คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 410/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์อ้างว่า ตนมีส่วนในที่ดินมากกว่าจำเลยซึ่งมีชื่อในโฉนดด้วยกันนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบ หักล้างข้อสันนิษฐานส่วนเท่ากัน ในความเป็นเจ้าของได้
หากหลักฐานในสำนวนยังไม่พอฟังดังข้ออ้างของโจทก์ ศาลไม่ควรสั่งงดสืบพยานเสียทั้งๆ ที่โจทก์กำลังทำการ สืบอยู่ มิฉะนั้นศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นพิจารณาต่อไปและ พิพากษาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ จำเลยที่ 1 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน 1 แปลง แต่เป็นของโจทก์ประมาณ 31 ไร่เศษ ของจำเลยประมาณ 4 ไร่เศษ โดยปกครองกันเป็นส่วนสัด แต่ยังมิได้แบ่งแยกกัน จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 ได้บุกรุกเข้าไปทำนาในที่ส่วนของโจทก์ ขอให้ห้ามและแบ่งแยกที่ดิน กับเรียกค่าเสียหาย จำเลยต่อสู้ว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน ของโจทก์ 2 ส่วน ของจำเลย 1 ส่วนการครอบครองไม่เป็นส่วนสัด เมื่อสืบตัวโจทก์ไม่ทันจนปากศาลสอบถึงเอกสาร ทั้งโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบเรื่องค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานทั้ง 2 ฝ่าย พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์เพียง 3 ไร่ 32 วา ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินนอกเขตนี้ และให้แบ่งแยก

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามทะเบียนไม่ปรากฏว่า ผู้ใดมีส่วนมากน้อยกว่ากัน ต้องถือว่ามีส่วนคนละเท่า ๆ กัน ที่โจทก์ว่า จำเลยมี 1 ใน 3 แต่โจทก์ไม่สืบก็ต้องแพ้คดีพิพากษากับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ชื่อในโฉนดจะมีปรากฏอยู่ 3 คนก็ดี โจทก์ก็ย่อมสืบหักล้างข้อสันนิษฐานว่า ความจริงมีอยู่ไม่เท่ากันนั้นได้คดีนี้โจทก์ก็กำลังทำการสืบแสดงเช่นว่านั้น หากศาลเห็นว่าพยานเอกสารที่คู่ความรับกันนั้นฟังได้ตามข้ออ้างของโจทก์แล้วจึงสั่งงดสืบพยานทั้งสองฝ่ายเสีย เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานหลักฐานในท้องสำนวนเท่าที่มียังไม่พอฟังหักล้างข้อสันนิษฐานส่วนเท่ากันในความเป็นเจ้าของได้ ก็ชอบจะให้โอกาสโจทก์ดำเนินคดีสืบพยานต่อไป รูปคดีจะต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์ก่อน

พิพากษา ให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้ง 2 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาต่อไป และพิพากษาใหม่

Share