แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ด้านหน้าอาคารพิพาทมิได้ร่นแนวอาคาร และด้านหลังอาคารพิพาทมิได้เว้นที่ว่างอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งปกคลุมผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคารพ.ศ. 2522 ข้อ 72 วรรคสาม และข้อ 76(1) และ (4) ตามลำดับซึ่งโดยสภาพเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวได้ ส่วนชั้นลอยที่ต่อเติมจากแบบแปลนซึ่งตามแบบแปลนชั้นลอยอยู่ช่วงหลังของอาคารระหว่างชั้นหนึ่งกับชั้นสองของอาคารถูกต่อเติมพื้นจนจดด้านหน้าของอาคารมีลักษณะเป็นการเพิ่มขึ้นของอาคารขึ้นอีกหนึ่งชั้นมีเนื้อเกินกว่าร้อยละสี่สิบของพื้นที่ทั้งหมดของห้อง ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 35 วรรคท้าย ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวได้เช่นกัน โจทก์จึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 3 ผู้เป็นเจ้าของอาคารพิพาทรื้อถอนอาคารทั้งสามส่วนดังกล่าวได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522มาตรา 42 วรรคหนึ่ง (เดิม) และมีอำนาจร้องขอให้ศาลบังคับให้มีการรื้อถอนตาม มาตรา 42 วรรคสาม (เดิม) สำหรับชั้นดาดฟ้าซึ่งถูกก่อสร้างต่อเติมผิดไปจากแบบแปลนซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 30(1) นั้น เป็นกรณีที่อาจขออนุญาตได้ โจทก์ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง (เดิม) คือสั่งให้จำเลยที่ 3 แก้ไขเปลี่ยนแปลงชั้นดาดฟ้านั้นให้ถูกต้องเสียก่อนหากจำเลยที่ 3 ไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงชั้นดาดฟ้าให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด โจทก์จึงจะมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 3รื้อถอนชั้นดาดฟ้าที่ก่อสร้างไม่ถูกตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตได้ตามมาตรา 43 วรรคสาม (เดิม) เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการตาม มาตรา 43(เดิม) จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องร้องขอต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนส่วนนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจสอบพบว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำการก่อสร้าง ดัดแปลงต่อเติมอาคารพาณิชย์ที่พักอาศัยไม่มีเลขที่ ถนนเจริญกรุงแขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 16677 ของจำเลยที่ 3 ผิดจากแบบที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยก่อสร้างด้านหน้าอาคารมิได้ถอยร่นแนวอาคาร ต่อเติมพื้นชั้นลอย ก่อสร้างที่ว่างด้านหลังอาคารต่อเติมชั้นดาดฟ้าและมิได้รื้อถอนกันสาดด้านหน้าอาคารเดิม ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และ 4 ผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครและผิดเงื่อนไขตามใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ซึ่งโจทก์ได้ออกคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับการปลูกสร้างและรื้อถอนอาคารส่วนที่ผิดจากแบบ และได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 50,000 บาทอาคารที่ก่อสร้างผิดแบบแปลนมีสภาพการใช้ที่ไม่ปลอดภัย อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินได้ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 21, 22, 40, 42และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 30 (1), 35, 72(1) (4) และเป็นการผิดแบบที่ไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ และโจทก์ไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารที่ผิดแบบแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย โดยที่มิได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรื้อถอนอาคารไม่มีเลขที่ ซึ่งปลูกสร้างลงในที่ดินโฉนดเลขที่ 16677 ถนนเจริญกรุง แขวงสัมพันธวงศ์(จักรวรรคดิ์) กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนที่ก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาตถ้าจำเลยทั้งสามไม่ยอมรื้อถอนได้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายแทนโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม มิได้แสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้น ทำให้จำเลยทั้งสามไม่สามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จำเลยทั้งสองมิได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคารพาณิชย์ที่พักอาศัยซึ่งปลูกในโฉนดที่ดินเลขที่ 16677จำเลยทั้งสองได้สร้างอาคารดังกล่าวขึ้นโดยได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายและได้ก่อสร้างตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตแล้วจำเลยทั้งสองมิได้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้เป็นผู้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์พักอาศัยลงในโฉนดที่ดินเลขที่ 16677แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร แต่ได้รับโอนอาคารเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว โจทก์ไม่เคยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3ระงับการก่อสร้างหรือให้รื้อถอนอาคาร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 รื้อถอนอาคารซึ่งปลูกสร้างลงบนโฉนดที่ดินเลขที่ 16677 ถนนเจริญกรุง แขวงสัมพันธวงศ์(จักรวรรดิ์) เขตสัมพันธวงศ์ (สำเพ็ง) กรุงเทพมหานครเฉพาะส่วนที่ก่อสร้างต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต หากไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายแทนโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 16677 แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์กรุงเทพมหานคร ที่ปลูกสร้างอาคารพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมีอาคารเลขที่ 190 ปลูกสร้างไว้ก่อนแล้วต่อมาวันที่ 10 ตุลาคม 2528 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยกที่ดินพร้อมอาคารเลขที่ 190 ให้แก่จำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.2ครั้นวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 16677แทนอาคารเดิมที่รื้อถอนออกไป เจ้าพนักงานท้องถิ่นคือผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ปฏิบัติการแทนโจทก์ได้ออกใบอนุญาตให้ทำการก่อสร้างได้ในวันที่ 27 มีนาคม 2529 ตามเอกสารหมาย จ.4 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำการก่อสร้างอาคารพิพาทเสร็จแล้วก็ยกให้แก่จำเลยที่ 3 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ไปตรวจสอบอาคารพิพาทพบว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำการก่อสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารพิพาทผิดจากแบบที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522และขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 โจทก์ได้ออกคำสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2ระงับการก่อสร้างอาคารพิพาทและรื้อถอนส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบออกไปและจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปดำเนินคดีอาญา ข้อหาก่อสร้างอาคารพิพาทผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.8 เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ปรับเป็นเงิน 50,000 บาท คดีถึงที่สุดแล้ว ตามเอกสารหมายจ.9 ถึง จ.11
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ในชั้นนี้มีว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรื้อถอนอาคารพิพาทที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ก่อสร้างผิดแบบที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือไม่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ก่อสร้างอาคารพิพาทถูกต้องตามแบบที่ได้รับอนุญาตแล้ว หากศาลฟังว่าพื้นชั้นลอยและหลังคาคลุมชั้นดาดฟ้าสร้างขึ้นไม่ถูกต้องตามแบบก็สามารถแก้ไขได้โจทก์มีนายพิชิต ประเสริฐเจริญสุข ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่โยธาของโจทก์ มีหน้าที่ตรวจอาคาร กับนายอัครวิทย์ จาตุรงคกุลซึ่งเคยทำงานอยู่ที่เขตสัมพันธวงศ์ ในงานโยธาขณะเกิดเหตุเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า พยานทั้งสองได้ไปตรวจอาคารพิพาทพบว่าสร้างผิดแบบเพราะอาคารดังกล่าวไม่ได้ร่นแนวมีการต่อเติมชั้นลอย ก่อสร้างที่ว่างด้านหลัง และต่อเติมชั้นดาดฟ้า และยังไม่ได้รื้อกันสาดด้านหน้าของอาคารเดิม นายพิชิตจึงได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาและทำแผนผังประกอบรายงาน ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 ส่วนนายอัครวิฒน์แจ้งข้อหาต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าก่อสร้างอาคารโดยผิดจากแบบที่ได้รับอนุญาตจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพตามบันทึกจับกุมเอกสารหมาย จ.8 เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองเข้าไปตรวจสอบอาคารพิพาททำรายงานและทำแผนผังประกอบรายงานเสนอต่อผู้บังคับบัญชา กับทำบันทึกการจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามหน้าที่ราชการ ทั้งจำเลยที่ 3 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าว ซึ่งมีข้อความว่าอาคารพิพาทสร้างผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ทำขึ้นไม่ถูกต้องกับสภาพที่แท้จริงของอาคารพิพาทจึงเชื่อว่า รายงานและแผนผังประกอบรายงานและบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8 ซึ่งระบุสภาพของอาคารพิพาทว่าก่อสร้างผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต คือด้านหน้าอาคารมิได้ร่นแนวอาคารขนาด 1.75×3.50 เมตร ก่อสร้างต่อเติมชั้นลอยขนาด3.50×8 เมตร ก่อสร้างปกคลุมทางเดินที่ว่าด้านหลังอาคารขนาด3×3.50 เมตร ต่อเติมชั้นดาดฟ้าขนาด 3.50×10 เมตร ตรงกับสภาพของอาคารพิพาท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าด้านหน้าอาคารพิพาทมิได้ร่นแนวอาคารและด้านหลังอาคารพิพาทมิได้เว้นที่ว่างอันปราศจากหลังคาหรือสิ่งปกคลุมผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 72 วรรคสาม และข้อ 76(1) และ(4) ตามลำดับ ซึ่งโดยสภาพเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวได้ ส่วนชั้นลอยที่ต่อเติมจากแบบแปลนซึ่งตามแบบแปลนชั้นลอยอยู่ช่วงหลังของอาคารระหว่างชั้นหนึ่งกับชั้นสองของอาคารถูกต่อเติมพื้นจนจดด้านหน้าของอาคารมีลักษณะเป็นการเพิ่มชั้นของอาคารขึ้นอีกหนึ่งชั้นมีเนื้อเกินกว่าร้อยละสี่สิบของพื้นที่ทั้งหมดของห้องซึ่งขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 35 วรรคท้าย ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวได้เช่นกัน โจทก์จึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 3 ผู้เป็นเจ้าของอาคารพิพาทรื้อถอนอาคารทั้งสามส่วนดังกล่าวได้ตาม พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง (เดิม) และมีอำนาจร้องขอให้ศาลบังคับให้มีการรื้อถอนตามมาตรา 42 วรรคสาม (เดิม)สำหรับชั้นดาดฟ้าซึ่งถูกก่อสร้างต่อเติมผิดไปจากแบบแปลนซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการผิดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 30(1) นั้น เป็นกรณีที่อาจขออนุญาตได้ โจทก์ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง (เดิม) คือสั่งให้จำเลยที่ 3 แก้ไขเปลี่ยนแปลงชั้นดาดฟ้านั้นให้ถูกต้องเสียก่อนหากจำเลยที่ 3 ไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงชั้นดาดฟ้าให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด โจทก์จึงจะมีอำนาจสั่งให้จำเลยที่ 3 รื้อถอนชั้นดาดฟ้าที่ก่อสร้างไม่ถูกตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตได้ตามมาตรา 43 วรรคสาม (เดิม) เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการตามมาตรา 43 (เดิม) จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องร้องขอต่อศาลให้บังคับให้มีการรื้อถอนส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอในส่วนที่ขอให้รื้อถอนชั้นดาดฟ้า นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์