แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความรับผิดของผู้ส่งของในความเสียหายอันเนื่องมาจากการแจ้งหรือจัดให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความในใบตราส่งโดยไม่ถูกต้องแท้จริงของข้อความเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของเครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ จำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่นตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเลฯ นั้น เพื่อให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความนั้นไว้ในใบตราส่ง และเมื่อผู้ขนส่งได้บันทึกให้ตามที่ผู้ส่งของได้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความนั้นแล้ว จึงจะถือว่าผู้ส่งของได้รับรองกับผู้ขนส่งว่าข้อความที่แจ้งหรือจัดให้นั้นถูกต้องตรงกับความเป็นจริงเกี่ยวกับของนั้นทุกประการ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่ถูกต้องแท้จริงของข้อความดังกล่าว บทบัญญัติ มาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ส่งของรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่ผู้ขนส่งแม้ผู้ส่งของจะได้โอนใบตราส่งนั้นให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้ผู้ขนส่งยังคงต้องรับผิดตามสัญญาขนของทางทะเลต่อบุคคลภายนอกผู้ทรงใบตราส่งนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าเหตุผลที่มาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ส่งของรับผิดต่อผู้ขนส่งสำหรับความเสียหายดังกล่าว เป็นเพราะความเสียหายนั้นเป็นความเสียหายที่ผู้ขนส่งยังคงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ทรงใบตราส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลเนื่องจากผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าที่ขนส่งไม่ถูกต้องตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งอันเป็นผลมาจากผู้ส่งของยืนยันให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของเครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของจำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่นที่ไม่ถูกต้องไว้ในใบตราส่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับใบตราส่งตามมาตรา 32 วรรคสองนี้จึงมิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ขนส่งหรือเรือผู้ขนส่งโดยตรง ดังนี้ การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของแจ้งน้ำหนักของสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปน้อยกว่าน้ำหนักสินค้าของสินค้าตามความเป็นจริง และมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่เรือของโจทก์ที่ 2 ผู้ขนส่งและสินค้าของผู้อื่นในเรือซึ่งไม่ใช่สินค้าตามใบตราส่ง จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 32 มาใช้บังคับได้แต่ต้องบังคับตามมาตรา 31 ซึ่งผู้ส่งของจะต้องรับผิดต่อผู้ขนส่ง ในกรณีที่ความเสียหายเป็นเหตุมาจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งของหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ส่งของหรือจากสภาพแห่งของนั้นเอง โดยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งของนั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายจากการขนส่งสินค้าของจำเลยจำนวน 207,833.05 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการรับขนของทางทะเล โจทก์ที่ 1 ใช้ชื่อทางการค้าว่า นอร์วีเจียนเอเชียไลน์ (Norwegian Asia Line) โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของเรือเดินทะเลชื่อเฮอริเทจ (HERITAGE) ส่วนจำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2542 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าแบบเทกองไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 5 รายการรวมทั้งสิ้น 415 มัด ปริมาตรรวม 536.66 ลูกบาศก์เมตร รวมน้ำหนักประมาณ 378,995 กิโลกรัม จากท่าเรือสิงคโปร์ไปยังท่าเรือโคลัมโบ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ในการขนส่งไม้เนื้อแข็งแปรรูปดังกล่าว โจทก์ที่ 2 ได้ร่วมทำการขนส่งกับโจทก์ที่ 1 โดยนำเรือเฮอริเทจมาใช้ขนส่ง โดยจำเลยได้แจ้งจำนวนปริมาตร และน้ำหนักของไม้เนื้อแข็งแปรรูปแต่ละรายการให้แก่โจทก์ที่ 1 ทราบโจทก์ที่ 1 ได้ออกใบตราส่งจำนวน 5 ฉบับให้แก่จำเลย โดยใบตราส่งแต่ละฉบับได้ระบุจำนวน ปริมาตร และน้ำหนักของไม้เนื้อแข็งแปรรูปตามที่จำเลยได้แจ้งไว้ โจทก์ที่ 1 ได้คิดค่าระวางตามปริมาตรของไม้เนื้อแข็งแปรรูปโจทก์ที่ 1 ได้จัดวางสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปทั้ง 415 มัด ลงในระวางเรือเฮอริเทจโดยนำไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวนหนึ่งจัดวางเรียงบนฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ (Tweendeck Hatch Cover) ของระวางที่ 1 ซึ่งมีเนื้อที่จัดวางสินค้าเหลือประมาณ 104 ตารางเมตร และสามารถรับน้ำหนักบรรทุกได้มากที่สุดจำนวน 317.408 เมตริกตัน เรือเฮอริเทจออกเดินทางจากท่าเรือสิงคโปร์เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2542 ถึงท่าเรือโคลัมโบเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2542 เมื่อจะเปิดฝาระวางที่ 1 เพื่อขนถ่ายสินค้า พบว่าฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของระวางที่ 1 ได้หักยุบลงไป สินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปที่ได้จัดวางไว้บนฝาระวางดังกล่าวหล่นไปทับสินค้าในระวางส่วนล่างแตกชำรุดเสียหาย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อแรกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ฝาระวางเรือของโจทก์ที่ 2 ผู้ขนส่งเป็นความเสียหายที่จำเลยผู้ส่งของต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 32 หรือไม่ โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า กรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของแจ้งน้ำหนักของสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปน้อยกว่าน้ำหนักของสินค้าตามความเป็นจริง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งได้รับความเสียหายตามคำฟ้อง เป็นกรณีที่ต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 32 ในหมวด 3 ว่าด้วยหน้าที่และสิทธิของผู้ส่งของ แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าผู้ส่งของได้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความตามมาตรา 23 เพื่อให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความนั้นไว้ในใบตราส่ง และเมื่อได้บันทึกให้ตามนั้นแล้วให้ถือว่าผู้ส่งของได้รับรองกับผู้ขนส่งว่าข้อความที่แจ้งหรือจัดให้นั้นถูกต้องตรงกับความเป็นจริงเกี่ยวกับของนั้นทุกประการ
ถ้ามีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่ถูกต้องแท้จริงของข้อความตามวรรคหนึ่ง ผู้ส่งของต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ขนส่ง แม้ว่าผู้ส่งของจะได้โอนใบตราส่งนั้นให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้ผู้ขนส่งยังคงต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลต่อบุคคลภายนอก” นั้น เห็นว่า มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ส่งของเป็นผู้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความในใบตราส่งเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของจำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่น ถ้าผู้ขนส่งหรือบุคคลอื่นซึ่งออกใบตราส่งในนามของผู้ขนส่งทราบ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าข้อความดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับของที่รับไว้จริง หรือไม่ถูกต้องตรงกับของที่ได้รับบรรทุกไว้จริงในกรณีที่มีการออกใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” หรือไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของรายการดังกล่าวในใบตราส่ง โดยวิธีการอันสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์ในภาวะเช่นนั้นได้ บุคคลดังกล่าวต้องบันทึกเป็นข้อสงวนไว้ในใบตราส่งโดยระบุถึงข้อที่ไม่ตรงกับความจริง เหตุแห่งความสงสัย หรือพฤติการณ์ที่ไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงได้แล้วแต่กรณี” และมาตรา 25 บัญญัติว่า “ถ้ามิได้บันทึกไว้เป็นข้อสงวนในใบตราส่งตามมาตรา 23 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้รับของไว้หรือได้บรรทุกของลงเรือในกรณีที่เป็นใบตราส่งชนิด “บรรทุกแล้ว” ทั้งนี้ตามรายการที่แสดงไว้ในใบตราส่งนั้น แต่ถ้าใบตราส่งใดได้โอนไปยังผู้รับตราส่งหรือบุคคลภายนอกซึ่งได้กระทำการโดยสุจริต โดยเชื่อข้อความในใบตราส่งนั้นแล้ว ห้ามมิให้ผู้ขนส่งพิสูจน์เป็นอย่างอื่น” เห็นได้ว่า กรณีที่จะต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 32 ดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่ผู้ส่งของได้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความตามมาตรา 23 เกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ จำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่น เพื่อให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความนั้นไว้ในใบตราส่ง และเมื่อผู้ขนส่งได้บันทึกให้ตามที่ผู้ส่งของได้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความนั้นแล้ว จึงจะถือว่าผู้ส่งของได้รับรองกับผู้ขนส่งว่าข้อความที่แจ้งหรือจัดให้นั้นถูกต้องตรงกับความเป็นจริงเกี่ยวกับของนั้นทุกประการ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่ถูกต้องแท้จริงของข้อความดังกล่าว มาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ส่งของรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่ผู้ขนส่งแม้ผู้ส่งของจะได้โอนใบตราส่งนั้นให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วก็ตามแต่ทั้งนี้ผู้ขนส่งยังคงต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลต่อบุคคลภายนอกผู้ทรงใบตราส่งนั้น ซึ่งเห็นได้ว่าเหตุผลที่มาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ส่งของรับผิดต่อผู้ขนส่งสำหรับความเสียหายดังกล่าวเป็นเพราะความเสียหายนั้นเป็นความเสียหายที่ผู้ขนส่งยังคงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ทรงใบตราส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลเนื่องจากผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าที่ขนส่งไม่ถูกต้องตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งอันเป็นผลมาจากผู้ส่งของยืนยันให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของ เครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ จำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่นที่ไม่ถูกต้องนั้นไว้ในใบตราส่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับใบตราส่งตามมาตรา 32 วรรคสอง นี้ จึงมิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ขนส่งหรือเรือของผู้ขนส่งโดยตรงดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 31 ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ขนส่งแก่โจทก์ที่ 1 ผู้ขนส่งว่าเป็นไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 5 รายการ รวมทั้งสิ้น 173 มัด รวมน้ำหนักประมาณ 167.244 เมตริกตัน โจทก์ที่ 1 ได้ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยโดยโจทก์ที่ 1 บันทึกรายละเอียดของสินค้าตามที่จำเลยได้แจ้งไว้มิใช่กรณีที่จำเลยแจ้งน้ำหนักของสินค้าเพื่อให้โจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งบันทึกข้อความไว้ในใบตราส่งและความเสียหายที่เกิดขึ้นในคดีนี้เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เรือของโจทก์ที่ 2 และสินค้าอื่น กล่าวคือ เกิดแก่ฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ และสินค้าอื่นที่ฝาระวางหักพังลงมาทับซึ่งไม่ใช่สินค้าตามใบตราส่ง มิใช่ความเสียหายที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อผู้ทรงใบตราส่งซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอันเป็นความเสียหายที่ผู้ส่งของต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งเนื่องจากการแจ้งข้อความเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของเครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ จำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่นเพื่อให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความนั้นไว้ในใบตราส่งไม่ถูกต้องตามมาตรา 32 ดังนี้ กรณีที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของแจ้งน้ำหนักของสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปน้อยกว่าน้ำหนักของสินค้าตามความจริง และมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่เรือของโจทก์ที่ 2 ผู้ขนส่งและสินค้าอื่นซึ่งมิใช่สินค้าตามใบตราส่งจึงเป็นกรณีที่ไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 32 มาใช้บังคับได้เมื่อความเสียหายนั้นเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เรือของโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ขนส่งโดยตรง กรณีนี้จึงต้องบังคับตามมาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ส่งของไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นได้รับความเสียหายหรือการที่เรือเสียหาย เว้นแต่จะเป็นเหตุมาจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งของหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ส่งของหรือจากสภาพแห่งของนั้นเอง โดยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งของนั้น” อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง ข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยผู้ส่งของแจ้งน้ำหนักไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 173 มัด แก่โจทก์ที่ 1 ผู้ขนส่งไม่ถูกต้องอันเป็นความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของจำเลยโดยจำเลยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 31 หรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความว่าสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปของจำเลยจำนวน 415 มัด ตามใบตราส่ง 5 ฉบับ ได้ถูกจัดบรรทุกลงในเรือเฮอริเทจ โดยระบุว่า ไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 285 มัด ปริมาตร 361.47 ลูกบาศก์เมตร น้ำหนักรวม 255,276 กิโลกรัม จำนวน 56 มัด ปริมาตร 72.16 ลูกบาศก์เมตร น้ำหนักรวม 50,963 กิโลกรัม จำนวน 24 มัด ปริมาตร 35.99 ลูกบาศก์เมตร น้ำหนักรวม 25,415 กิโลกรัม จำนวน 35 มัด ปริมาตร 52.99 ลูกบาศก์เมตร น้ำหนักรวม 37,420 กิโลกรัม และจำนวน 15 มัด ปริมาตร 14.05 ลูกบาศก์เมตร น้ำหนักรวม 9,921 กิโลกรัม ตามลำดับ และข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบโดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งว่าโจทก์ทั้งสองได้นำสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปตามใบตราส่งฉบับที่ 2 ถึงที่ 5 รวมกับไม้เนื้อแข็งแปรรูปตามใบตราส่งฉบับแรก ส่วนหนึ่งจำนวน 43 มัด รวมเป็นไม้เนื้อแข็งแปรรูปทั้งสิ้น 173 มัด จัดวางลงบนฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของระวางที่ 1 ซ้อนกันสูงประมาณ 6 ถึง 7 ชั้น ในเนื้อที่ 104 ตารางเมตร น้ำหนักเฉลี่ยของไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 173 มัด ดังกล่าว ตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งทั้ง 5 ฉบับ รวม 167,244 กิโลกรัม หรือ 167.244 เมตริกตัน ส่วนไม้เนื้อแข็งแปรรูปตามใบตราส่งฉบับแรกจำนวน 242 มัด โจทก์ทั้งสองได้แยกนำไปจัดวางไว้ในระวางที่ 2 และที่ 3 และโจทก์ทั้งสองมีนายทศพร พนักงานตรวจสอบเรือและสินค้าของบริษัทมารีนเซอร์เวย์เยอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า พยานเป็นผู้สำรวจความเสียหายรายนี้ ได้ทำการสุ่มตัวอย่างไม้เนื้อแข็งแปรรูปที่บรรทุกอยู่บนฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของระวางที่ 1 จำนวน 20 มัด จากจำนวน 173 มัด โดยสุ่มตรวจไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 9 มัด จากส่วนของไม้จำนวน 43 มัด สุ่มตรวจ จำนวน 3 มัด จากส่วนของไม้จำนวน 24 มัด สุ่มตรวจจำนวน 6 มัด จากส่วนของไม้จำนวน 56 มัด สุ่มตรวจจำนวน 1 มัด จากส่วนของไม้จำนวน 15 มัด และสุ่มตรวจจำนวน 1 มัด จากส่วนของไม้จำนวน 35 มัด พบว่า ไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 20 มัด แต่ละมัดมีน้ำหนักตั้งแต่ 1.117 เมตริกตัน ถึง 3.099 เมตริกตัน รวม 36.735 เมตริกตัน ซึ่งไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 1 มัด จะมีน้ำหนักเฉลี่ย 1.837 เมตริกตัน ส่วนน้ำหนักเฉลี่ยตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งจะเท่ากับ 0.966 เมตริกตัน ต่อ 1 มัด ดังนั้นผลต่างของน้ำหนักที่แท้จริงกับน้ำหนักที่จำเลยแจ้งไว้จะเท่ากับ 0.871 เมตริกตัน ต่อ 1 มัด น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของไม้เนื้อแข็งแปรรูปทั้ง 173 มัด จะเท่ากับ 150.683 เมตริกตัน หรือน้ำหนักไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 173 มัด ที่แท้จริงจึงควรมีน้ำหนัก 317.927 เมตริกตัน ส่วนจำเลยมิได้มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้างเป็นอย่างอื่นข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 173 มัด ที่เกิดเหตุมีน้ำหนักที่แท้จริงประมาณ 317.927 เมตริกตัน แต่จำเลยได้แจ้งแก่โจทก์ที่ 1 ให้จดแจ้งไว้ในใบตราส่งมีน้ำหนักรวมประมาณ 167.244 เมตริกตัน จึงเห็นได้ว่าจำเลยได้แจ้งน้ำหนักไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 173 มัด ไม่ถูกต้อง ปัญหาว่าการแจ้งน้ำหนักของไม่ถูกต้องนั้น เป็นความผิดหรือความประมาทของจำเลยโดยจำเลยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า แม้ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดในพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ส่งของต้องแจ้งน้ำหนักของที่ส่งแก่ผู้ขนส่งก็ตาม แต่จากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองและจำเลยปราฎกว่า จำเลยผู้ส่งสินค้าไม้แปรรูปได้แจ้งน้ำหนักของไม้แก่โจทก์ที่ 1 ผู้ขนส่งโดยคำนวณตามสูตรของคณะกรรมการพัฒนาการค้าสิงคโปร์ ด้วยการนำปริมาตรของไม้เป็นลูกบาศก์ฟุตหรือลูกบาศก์เมตรเป็นตัวตั้งหารด้วย 1.416 ผลลัพธ์ที่ได้จะได้น้ำหนักของไม้เป็นกิโลกรัม และโจทก์ที่ 1 ก็ได้บันทึกน้ำหนักของไม้ตามที่จำเลยคำนวณดังกล่าวลงในใบตราส่ง ฉบับที่ 2 ถึงที่ 6 โจทก์ทั้งสองและจำเลยนำสืบรับกันว่า การส่งไม้เนื้อแข็งจะไม่มีการชั่งน้ำหนักไม้ก่อนเพราะต้องเสียเวลามากจึงต้องใช้สูตรการคำนวณน้ำหนักของไม้ดังกล่าวและคิดระวางบรรทุกกันตามปริมาตรและขนาดของไม้นั้น แม้การคิดค่าระวางบรรทุกในการส่งสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปจะคิดค่าระวางกันตามปริมาตรและขนาดของไม้ แต่การที่มีสูตรการคำนวณน้ำหนักของไม้เนื้อแข็งแปรรูปที่ขนส่งตามสูตรของคณะกรรมการพัฒนาการค้าสิงคโปร์ แสดงให้เห็นว่าประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งไม้เนื้อแข็งแปรรูป จำเลยผู้ส่งของต้องแจ้งน้ำหนักของไม้ให้ผู้ขนส่งทราบเพื่อประโยชน์ในการจัดวางสินค้านั้นลงในระวางเรือของโจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งด้วย แม้จำเลยผู้ส่งของจะนำสืบว่าได้แจ้งน้ำหนักของไม้เนื้อแข็งแปรรูปตามสูตรการคำนวณของคณะกรรมการพัฒนาการค้าสิงคโปร์ แต่น้ำหนักของไม้ที่แจ้งนั้นไม่น่าจะคลาดเคลื่อนและขาดไปมากถึงจำนวน 150,683 กิโลกรัม ซึ่งเป็นจำนวนน้อยกว่าน้ำหนักที่แท้จริงถึงเกือบสองเท่า พฤติการณ์ดังกล่าวนับได้ว่าการแจ้งน้ำหนักไม่ถูกต้องนั้นเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยซึ่งมิได้ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอตามวิสัยของจำเลยผู้ประกอบกิจการส่งไม้เนื้อแข็งแปรรูปข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของระวางที่ 1 บนเรือเฮอริเทจของโจทก์ที่ 2 ผู้ขนส่งหักพังลงมากระแทกสินค้าอื่นจนฝาระวางและสินค้าอื่นนั้นได้รับความเสียหาย เป็นเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยโดยจำเลยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งไม้เนื้อแข็งแปรรูปนั้นอย่างไรก็ตามโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งก็มีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการให้เหมาะสมในการบรรทุกลงเรือซึ่งไม้เนื้อแข็งแปรรูปที่ตนทำการขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 10 ด้วย การที่โจทก์ทั้งสองนำไม้เนื้อแข็งแปรรูปซึ่งเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมากไปวางไว้บนฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ย่อมเสี่ยงต่อการที่ฝาระวางดังกล่าวจะหักพังลงมาเพราะรับน้ำหนักไม่ได้ในข้อนี้แม้จะปรากฏตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายอิศรานันท์ และนายอิสเรศวร์ ลูกจ้างบริษัทโจทก์ทั้งสองว่า ฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ของระวางที่ 1 ดังกล่าว ในเรือเฮอริเทจมีเนื้อที่จัดวางสินค้าไม้แปรรูปเหลือประมาณ 104 ตารางเมตร และสามารถรับน้ำหนักได้มากที่สุดจำนวน 317.408 เมตริกตัน หากสินค้าไม้แปรรูปมีน้ำหนักเพียง 167.244 เมตริกตัน ตามที่จำเลยแจ้งฝาระวางนั้นย่อมสามารถรับน้ำหนักของไม้นั้นได้อย่างแน่นอนก็ตาม แต่ก็ปรากฏจากคำเบิกความของนายวิบูลย์ เจ้าพนักงานตรวจเรือ 4 กองตรวจเรือ กรมเจ้าท่าพยานโจทก์ทั้งสองซึ่งตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เรือเฮอริเทจสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2519 ตามรายงานการซ่อมแซมเรือเฮอริเทจ ไม่ปรากฎว่ามีการซ่อมในส่วนของฝาระวางทวีนเดก แสดงให้เห็นว่าฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ในเรือเฮอริเทจลำที่ใช้บรรทุกสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปของจำเลยจากท่าเรือสิงคโปร์เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2542 นั้นได้ใช้งานในการบรรทุกสินค้าบนฝาระวางนั้นมานานถึง 23 ปี โดยไม่มีการซ่อมแซมมาก่อน ความมั่นคงแข็งแรงของฝาระวางดังกล่าวย่อมเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาที่ใช้งานมานานถึง 23 ปี ไม่น่าเชื่อว่ายังคงมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะรับน้ำหนักได้ถึง 317.408 เมตริกตัน ดังที่นายอิศรานันท์และนายอิสเรศวร์ยืนยัน และหากฝาระวางนั้นยังคงรับน้ำหนักบรรทุกได้ถึงจำนวนดังกล่างจริง น้ำหนักของไม้แปรรูปที่แท้จริงก็ปรากฏว่ามีน้ำหนักประมาณ 317 เมตริตัน ฝาระวางนั้นก็น่าจะรับน้ำหนักของไม้แปรรูปที่แท้จริงนั้นได้ ไม่น่าจะหักพังลงมาจนเกิดเหตุเป็นคดีนี้ขึ้น โจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งย่อมทราบดีถึงสภาพของฝาระวางดังกล่าวว่าใช้งานมานาน ฝาระวางนั้นย่อมเสื่อมสภาพลงไม่อาจรับน้ำหนักได้ถึงจำนวน 317 เมตริกตัน การนำไม้แปรรูปที่โจทก์ทั้งสองทราบดีว่าน้ำหนักของไม้ที่จำเลยแจ้งนั้นเป็นเพียงการประมาณน้ำหนักโดยคิดตามสูตรคำนวณของคณะกรรมการพัฒนาการค้าสิงคโปร์ ซึ่งจำเลยนำสืบว่าเป็นสูตรซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในหมู่ผู้ขนส่ง ผู้ส่งไม้ ผู้จัดส่งสินค้า และผู้รับตราส่ง ซึ่งในข้อนี้โจทก์ทั้งสองมิได้นำสืบโต้แย้งแต่อย่างใด การที่โจทก์ทั้งสองจัดวางไม้เนื้อแข็งแปรรูปนั้นไว้บนฝาระวางดังกล่าวก็เห็นได้ว่าเป็นการจัดวางเพื่อประโยชน์และความสะดวกของโจทก์ทั้งสองเองที่ง่ายต่อการขนถ่ายสินค้าไม้นั้นลงจากเรือเมื่อถึงเมืองท่าต่อไปที่ท่าเรือโคลัมโบ ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งมิได้ใช้ความระมัดระวังและปฏิบัติการให้เหมาะสมในการบรรทุกลงเรือซึ่งไม้แปรรูปที่ตนทำการขนส่งดังกล่าวตามวิสัยของโจทก์ทั้งสองผู้ขนส่ง โจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งจึงมีส่วนประมาทในการบรรทุกไม้แปรรูปนั้นลงเรือจนเป็นเหตุให้ฝาระวางที่ 1 หักพังลงมากระแทกกับสินค้าอื่นจนได้รับความเสียหายด้วย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ที่ฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของระวางที่ 1 บนเรือเฮอริเทจของโจทก์ที่ 2 ผู้ขนส่งหักพังลงมาและกระแทกกับสินค้าอื่นจนฝาระวางและสินค้าอื่นนั้นได้รับความเสียหายเป็นเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยผู้ส่งของ และเป็นเหตุมาจากโจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งซึ่งเป็นฝ่ายผู้เสียหายมีส่วนประมาทในการก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวด้วย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายเพียงใด โจทก์ทั้งสองมีนายยอดชาย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายปฏิบัติการบริษัทโจทก์ที่ 1 มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่าการที่จำเลยไม่แจ้งน้ำหนักสินค้าที่ถูกต้องให้โจทก์ทั้งสองทราบ ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายดังนี้คือ การหักพังของฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของฝาระวางที่ 1 ทำให้สินค้าของผู้รับตราส่งที่ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สูญหายและชำรุดหลายรายการ ซึ่งผู้รับตราส่งดังกล่าวได้เรียกร้องให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 30,598.84 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 17,861.68 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าระวางที่จำเลยต้องเสียเพิ่มเนื่องจากการแจ้งน้ำหนักต่ำกว่าความจริงคือเดิมแจ้งน้ำหนักของสินค้าทั้งหมดรวม 1,131.16 เมตริกตัน ซึ่งคิดเป็นค่าระวางจำนวน 33,394.80 ดอลลาร์สหรัฐ แต่น้ำหนักรวมของสินค้าทั้งหมดมีจำนวน 1,762.27 เมตริกตัน ดังนั้น จำเลยต้องเสียค่าระวางตามน้ำหนักที่แท้จริง เมตริกตันละ 30 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน 52,868.10 ดอลลาร์สหรัฐ และจำเลยต้องเสียค่าปรับอีก 1 เท่า ของค่าระวางที่แท้จริงคือจำนวน 52,868.10 ดอลลาร์สหรัฐ รวมค่าระวางที่ต้องชำระเพิ่มและค่าปรับเป็นเงิน 71,801.40 ดอลลาร์สหรัฐ เรือเฮอริเทจต้องเสียเวลาในการขนถ่ายสินค้าที่ชำรุดเสียหายจำนวน 96 ชั่งโมง รวมทั้งค่าปรับและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเนื่องจากการขนถ่ายเกินเวลาจำนวน 303,436.05 รูเปียศรีลังกา (ที่ถูกรูปีศรีลังกา) คิดเป็นเงิน 7,429.02 ดอลลาร์สหรัฐ การที่เรือเฮอริเทจต้องเสียเวลาเพิ่มขึ้น 96 ชั่วโมง โจทก์ทั้งสองขอคิดค่าเสียเวลาเรือเป็นเงินจำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าซ่อมแซมฝาระวาง บ่ารองรับคานเหล็ก และอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้องที่เมืองท่าดูไบเป็นเงิน 45,051 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าติดตั้งฝาระวางและซ่อมแซมเพิ่มเติมในประเทศไทยจำนวน 23,949.95 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน 69,000.95 ดอลลาร์สหรัฐ เรือเฮอริเทจต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในระหว่างขนถ่ายสินค้าเป็นเวลา 96 ชั่วโมง ชั่วโมงละ 0.104166 เมตริกตัน ราคาเมตริกตันละ 174 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงิน 1,740 ดอลลาร์สหรัฐ เรือเฮอริเทจมีอัตราค่าเช่าวันละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต้องใช้เวลาซ่อมแซม 20 วัน จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าขาดประโยชน์จำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน 207,833.05 ดอลลาร์สหรัฐ ที่จำเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนฝ่ายจำเลยมีเพียงนายลิม ก๊อก อัน หรือสตีเวน ลิม มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่าไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 10 มัด ที่ขาดหายไปโดยไม่ทราบเหตุ ไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากการพังทลายของฝาระวาง ทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของระวางที่ 1 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบ เห็นว่า ค่าซ่อมแซมฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของระวางที่ 1 ที่เมืองท่าดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และที่ประเทศไทยรวม 69,000.95 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยมิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น รับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้เสียค่าซ่อมแซมฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของระวางที่ 1 เป็นเงิน 69,000.95 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่จำเลยต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ทั้งสอง ส่วนกรณีที่ฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของระวางที่ 1 หักพังยุบลงทำให้สินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปที่วางอยู่บนฝาระวางดังกล่าวหล่นลงไปทับสินค้าอื่นของระวางส่วนล่าง ทำให้สินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปสูญหายจำนวน 10 มัด และสินค้าอื่นแตกหักได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินรวม 17,861.68 ดอลลาร์สหรัฐ ความเสียหายในส่วนนี้จำเลยมีนายลิม ก๊อก อัน หรือสตีเฟน ลิม มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงโต้แย้งว่าตามหนังสือเรียกร้องค่าเสียหายของผู้รับตราส่งมีรายการระบุว่าไม้เนื้อแข็งแปรรูปขาดหายไปจำนวนฉบับละ 10 มัดนั้น ไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากการหักพังของฝาระวางดังกล่าวนั้น เห็นว่า การที่จำเลยผู้ส่งแจ้งน้ำหนักไม้แปรรูปไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ฝาระวางที่ 1 หักพังยุบลงไปดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น แต่หาได้เป็นเหตุให้สินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปสูญหายไปไม่คงเป็นเหตุให้ฝาระวางดังกล่าวหล่นลงไปทับสินค้าอื่นแตกหักได้รับความเสียหายยเท่านั้นจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดสำหรับความเสียหายเพราะการสูญหายของสินค้านั้น ปรากฏว่าสินค้าไม้แปรรูปสูญหายไปเป็นเงิน 11,394.64 ดอลลาร์สิงคโปร์ และ 6,627.78 ดอลลาร์สิงคโปร์ รวมเป็นเงิน 18,022.42 ดอลลาร์สิงคโปร์ ปรากฎตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายยอดชาย พยานโจทก์ว่า ค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 30,598.84 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 17,861.68 ดอลลาร์สหรัฐ ความเสียหายในส่วนนี้จึงมีจำนวนเพียง 12,576.42 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 7,341.32 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ส่วนที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าจากการที่มีสินค้าหักชำรุดเสียหายทำให้เรือเฮอริเทจต้องเสียเวลามากขึ้นถึง 96 ชั่งโมง ในการขนถ่ายเศษซากสินค้าที่หักชำรุดเสียหายขึ้นจากเรือต้องเสียค่าปรับและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเนื่องจากขนถ่ายสินค้าเกินเวลาเป็นเงิน 7,429.02 ดอลลาร์สหรัฐ และขณะขนถ่ายสินค่าเกินเวลาดังกล่าว เรือเฮอริเทจต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงระหว่างขนถ่ายสินค้าชั่วโมงละ 0.104166 เมตริกตัน ราคาเมตริกตันละ 174 ดอลลาร์สหรัฐ จำนวน 96 ชั่วโมง รวมเป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งสิ้นจำนวน 1,740 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยมิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการหักพังของฝาระวาง ส่วนค่าเสียหายที่เรือเฮอริเทจต้องเสียเวลาจอดที่ท่าเรือโคลัมโบมากขึ้นจำนวน 96 ชั่งโมง และโจทก์ทั้งสองขอคิดค่าเสียหายชั่วโมงละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ กับค่าขาดประโยชน์ของเรือเฮอริเทจในระหว่างนำเข้าซ่อมแซมฝาระวางที่ชำรุดเสียหายเป็นเวลา 20 วัน เป็นเงินวันละ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเพียงระวางเดียวเป็นเงิน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ นั้นแม้จำเลยจะไม่มีพยานมาสืบหักล้าง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายอิศรานันท์ นายเรือเรือเฮอริเทจในขณะเกิดเหตุว่า พยานได้ปฏิบัติงานบนเรือเฮอริเทจซึ่งรับขนสินค้าจำนวน 2 เที่ยวเดินทางเที่ยวแรกเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2542 บรรทุกข้าวสารและน้ำตาลจำนวนประมาณ 700 ตัน เต็มระวางที่ 1 โดยขนถ่ายสินค้าขึ้นที่ท่าเรือปลายทางเมื่อประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2542 หลังจากการขนถ่ายสินค้าขึ้นที่ท่าเรือปลายทางแล้วลูกเรือได้ทำความสะอาดและตรวจเช็คระวางเรือ ต่อจากนั้นเมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2542 ได้ตรวจสภาพเรืออย่างละเอียดในอู่แห้ง และเมื่อประมาณต้นเดือนกันยายน 2542 ขณะนำเรือเดินทางกลับประเทศไทยพยานได้รับคำสั่งจากโจทก์ทั้งสองให้นำเรือเฮอริเทจไปบรรทุกสินค้าที่ท่าเรือหลายประเทศอันเป็นเที่ยวที่เกิดเหตุคดีนี้ จะเห็นได้ว่าเรือสินค้าเมื่อบรรทุกสินค้าในแต่ละเที่ยว จะต้องมีการทำความสะอาดและตรวจเช็คระวางเรือเป็นเวลาหลายวัน เพื่อให้เรือสินค้ามีความสมบูรณ์และเหมาะสมในการบรรทุกสินค้าในเที่ยวต่อ ๆ ไป มิได้รับบรรทุกสินค้าติดต่อกันทุกวันการเสียเวลาขนถ่ายสินค้านานเกินกว่าปกติ ศาลก็กำหนดค่าเสียหายในส่วนอื่นให้อยู่แล้ว หรือการต้องเข้าซ่อมฝาระวางเรือเป็นเวลา 20 วัน หลังจากขนถ่ายสินค่าขึ้นจากเรือแล้วถือเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสภาพเรือตามปกติที่ต้องทำอยู่แล้วถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองมิได้รับความเสียหายจากการขาดประโยชน์ที่นำเรือเข้าซ่อมแซมฝาระวางจำนวน 20 วัน ทั้งไม่อาจเรียกค่าสียเวลาเรือจำนวน 96 ชั่งโมง ที่จอดอยู่ที่ท่าเรือโคลัมโบได้ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองขอเรียกค่าระวางเพิ่มจากการแจ้งน้ำหนักสินค้าต่ำกว่าความจริงและค่าปรับอีก 1 เท่า เป็นเงิน 71,801.40 ดอลลาร์สหรัฐ โดยนำสืบว่าน้ำหนักสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปทั้งหมดมีจำนวน 1,131.16 เมตริกตัน คิดค่าระวางจากจำเลยเป็นเงิน 33,394.80 ดอลลาร์สหรัฐแต่จากการตรวจสอบพบว่าสินค้าดังกล่าวมีน้ำหนักที่แท้จริงรวม 1,762.27 เมตริกตัน จำเลยต้องชำระค่าระวางตามน้ำหนักที่แท้จริงเป็นเงิน 52,868.10 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น จำเลยจึงต้องชำระค่าระวางเพิ่มและค่าปรับเป็นเงินรวม 71,801.40 ดอลลาร์สหรัฐ นั้นเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ที่ 1 ให้ขนส่งไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวนหนึ่งและมีสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปส่วนหนึ่ง ซึ่งจำเลยแจ้งว่าเป็นไม้เนื้อแข็งแปรรูป 5 รายการจำนวน 173 มัด น้ำหนักรวมประมาณ 167.244 เมตริกตันแต่ปรากฎว่าไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 173 มัด มีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักที่จำเลยได้แจ้งไว้ต่อโจทก์ โดยมิได้บรรยายถึงจำนวนไม้เนื้อแข็งแปรรูปทั้งหมดว่ามีจำนวนเท่าใด มีน้ำหนักที่แท้จริงเท่าใด กับมิได้บรรยายถึงน้ำหนักทั้งหมดของไม้ดังกล่าวที่จำเลยแจ้งต่อโจทก์ที่ 1 ไว้ การที่โจทก์ทั้งสองนำสืบถึงจำนวนน้ำหนักของไม้เนื้อแข็งแปรรูปทั้งหมดที่จำเลยได้แจ้งไว้ และน้ำหนักที่แท้จริงที่มากขึ้นทั้งหมดจึงเป็นการนำสืบเกินกว่าที่บรรยายในคำฟ้อง เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นว่าไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 173 มัด โจทก์ทั้งสองคิดค่าระวางเป็นเงินเท่าใดและจำเลยจะต้องเสียเพิ่มเป็นเงินเท่าใด จึงเป็นการนำสืบไม่สมกับคำฟ้อง นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความว่า ตามประเพณีการค้าการคิดระวางไม้เนื้อแข็งแปรรูปนั้นคำนวณตามปริมาตรไม่ใช่น้ำหนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยแจ้งปริมาตรของไม้เนื้อแข็งแปรรูปจำนวน 173 มัด ไม่ตรงกับความจริง โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจเรียกให้จำเลยชำระค่าระวางเพิ่มและเบี้ยปรับได้ ส่วนที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า การคิดค่าระวางไม้เนื้อแข็งแปรรูปนั้น คิดคำนวณจากปริมาตรหรือน้ำหนักของไม้แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะได้ค่าระวางมากกว่ากันนั้น โจทก์ทั้งสองคงมีแต่พยานบุคคลเบิกความลอย ๆ ไม่มีระบุไว้ในข้อตกลง จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อย ทั้งโจทก์ทั้งสองก็มิได้นำสืบให้เห็นว่าไม้เนื้อแข็งแปรรูปทั้ง 173 มัด คิดค่าระวางตามปริมาตรเป็นเงินจำนวนเท่าใด และหากคิดตามน้ำหนักที่แท้จริงแล้วเป็นค่าระวางมากกว่าจริงหรือไม่ ศาลจึงไม่อาจให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ สรุปความเสียหายที่โจทก์ทั้งสองได้รับจึงมีค่าซ่อมแซมฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของระวางที่ 1 จำนวน 69,000.95 ดอลลาร์สหรัฐ ความเสียหายของสินค้าอื่นจำนวน 7,341.32 ดอลลาร์สหรัฐ ความเสียหายเนื่องจากการขนถ่ายสินค้าเกินเวลาจำนวน 7,429.02 ดอลลาร์สหรัฐ และความเสียหายที่เรือเฮอริเทจต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงระหว่างการขนถ่ายสินค้าเกินเวลาจำนวน 1,740 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 85,511.29 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อได้วินิจฉัยข้างต้นแล้วว่าที่ฝาระวางทวีนเดก แฮช คัฟเวอร์ ของระวางที่ 1 บนเรือเฮอริเทจของโจทก์ที่ 2 ผู้ขนส่งหักพังลงมาและกระแทกกับสินค้าอื่นจนฝาระวางและสินค้าอื่นนั้นได้รับความเสียหายเป็นเหตุมาจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยผู้ส่งของและเป็นเหตุมาจากโจทก์ทั้งสองผู้ขนส่งซึ่งเป็นฝ่ายผู้เสียหายมีส่วนประมาทในการก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยรับผิดชดใช้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 42,755.64 ดอลลาร์สหรัฐ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 42,755.64 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง หากจำเลยจะชำระเป็นเงินไทย ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาใช้เงิน