คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8358/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดการศพแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 27,033.33 บาทและให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 192,000 บาท ซึ่งเท่ากับให้ร่วมชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์คนละ 96,000 บาท เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้องทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยที่ 2 กับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้ประมาทเลินเล่อหรือหากมีส่วนประมาทเลินเล่อก็เพียง1 ใน 4 ส่วน ค่าใช้จ่ายในการจัดการศพไม่เกิน 20,000 บาทค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสองรวมกันไม่เกิน 1,200 บาทต่อเดือน เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ทั้งสองได้ระบุอ้างบัญชีค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตายไว้ในบัญชีระบุพยานโดยชอบแล้ว แม้มิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า3 วัน อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 90(เดิม) วรรคแรก แต่โจทก์ทั้งสองก็อ้างส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลในวันสืบพยานนัดแรกซึ่งโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่สืบก่อน เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี จำเลยที่ 2 มีโอกาสจะซักค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวและมีโอกาสที่จะนำสืบหักล้างเอกสารดังกล่าวได้ การรับฟังพยานเอกสารเช่นว่านี้จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2เสียเปรียบแต่ประการใด ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลจึงมีอำนาจที่จะรับฟังบัญชีค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตายตามเอกสารดังกล่าวได้ตามมาตรา 87(2) แม้ผู้ตายมิได้ขับรถจักรยานยนต์ล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของรถยนต์โดยสารก็ตาม แต่การที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นมาด้วยความเร็วสูงผ่านโค้งก่อนถึงที่เกิดเหตุและไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย และเมื่อรถสวนกันก็ไม่ขับชิดด้านซ้ายของทางเดินรถ ซึ่งเป็นการไม่ปฎิบัติ ตามกฎหมายจึงเกิดชนกับรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับสวนทางมา ถือได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย การกำหนดค่าขาดไร้อุปการะย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดู ถ้าหากเคยได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจริงก็นำมาพิจารณาประกอบด้วยส่วนระยะเวลาในอนาคตที่จะคำนวณค่าขาดไร้อุปการะเป็นจำนวนเดียวนั้น ก็ต้องพิจารณาว่าตามความหวังที่มีเหตุผลหากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใด และเป็นเวลานานเท่าใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นบิดาและมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายปริญญา ตังตาผู้ตาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุรถเฉี่ยวชนกันมิใช่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ตายที่ขับรถจักรยานยนต์ไปตามถนนมุขมนตรีด้วยความเร็วสูง และเมื่อแล่นมาก่อนถึงที่เกิดเหตุเป็นทางโค้งผู้ตายไม่ชะลอความเร็วของรถลงและไม่ขับชิดขอบทางด้านซ้าย กลับขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงและแล่นล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารกับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกัน ค่าใช้จ่ายในการปลงศพของผู้ตายอย่างสูงไม่เกิน 5,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะที่เรียกร้องมาเป็นการคาดการณ์ที่สูงกว่าความเป็นจริงค่าขาดไร้อุปการะสำหรับโจทก์ทั้งสองรวมแล้วไม่เกินคนละ20,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 219,033.33 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 มีนาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2534 จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10 – 0895 นครราชสีมาในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนมุขมนตรีแล้วเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์คันที่นายปริญญา ตังตา ขับสวนทางมาเป็นเหตุให้นายปริญญาถึงแก่ความตาย สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดการศพแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 27,033.33 บาท และให้จำเลยที่ 2 ร่วมชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 192,000 บาท ซึ่งเท่ากับให้ร่วมชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์คนละ 96,000บาท เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับจำเลยที่ 2 กับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน200,000 บาท ห้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อหรือหากมีส่วนประมาทเลินเล่อก็เพียง 1 ใน 4 ส่วนค่าใช้จ่ายในการจัดการศพไม่เกิน 20,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสองรวมกันไม่เกิน 1,200 บาท ต่อเดือน เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงรับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 เฉพาะในข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าบัญชีค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตายเอกสารหมาย จ.7 โจทก์ทั้งสองจัดทำขึ้นเองและ ไม่ส่งสำเนาให้จำเลยที่ 2 ก่อนสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ไม่ควรรับฟัง เห็นว่า โจทก์ทั้งสองได้ระบุอ้างบัญชีค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตายไว้ในบัญชีระบุพยานโดยชอบแล้ว แม้มิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน อันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90(เดิม) วรรคแรก แต่โจทก์ทั้งสองก็อ้างส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลในวันสืบพยานนัดแรกโจทก์ทั้งสองมีหน้าที่นำสืบก่อนเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีจำเลยที่ 2 มีโอกาสจะซักค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวและมีโอกาสที่จะนำสืบหักล้างเอกสารดังกล่าวได้ การรับฟังเอกสารเช่นว่านี้จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2เสียเปรียบแต่ประการใด ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลจึงมีอำนาจที่จะรับฟังบัญชีค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตายเอกสารหมาย จ.7 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2)
ส่วนปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกมีว่าเหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ตายด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ตายมิได้ขับรถจักรยานยนต์ล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของรถยนต์โดยสาร แต่อย่างไรก็ดีปรากฎตามรายงานการสอบสวนคดีอาญาเอกสารหมาย ล.2 ว่า ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นมาด้วยความเร็วสูงผ่านโค้งก่อนถึงที่เกิดเหตุ และไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย แสดงให้เห็นว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วสูงและเมื่อรถสวนกันก็ไม่ขับชิดด้านซ้ายของทางเดินรถซึ่งเป็นการไม่ปฎิบัติ ตามกฎหมายจึงเกิดชนกับรถยนต์โดยสารที่จำเลยที่ 1 ขับสวนทาง มาถือได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการสุดท้ายมีว่าโจทก์ทั้งสองควรได้รับค่าขาดไร้อุปการะเพียงใด โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าควรกำหนดให้โจทก์ทั้งสองคนละ 2,500 บาทต่อเดือน เห็นว่าการกำหนดค่าขาดไร้อุปการะย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับการอุปการะเลี้ยงดูถ้าหากเคยได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจริงก็นำมาพิจารณาประกอบด้วย ส่วนระยะเวลาในอนาคตที่จะคำนวณค่าขาดไร้อุปการะเป็นจำนวนเดียวนั้น ก็ต้องพิจารณาว่าตามความหวังที่มีเหตุผลหากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใดและเป็นเวลานานเท่าใด คดีนี้โจทก์ทั้งสองไม่ได้นำสืบให้ปรากฎว่าหากผู้ตายมีชีวิตอยู่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองได้เพียงใด แต่เมื่อพิจารณาถึงอายุและการศึกษาของผู้ตายซึ่งขณะเกิดเหตุผู้ตายอายุ 19 ปีเศษ กำลังศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงปีที่ 2 เมื่อผู้ตายสำเร็จการศึกษาและประกอบอาชีพแล้วย่อมสามารถให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสองได้ตามสมควร ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองคนละ 1,200 บาท ต่อเดือนเป็นเวลา 10 ปี แต่ต้องรับผิดเพียง 2 ส่วนใน 3 ส่วน รวมเป็นเงินจำนวน 192,200 บาท นั้น เห็นว่าเหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน

Share