คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความถึงการกระทำผิดของจำเลยเนื่องจากผู้เสียหายถึงแก่ความตายไปเสียก่อน แต่โจทก์มีคำให้การของผู้เสียหายที่ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนทันทีหลังเกิดเหตุ และได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันรุ่งขึ้นซึ่งคำให้การของผู้เสียหายเป็นเรื่องราวต่อเนื่องสอดคล้องกับหลักฐานการเบิกเงินจากธนาคาร และยังสอดคล้องกับคำเบิกความของ พ. ซึ่งเป็นเพื่อนจำเลยและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ทั้งผู้เสียหายเคยรักใคร่มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับจำเลย ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุที่ผู้เสียหายจะปรักปรำจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าจำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหาย
การกระทำที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ นั้น ต้องดูที่เจตนาของผู้กระทำผิดเป็นส่วนสำคัญว่าต้องการใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมหรือไม่ เมื่อจำเลยมีเจตนาจะลักเงินสดที่อยู่ในกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายที่วางอยู่ในรถที่จำเลยขับอยู่ก่อนแล้วโดยใช้อุบายหลอกผู้เสียหายให้ลงจากรถไปซื้อน้ำอัดลม แล้วถือโอกาสขับรถซึ่งมีกระเป๋าสะพายใส่เงินและกระเป๋าเสื้อผ้าของผู้เสียหายหนีไป จำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะใช้รถเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาเอาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิคงผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 336 ทวิ กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 125,750 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุก 4 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน125,750 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความถึงการกระทำผิดของจำเลย เนื่องจากผู้เสียหายถึงแก่ความตายไปเสียก่อน แต่โจทก์มีคำให้การของผู้เสียหายที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมายจ.14 ได้ความว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยแนะนำให้ผู้เสียหายถอนเงินที่จะนำไปปลูกบ้านจากธนาคารในจังหวัดระนองเพื่อจะได้ไม่ต้องแวะระหว่างทางที่จะไปบ้านผู้เสียหายที่จังหวัดน่าน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงนำสมุดเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาเมืองทอง แจ้งวัฒนะ ไปถอนเงินต่างสาขาที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาระนอง เป็นเงิน 94,000 บาท และนำเงินดังกล่าวเก็บรวมไว้ในกระเป๋าสะพายหนังสีดำซึ่งมีเงินอยู่ 6,000 บาท แล้วจำเลยขับรถพาผู้เสียหายไปหานายพงษ์ศักดิ์ ย้อยสวัสดิ์ เพื่อนของจำเลยที่บ้านพักครูโรงเรียนอนุบาลแต่บ้านปิด จำเลยชวนผู้เสียหายไปซื้อข้าวแกงที่ร้านใกล้เคียงแล้วกลับมาที่รถ แล้วจำเลยใช้ให้ผู้เสียหายไปซื้อน้ำอัดลมโดยผู้เสียหายไม่ได้นำกระเป๋าสะพายดังกล่าวลงจากรถไปด้วย เมื่อซื้อน้ำอัดลมเสร็จกลับมาก็ไม่พบจำเลย นายพงษ์ศักดิ์แนะนำให้ผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งพันตำรวจตรีเทเวศร์ ปลื้มสุทธิ์ พนักงานสอบสวนได้เบิกความสนับสนุนว่า เมื่อวันที่ 24พฤศจิกายน 2540 เวลา 13 นาฬิกา ผู้เสียหายได้มาแจ้งความต่อพยานว่าจำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายพยานได้สอบคำให้การผู้เสียหายไว้ตามเอกสารหมาย จ.14 อีกทั้งโจทก์ยังมีนายพงษ์ศักดิ์เบิกความสนับสนุนว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 12 นาฬิกา พยานกลับมาที่บ้านพบผู้เสียหายซึ่งไม่รู้จักมาก่อนนั่งรออยู่ที่ใต้ถุนบ้านพัก ผู้เสียหายถามหาจำเลยและเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนกระทั่งจำเลยขับรถหายไปพร้อมกับกระเป๋าใส่เสื้อผ้าและกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายที่ใส่เงินไว้ประมาณ 100,000 บาท โดยผู้เสียหายวางไว้ในรถของจำเลย เห็นว่า ผู้เสียหายได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนทันทีหลังเกิดเหตุและได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันรุ่งขึ้น ซึ่งคำให้การของผู้เสียหายเป็นเรื่องราวต่อเนื่องสอดคล้องกับหลักฐานการเบิกเงินจากธนาคารตามเอกสารหมายจ.21 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเรียกมาจากธนาคาร และยังสอดคล้องกับคำเบิกความของนายพงษ์ศักดิ์ซึ่งเป็นเพื่อนจำเลยและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ทั้งผู้เสียหายเคยรักใคร่มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับจำเลย ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุที่ผู้เสียหายจะปรักปรำจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์แวดล้อมประกอบกันแล้วมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยพาผู้เสียหายซึ่งเป็นคนรักไปเที่ยวจังหวัดระนอง โดยพักค้างคืนตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2540 ต่อมาได้ทะเลาะกันอย่างรุนแรงเนื่องจากผู้เสียหายทราบว่าจำเลยมีภริยาแล้ว วันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 จำเลยขับรถไปส่งผู้เสียหายขึ้นรถยนต์โดยสารที่สถานีขนส่งกลับอำเภอหาดใหญ่ ก็ขัดกับคำให้การของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.18 ที่ว่าหลังจากจำเลยพาผู้เสียหายท่องเที่ยวในจังหวัดระนองแล้วจำเลยจะกลับบ้านของจำเลยที่จังหวัดพังงา ผู้เสียหายจะตามไปด้วย แต่จำเลยไม่ยอมให้ตามไปจึงเกิดทะเลาะกัน พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายเอกสารหมาย จ.10 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ นั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดต่อกฎหมายดังกล่าวต้องดูที่เจตนาของผู้กระทำผิดเป็นสำคัญว่าต้องการใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมหรือไม่ ข้อเท็จจริงในคดีนี้จำเลยมีเจตนาจะลักเงินสดที่อยู่ในกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายที่วางอยู่ในรถที่จำเลยขับอยู่ก่อนแล้ว โดยใช้อุบายหลอกผู้เสียหายให้ลงจากรถไปซื้อน้ำอัดลม แล้วจำเลยถือโอกาสขับรถซึ่งมีกระเป๋าสะพายใส่เงินและกระเป๋าเสื้อผ้าของผู้เสียหายหนีไป จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะใช้รถเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาเอาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ ปัญหานี้แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ จำคุกจำเลย 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share