แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องซึ่งจดแจ้งรายการแห่งข้อหาและคำขอบังคับให้จำเลยทราบ และคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่สั่งให้จำเลยมาศาลในการพิจารณาคดีในวันที่ 8 เมษายน 2546 เวลา 13.00 นาฬิการ ณ ภูมิลำเนาของจำเลย เป็นการส่งหมายเรียกกำหนดเวลาในการนัดพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางให้จำเลย และจำเลยได้รับไว้โดยชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 37 แล้ว จำเลยไม่มาตามกำหนดนัดโดยไม่แจ้งเหตุที่ไม่มาให้ศาลทราบ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในวันนัดพิจารณาคดีว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 40 วรรคสอง หากจำเลยประสงค์จะให้มีการพิจารณาคดีใหม่ จำเลยต้องมาแถลงให้ศาลแรงงานกลางทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งตามมาตรา 41 ศาลแรงงานกลางจึงจะมีอำนาจไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นของจำเลยที่ไม่อาจมาศาลได้ แต่จำเลยมายื่นคำร้องต่อศาลแรงงานเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2546 ซึ่งเกินกำหนด 7 วันดังกล่าวแล้ว กรณีนี้เป็นกรณีขาดนัดตามมาตรา 40 วรรคสอง ซึ่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 41 ได้บัญญัติถึงกรณีดังกล่าวไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา มาใช้บังคับอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระ 19,600 บาท และค่าชดเชย 252,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 165,200 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัด ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสอง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 252,000 บาท และจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระ 19,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 145,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า จำเลยขาดนัดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 วรรคสอง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2546 จำเลยจะต้องยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่เกิน 7 วัน จึงต้องห้ามตามมาตรา 41 ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยมีว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้ยกคำร้องของจำเลยชอบหรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องซึ่งจดแจ้งรายการแห่งข้อหาและคำขอบังคับให้จำเลยทราบ และคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่สั่งให้จำเลยมาศาลในการพิจารณาคดีในวันที่ 8 เมษายน 2546 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ ภูมิลำเนาของจำเลยเป็นการส่งหมายเรียกกำหนดเวลาในการนัดพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางให้จำเลย และจำเลยได้รับไว้โดยชอบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 แล้ว จำเลยไม่มาตามกำหนดนัดโดยไม่แจ้งเหตุที่ไม่มาให้ศาลแรงงานกลางทราบ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในวันนัดพิจารณาคดีคือเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2546 ว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 40 วรรคสอง หากจำเลยประสงค์จะให้มีการพิจารณาคดีใหม่ จำเลยต้องมาแถลงให้ศาลแรงงานกลางทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งตามมาตรา 41 ศาลแรงงานกลางจึงจะมีอำนาจไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นของจำเลยที่ไม่อาจมาศาลได้ แต่จำเลยมายื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2546 ซึ่งเกินกำหนด 7 วันดังกล่าวแล้วกรณีนี้เป็นกรณีขาดนัดตามมาตรา 40 วรรคสอง ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 ได้บัญญัติถึงกรณีดังกล่าวไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงไม่อานจำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา มาใช้บังคับอีก ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน