คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8309/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนสิทธิที่จะอยู่อาศัยในเคหะสถานของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุข โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหาย หรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป ได้แก่การดำเนินการให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นหรือหาวิธีป้องกันมิให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสอง
เมื่อศาลมีคำพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โจทก์ทั้งสองชอบที่จะให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังและกลิ่นเหม็นนั้นระงับสิ้นไป ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์อีกต่อไป
การตั้งโรงงานของจำเลยทั้งสอง แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และสมควรจะย้ายไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมตามที่โจทก์อ้างมา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดต่อรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่น
ค่าใช้จ่ายในการป้องกันเสียงดังและระงับกลิ่นเหม็น อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านโจทก์ทั้งสอง ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินมาสร้างบ้านอีกหนึ่งหลัง และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างคนเฝ้าบ้านนั้น มิใช่ผลธรรมดาที่เกิดจากเหตุกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง แต่เป็นความเสียหายที่ไกลเกินเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยขอให้ห้ามจำเลยทั้งสองทำโครงหลังคารถยนต์ เต็นท์ผ้าใบ งานเกี่ยวกับเหล็ก อะลูมิเนียม ซึ่งก่อให้เกิดเสียงดัง การพ่นสี ซึ่งส่งกลิ่นเหม็นทำความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์ทั้งสอง ให้ย้ายโรงงานของจำเลยทั้งสองไปตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมหรือสถานที่อื่นตามที่ศาลเห็นสมควรให้ห่างไกลจากบ้านโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 220,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจำเลยทั้งสองจะหยุดการกระทำอันเป็นละเมิด และค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะหยุดกระทำละเมิด
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 มีนาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆ ซึ่งก่อให้เกิดเสียงดังและพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 มีนาคม 2543) จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 332/7 ถนนจิระ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยพักอาศัยอยู่ที่บ้านดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2532 ส่วนจำเลยทั้งสองมาเช่าบ้านเลขที่ 332/6 ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านโจทก์ทั้งสองประมาณ 3 เมตร มีถนนซอยคั่นกลางตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2533 ใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจการทำหลังคารถยนต์และเต็นท์ผ้าใบ ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2536 จำเลยทั้งสองได้ซื้อที่ดินที่อยู่ติดกับหลังบ้านที่เช่า เนื้อที่ 2 งานเศษ แล้วสร้างอาคารโรงงานเลขที่ 332/8 เป็นสถานที่ประกอบกิจการเพิ่มเติม สำหรับการประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองมีการเคาะเหล็ก เชื่อมเหล็กและเจียระไนเหล็ก ส่งเสียงดัง และมีการพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแก่อนามัยและเดือดร้อนรำคาญ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญนั้นให้สิ้นไป โดยไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 อีกด้วย คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานอันเป็นสถานที่ประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองไปอยู่ที่อื่นหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของโรงงานย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยโรงงานอันเป็นทรัพย์สินของตนได้เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนสิทธิที่จะอยู่อาศัยในเคหสถานของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุข สิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหาย หรือเดือดร้อนรำคาญนั้นให้สิ้นไป ได้แก่การดำเนินการให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดเสียงดังและสิ่งกลิ่นเหม็นหรือหาวิธีป้องกันมิให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็น อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสองดังกล่าว ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า กิจการของจำเลยทั้งสองเป็นงานช่างที่ก่อให้เกิดเสียงดังและมีการพ่นสีส่งกลิ่นเหม็น ตราบใดที่โรงงานของจำเลยทั้งสองอยู่ใกล้บ้านของโจทก์ทั้งสอง ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญนั้น เห็นว่า ศาลมีคำพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือนร้อนรำคาญให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โจทก์ทั้งสองชอบที่จะขอให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังและกลิ่นเหม็นนั้นระงับสิ้นลง ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไป ส่วนการตั้งโรงงานของจำเลยทั้งสอง แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และสมควรที่ต้องย้ายไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมตามที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในฎีกา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดต่อรัฐเพราะการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสองได้รับการเยียวยาดังกล่าวมาแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่นนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อต่อไปมีว่า ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองมีเพียงใด เห็นว่า ค่าใช้จ่ายในการป้องกันเสียงดังและระงับกลิ่นเหม็น อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านโจทก์ทั้งสอง ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินมาสร้างบ้านอีกหนึ่งหลังและค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างคนเฝ้าบ้านนั้น มิใช่ผลธรรมดาที่เกิดจากเหตุกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง แต่เป็นความเสียหายที่ไกลเกินเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด ส่วนที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าได้รับความเสียหายต่อสุขภาพอนามัยโดยโจทก์ที่ 1 มีอาการหูตึง ประสาทเครียด ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารและภูมิแพ้ และทำให้โจทก์ที่ 2 มีอาการปวดหู เจ็บคอ เสียงแหบ แสบจมูก ประสาทเครียด นอนไม่หลับ และป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ โจทก์ทั้งสองต้องไปให้แพทย์ตรวจรักษาที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ปฏิเสธหรือโต้แย้งอาการเจ็บป่วยของโจทก์ทั้งสอง จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายต่อสุขภาพอนามัยจริง แต่ที่โจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียสุขภาพอนามัยเป็นเงิน 100,000 บาท นั้น โจทก์ทั้งสองนำสืบลอย ๆ ไม่มีหลักฐานการเสียค่ารักษาพยาบาลมายืนยันให้แน่นอนว่า ได้เสียค่ารักษาพยาบาลไปเมื่อไร และจำนวนเท่าใด จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายส่วนนี้ตามที่กล่าวอ้างมาในฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปนับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ไม่มีเหตุที่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share