แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อน บ. เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 คนก่อนได้ฟ้อง ข. เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 คนก่อน ให้ขนย้ายและรื้อถอนสิ่งกีดกั้นออกจากทางพิพาทกับจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้บังคับตามคำขอของ บ. ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 ให้รื้อถอนสิ่งกีดขวางกับสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยกระทำขึ้นใหม่ภายหลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าวแล้ว กับจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 และ 15764 ของโจทก์ ดังนั้นเหตุที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรื้อถอนสิ่งกีดขวางกับสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้จึงเป็นคนละเหตุกับที่ บ. ฟ้อง ข. ในคดีก่อน โจทก์ไม่อาจมีคำขอให้บังคับจำเลยในคดีก่อนได้ ทั้งคดีก่อน บ. ก็มิได้ดำเนินการบังคับคดีให้มีการจดทะเบียนภาระจำยอมจนพ้นกำหนดเวลาบังคับคดีไปแล้ว แม้โจทก์จะเป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 จาก บ. โจทก์ก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องได้ ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
คดีก่อนศาลฎีกาพิพากษาว่า ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 โดยอายุความ อันเป็น ทรัพยสิทธิที่ติดไปกับตัวทรัพย์ กรณีหาใช่เป็นภาระจำยอมโดยนิติกรรมซึ่งยังมิได้จดทะเบียนอันเป็นบุคคลสิทธิดังที่จำเลยฎีกาไม่ จำเลยหาอาจอ้างว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริต จึงมีสิทธิดีกว่าโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ได้ไม่ เพราะสิทธิตามความหมายในบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นสิทธิในประเภทเดียวกัน แต่ภาระจำยอมเป็นสิทธิในประเภทรอนสิทธิ ส่วนกรรมสิทธิ์เป็นสิทธิในประเภทได้สิทธิ เป็นสิทธิคนละประเภทกัน ทั้งโจทก์และจำเลยเป็นผู้สืบสิทธิจากคู่ความในคดีก่อน คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย
แม้ทางพิพาทจะเกิดจากข้อตกลงระหว่าง พ. กับ บ. ที่ตกลงให้กันที่ดินของแต่ละฝ่ายไว้เพื่อใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่เมื่อ บ. และผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 และ 15764 จาก บ. ตลอดมาจนถึงโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอมติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปี ก็ย่อมได้ภาระจำยอมโดยอายุความได้เช่นกัน
คำว่า ภาระจำยอมหมดประโยชน์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1400 วรรคหนึ่ง หมายความว่าไม่สามารถใช้ภารยทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่สามยทรัพย์ได้อีกต่อไป หากภารยทรัพย์ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่แม้ไม่มีการใช้ภารยทรัพย์นั้น ก็หาใช่ภาระจำยอมหมดประโยชน์ตามความหมายของบทกฎหมายดังกล่าวไม่ ดังนั้น แม้ที่ดินของโจทก์อันเป็นสามยทรัพย์จะมีทางออกทางอื่นสู่สาธารณะและโจทก์ใช้ทางดังกล่าวนี้เป็นหลัก แต่เมื่อทางพิพาทยังมีสภาพเป็นทางเดินคงเดิม ทางภาระจำยอมจึงยังไม่หมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ ภาระจำยอมยังไม่สิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1400 วรรคหนึ่ง
ปัญหาว่าการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้น จำเลยก็ยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 ซึ่งเป็นที่ดินส่วนที่ บ. กันไว้เป็นทางออกสู่ซอยวัดยางสุทธารามตามที่ตกลงกับ พ. แต่ที่ดินแปลงนี้อยู่ด้านในไม่เป็นประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยที่จะออกสู่ซอยวัดยางสุทธาราม ที่ พ. ทำข้อตกลงกับ บ. ให้ บ. กันที่ดินของ บ. ดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของ พ. แปลงอื่นซึ่งอยู่ด้านในเท่านั้น การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งกีดขวางกับสิ่งปลูกสร้างออกจากทางพิพาทและจดทะเบียนให้ทางพิพาทกว้าง 2 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 ตำบลบ้านช่างหล่อ (บางเสาธง) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 และ 15764 ตำบลบ้านช่างหล่อ (บางเสาธง) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองและให้โจทก์ผู้รื้อถอนสิ่งกีดขวาง โดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่า ภาระจำยอมในทางพิพาทตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2198/2524 สิ้นไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทตกเป็นทางภาระจำยอม ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 ของจำเลยทั้งสองเป็นภารยทรัพย์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 และ 15764 ของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งกีดขวางกับสิ่งปลูกสร้างออกจากทางภาระจำยอมดังกล่าว กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ของโจทก์ให้ยก และยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 บริเวณด้านทิศเหนือกว้าง 2 เมตร ยาวตลอดแนวที่ดินของจำเลยทั้งสอง ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 และ 15764 ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินส่วนดังกล่าวเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 และ 15764 จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 ที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยทั้งสองมีอาณาเขตติดต่อกัน โดยที่ดินของโจทก์อยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินของจำเลยทั้งสอง ทางพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลยทั้งสองด้านทิศเหนือกว้าง 2 เมตร ยาวตลอดแนวเขตที่ดิน เดิมนายบุญชัยเจ้าของที่ดินของโจทก์คนก่อนกับพวกได้ฟ้องนางเข็มเจ้าของที่ดินของจำเลยทั้งสองคนก่อนให้ขนย้ายและรื้อถอนสิ่งกีดกั้นออกจากทางพิพาทกับจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้บังคับตามคำขอของโจทก์ในคดีนั้น ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2198/2524 ต่อมาปี 2538 โจทก์ก่อสร้างอาคารบนที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงดังกล่าว และจำเลยทั้งสองก็ได้ก่อสร้างอาคารบนที่ดินโฉนดเลขที่ 4314 ของจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 และได้ปิดกั้นทางพิพาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อแรกมีว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2198/2524 หรือไม่ เห็นว่า ในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2198/2524 นายบุญชัยกับพวกได้ฟ้องนางเข็มให้ขนย้ายและรื้อถอนสิ่งกีดกั้นออกจากทางพิพาท กับจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 ซึ่งศาลฎีกามีคำพิพากษาให้บังคับตามคำขอของโจทก์ในคดีนั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รื้อถอนสิ่งกีดขวางกับสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสองกระทำขึ้นใหม่ภายหลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2198/2524 แล้ว กับจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 และ 15764 ดังนั้น เหตุที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งกีดขวางกับสิ่งปลูกสร้างในคดีนี้จึงเป็นคนละเหตุกับที่นายบุญชัยกับพวกฟ้องนางเข็มในคดีก่อน โจทก์ไม่อาจมีคำขอให้บังคับจำเลยในคดีก่อนได้ ทั้งคดีก่อนนายบุญชัยกับพวกก็มิได้ดำเนินการบังคับคดีให้มีการจดทะเบียนภาระจำยอมจนพ้นกำหนดเวลาบังคับคดีไปแล้ว แม้โจทก์จะเป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 จากนายบุญชัย โจทก์ก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องได้ ฟ้องของโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2198/2524
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปมีว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2198/2524 มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2198/2524 ศาลฎีกาพิพากษาว่า ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 โดยอายุความ อันเป็นทรัพยสิทธิที่ติดไปกับตัวทรัพย์ กรณีหาใช่เป็นภาระจำยอมโดยนิติกรรมซึ่งยังมิได้จดทะเบียนอันเป็นบุคคลสิทธิดังจำเลยทั้งสองฎีกาไม่ จำเลยทั้งสองหาอาจอ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5340 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริต จึงมีสิทธิดีกว่าโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง ได้ไม่ เพราะสิทธิตามความหมายในบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นสิทธิในประเภทเดียวกัน แต่ภาระจำยอมเป็นสิทธิในประเภทรอนสิทธิ ส่วนกรรมสิทธิ์เป็นสิทธิในประเภทได้สิทธิ เป็นสิทธิคนละประเภทกัน ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นผู้สืบสิทธิจากคู่ความในคดีก่อน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2198/2524 จึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสอง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปมีว่า ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความหรือไม่ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2198/2524 มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสอง จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีดังกล่าวว่าทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 โดยอายุความ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 นั้น เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 15764 นายบุญชัยเจ้าของที่ดินคนก่อนได้แบ่งแยกเพื่อใช้เป็นทางออกสู่ซอยวัดยางสุทธาราม จึงฟังได้ว่าทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 ด้วยเช่นกัน ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ทางพิพาทเกิดจากข้อตกลงระหว่างสิบตรีเพิ่มกับนายบุญชัย จึงไม่อาจตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความได้นั้น เห็นว่า แม้ทางพิพาทจะเกิดจากข้อตกลงระหว่างสิบตรีเพิ่มกับนายบุญชัยที่ตกลงให้กันที่ดินของแต่ละฝ่ายไว้เพื่อใช้เป็นทางออกสู่ซอยวัดยางสุทธาราม แต่เมื่อนายบุญชัยและผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 และ 15764 จากนายบุญชัยตลอดมาจนถึงโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินออกสู่ซอยวัดยางสุทธารามโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอมติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปี ก็ย่อมได้ภาระจำยอมโดยอายุความได้เช่นกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปมีว่า ภาระจำยอมสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1400 วรรคหนึ่ง หรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาปัญหาข้อนี้ว่า ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ถนนพรานนกซึ่งเป็นทางสาธารณะแล้ว ความจำเป็นที่จะใช้ทางพิพาทเพื่อประโยชน์แก่สามยทรัพย์จึงหมดไป เห็นว่า คำว่าภาระจำยอมหมดประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1400 วรรคหนึ่ง หมายความว่าไม่สามารถใช้ภารยทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่สามยทรัพย์ได้อีกต่อไป หากภารยทรัพย์ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่แม้ไม่มีการใช้ภารยทรัพย์นั้นก็หาใช่ภาระจำยอมหมดประโยชน์ตามความหมายของบทกฎหมายดังกล่าวไม่ ดังนั้น แม้ที่ดินของโจทก์อันเป็นสามยทรัพย์จะมีทางออกทางอื่นสู่ทางสาธารณะและโจทก์ใช้ทางดังกล่าวนี้เป็นหลัก แต่เมื่อทางพิพาทยังมีสภาพเป็นทางเดินคงเดิม ทางภาระจำยอมจึงยังไม่หมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์ ภาระจำยอมยังไม่สิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1400 วรรคหนึ่ง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อต่อไปมีว่า การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้น แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก เห็นว่า แม้โจทก์จะปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนดเลขที่ 5342 ซึ่งเป็นที่ดินส่วนที่นายบุญชัยกันไว้เป็นทางออกสู่ซอยวัดยางสุทธารามตามที่ตกลงกับสิบตรีเพิ่ม แต่ที่ดินแปลงนี้อยู่ด้านในไม่เป็นประโยชน์แก่ที่ดินของจำเลยทั้งสองที่จะออกสู่ซอยวัดยางสุทธาราม ที่สิบตรีเพิ่มทำข้อตกลงกับนายบุญชัยให้นายบุญชัยกันที่ดินของนายบุญชัยดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของสิบตรีเพิ่มแปลงอื่นซึ่งอยู่ด้านในเท่านั้น การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.