพหลโยธินเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2536 โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินจากโจทก์ที่ 1 ได้ทำการปลูกสร้างอาคารในที่ดินที่เช่าและใช้รถยนต์บรรทุกขนส่งวัสดุก่อสร้างผ่านทางพิพาทที่จำเลยที่ 1 กันไว้เป็นเหตุให้ทางพิพาทได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน 30,000 บาทขณะนี้อาคารที่โจทก์ที่ 2 ปลูกสร้างขึ้นเสร็จแล้ว ผู้ที่เข้าอยู่อาศัยในอาคารของโจทก์ที่ 2 รวมทั้งโจทก์ที่ 2 จะต้องใช้ทางพิพาทเป็นเส้นทางผ่านเข้าออกสู่ถนนพหลโยธินเป็นประจำ จำเลยที่ 1ย่อมได้รับความเสียหายจากการที่โจทก์ที่ 2 และบริวารใช้ทางพิพาทในเวลาต่อไปขอให้โจทก์ที่ 2 ใช้ค่าทดแทนความเสียหายจากการผ่านทางพิพาทคิดเป็นรายปีปีละ 120,000 บาท นับแต่เดือนเมษายน 2536 เป็นต้นไป พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ และค่าทดแทนความเสียหายเป็นรายปีต่อไปจนกว่าโจทก์ที่ 2 และบริวารจะเลิกใช้ทางพิพาท
โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยให้การว่า ทางพิพาททางด้านทิศตะวันออกของที่ดินจำเลยที่ 1 เป็นทางสาธารณประโยชน์ในการปลูกสร้างอาคารในที่ดินของโจทก์ที่ 1 นั้น โจทก์ที่ 2ไม่ได้กระทำละเมิดเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 2 ชำระเงินจำนวน 5,000 บาทและอีกปีละ 2,000 บาท นับแต่เดือนพฤษภาคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าโจทก์ที่ 2 และบริวารจะเลิกใช้ทางพิพาท(ที่ถูกต้องมีข้อความว่าให้แก่จำเลยที่ 1) ให้โจทก์ที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินยอดดังกล่าว นับแต่เดือนเมษายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีตามสำนวนหลัง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้ เพราะคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงและโจทก์ที่ 2ก็ไม่ได้ฎีกาในข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยให้ ถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาเฉพาะสำนวนคดีแรก ซึ่งเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยซึ่งข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินแปลงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเลขที่ 231 หมู่ที่ 7 ตำบลเขาพระงามอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ปรากฏตาม น.ส.3 เอกสารหมายจ.2 โจทก์ที่ 2 ได้เช่าที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1 เพื่อปลูกบ้านให้เช่า โจทก์ที่ 2 มีที่ดินอยู่ทางด้านทิศเหนือของโจทก์ที่ 1จำเลยที่ 1 เป็นมารดาของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เป็นบุตรเขยของจำเลยที่ 1 บุคคลทั้งสามอยู่บ้านเดียวกัน จำเลยที่ 4 มีที่ดินติดกับที่ดินของจำเลยที่ 1 ทางด้านทิศเหนือ ระหว่างที่ดินของโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 2 กับที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 มีถนนซอยชื่อซอยเทพกมลคั่นกลางคดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ถนนหรือซอยเทพกมลที่คั่นกลางระหว่างที่ดินของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเป็นทางสาธารณะหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ถนนซอยพิพาทได้มีการกระทำขึ้นมาแล้วถึงประมาณ 30 ถึง 40 ปี และได้มีการอนุญาตให้ประชาชนใช้เดินเข้าออกมาโดยตลอด ไม่เคยหวงห้ามให้ประชาชนโดยทั่วไปเดินเข้าออกเลย ที่จำเลยนำสืบว่าเคยมีการห้ามมิให้นางเฮี้ยะและบุตรของนางเฮี้ยะเดินเพราะบุตรของนางเฮี้ยะทำเสียงดัง และได้เคยห้ามบุคคลอื่นนำรถไถนาไปวิ่งในทางพิพาทดังกล่าวนั้น ก็เป็นเรื่องที่ผู้นั้นทำเสียงดังก่อกวนความสงบสุขและเป็นเรื่องที่จะมาทำให้ถนนเสียหายเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องมีเจตนาที่จะมิให้ประชาชนทั่วไปเดินในทางพิพาทแต่อย่างใดส่วนการที่เจ้าของที่ดินเดิมช่วยออกเงินกันเองและเรี่ยไรเงินกับผู้ใช้ถนนในซอยมาทำการซ่อมแซมทางพิพาท ซื้อเสาไฟฟ้ามาปักก็เป็นเรื่องการปรับปรุงทางพิพาทให้ดีขึ้นและให้ทางพิพาทมีแสงสว่างสะดวกในการใช้ทางพิพาทในเวลากลางคืน มิใช่เป็นเรื่องที่แสดงถึงการสงวนสิทธิไว้ในฐานะเป็นถนนส่วนบุคคลแต่อย่างใดขณะที่นางสมภพ อิ่มโพ เจ้าของที่ดินเดิมขายที่ดินให้สิบเอกบุญมีมาเจริญ สามีของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2511ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.3(ล.21) แผนที่ของ น.ส.3 ดังกล่าวก็ยังได้ระบุไว้ว่า ถนนพิพาทเป็นถนนสาธารณประโยชน์อยู่แล้ว และร้อยตรีชูชัย ดวงบ้านเช่า(ขณะซื้อมียศเป็นจ่าสิบเอก) พยานโจทก์ก็ได้ซื้อที่ดินกับนางสมภพในวันเดือนปีเดียวกันกับสามีจำเลยที่ 1 เช่นกัน ก็แสดงอยู่ว่าขณะที่ซื้อมีทางสาธารณะอยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้น แม้ร้อยตรีชูชัยจะได้ทำทำป้ายแสดงว่าถนนดังกล่าวเป็นถนนส่วนบุคคลก็ตามก็ไม่ทำให้ทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าวกลับไม่เป็นทางสาธารณะไปได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกเจ้าของที่ดินเดิมยินยอมให้ที่ดินที่นำมาทำเป็นทางเป็นทางพิพาทเป็นทางเดินของบุคคลทั่วไปใช้เป็นทางสัญจรไปมาเป็นเวลาหลายสิบปีดังกล่าวข้างต้นย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกได้อุทิศที่ดินถนนซอยพิพาทให้เป็นทางสาธารณะโดยปริยายแล้ว ฟังได้ว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะดังกล่าวข้างต้น จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีสิทธิปิดกั้น และไม่มีอำนาจห้ามโจทก์และประชาชนผู้ใช้ทางพิพาท การที่จำเลยทั้งสี่ไปปิดกั้นทางเดินของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจที่จะกระทำได้ กรณีจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ทั้งสองจึงได้รับความเสียหาย ที่โจทก์ที่ 2ใช้รถบรรทุกดินเดินบนทางพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณะ ถึงแม้จะทำให้ทางเสียหายก็มิจำต้องรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองเสียหายเพียงใดนั้น โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่า โจทก์ต้องเพิ่มค่าแรงให้แก่ผู้รับเหมาจำนวน 15,000 บาท และเสียค่าดอกเบี้ยแก่ธนาคารเพิ่มขึ้นอีกวันละ 100 บาท รวม 16 วัน เป็นเงิน 16,000บาทนั้น โจทก์มิได้มีหลักฐานมาแสดงว่าได้จ่ายค่าแรงไปจำนวนเท่านั้นจริงหรือไม่ จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำนวน 2,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์อ้างว่าต้องเสียให้แก่ธนาคารวันละ 100 บาท นั้น เป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 222 วรรคสอง โจทก์จะต้องนำสืบให้เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสี่ได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้าก่อนแล้วว่าโจทก์จะต้องได้รับความเสียหายดังกล่าวเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่รู้ล่วงหน้ามาก่อน ค่าเสียหายส่วนนี้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยทั้งสี่ได้ จึงเห็นสมควรให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงส่วนเดียวจำนวน 2,000 บาท ดังกล่าวข้างต้น
อนึ่ง คดีทั้งสองสำนวนนี้จำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ต่างฟ้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับการใช้ทางพิพาทเดียวกัน ซึ่งก่อนที่จะพิจารณากำหนดว่าฝ่ายใดจะต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กันจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในประเด็นอย่างเดียวกันทั้งสองสำนวนว่าทางพิพาทที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นของตนนั้นตกเป็นทางสาธารณะแล้วหรือไม่ก่อน มูลคดีนี้จึงเกี่ยวกับการชำระหนี้มาจากเหตุการวินิจฉัยในข้อเท็จจริงเดียวกัน คดีจึงมีลักษณะเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้และถือว่าคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของศาลสองศาลขัดกัน จึงต้องถือตามคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่า คือคำพิพากษาของศาลฎีกาในสำนวนแรกนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคหนึ่ง จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามสำนวนหลังใหม่ว่า ทางพิพาทเป็นทางสาธารณะฉะนั้นในสำนวนหลังโจทก์ที่ 2 จึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1และไม่ต้องชำระค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง2,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ส่วนผลของคำพิพากษาในสำนวนหลังให้เป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคหนึ่ง

Share