คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ตามเอกสารหมายจ.1 แผ่นที่ 20 ระบุไว้ชัดเจนว่าบริษัท ส.ผู้ซื้อได้ชำระค่าที่ดินจำนวน 70 ล้านบาทให้โจทก์ผู้ขายเรียบร้อยแล้ว สัญญาดังกล่าวทำต่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนตามกฎหมายเชื่อว่า ได้มีการชำระค่าที่ดินครบถ้วนตามนั้น ที่โจทก์นำสืบว่า การชำระราคาที่ดินเป็นไปตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 16 และ 17กล่าวคือ ชำระเป็นเงินสด 35 ล้านบาท โดยผ่อนชำระเป็น 5 งวด งวดละ7 ล้านบาท แต่ละงวดห่างกัน 1 ปี จำนวนที่เหลือ 35 ล้านบาท ชำระเป็นหุ้นของบริษัท ส.ในปี 2526 และ 2527 ได้รับชำระมาแล้วปีละ 7 ล้านบาท ปี 2528ไม่ได้รับ ปี 2529 ได้รับชำระเพียง 2 ล้านบาท นั้น เป็นการนำสืบที่ขัดต่อสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 20 อีกทั้งสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 16 ถึง 17 เป็นสัญญาที่ทำกันเองระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. กรรมการและผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของทั้งสองฝ่ายเป็นญาติกัน อาจจะทำสัญญาดังกล่าวกันอย่างไรหรือเมื่อใดก็ได้ และจะให้มีผลผูกพันกันจริงหรือไม่ก็ได้ และตามบัญชีงบดุลของบริษัท ส.ก็ลงไว้ว่า ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่บริษัทโจทก์เป็นเงิน 7 ล้านบาท และตั้งบริษัทโจทก์เป็นเจ้าหนี้ 70 ล้านบาท และลงว่าได้ชำระค่าหุ้นเป็นเงิน 35 ล้านบาทรวมเป็นเงิน 70 ล้านบาท ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวแสดงว่าบริษัท ส.ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่โจทก์แล้วจำนวน 70 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อบริษัท ส.ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากโจทก์ก็ได้นำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมธนาคาร ในวันเดียวกันจำนวน70 ล้านบาท แสดงว่า บริท ส.นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวมาชำระราคาที่ดินให้โจทก์ และโจทก์ได้จ่ายเป็นค่าหุ้นให้บริษัท ส. 35 ล้านบาท และให้บริษัท ส.กู้ยืมจำนวน 28ล้านบาท จึงเชื่อได้ว่าโจทก์มีรายได้จากการขายที่ดินจำนวน 70 ล้านบาท การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ทำการประเมินและมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยนำรายได้ดังกล่าวมาลงบัญชีรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2526 จึงชอบแล้ว
คดีนี้ถ้าตรวจดูเฉพาะเอกสารหลักฐานทางบัญชีของโจทก์เท่านั้นก็ไม่สามารถทราบได้ว่าโจทก์หลีกเลี่ยงกำหนดรายได้ให้น้อยลงเพื่อที่จะเสียภาษีให้น้อยกว่าความเป็นจริง และไม่มีกฎหมายห้ามมิให้เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยถือเอาเอกสารหลักฐานทางบัญชีของบริษัทที่ติดต่อเกี่ยวข้องกับโจทก์มาประกอบการพิจารณาแต่อย่างใด ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยนำเอกสารหลักฐานทางบัญชีของโจทก์มาพิจารณาประกอบการประเมิน จึงชอบแล้ว

Share